รู้หรือไม่? ยุคหนึ่ง “บางรัก” คืออาณาจักรฟาร์มปศุสัตว์พ่อค้าอินเดีย

ย่าน บางรัก กรุงเทพ
ภาพถ่ายย่านบางรัก ในสมัยก่อน

“บางรัก” เป็นอีกย่านในกรุงเทพมหานคร ที่มีความเป็นมายาวนานนับศตวรรษ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ชาวต่างชาติเข้ามาในสยามมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ “ชาวอินเดีย” ที่เข้ามาตั้งรกรากและทำมาหากินในพื้นที่บางรัก “พ่อค้าอินเดีย” ทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่และโรงเชือด จนทำให้ชาวตะวันตกที่อยู่ย่านนั้นมาก่อนทนเสียงร้องและกลิ่นไม่ไหว จนต้องร้องเรียนในที่สุด

ชาวอินเดียทยอยเข้ามาลงหลักปักฐานในสยามตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับอนุญาตให้ตั้งชุมชนทำการค้าฝั่งธนบุรี เช่น ย่านคลองสาน คลองบางหลวง กระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 25 หรือเทียบแล้วอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ่อค้าอินเดียชาวชีอะฮ์จำนวนมากก็เริ่มขยับข้ามฝั่งมาทำธุรกิจในชุมชนราชวงศ์ย่านสำเพ็ง ส่วนพ่อค้าอินเดียชาวซุนนีก็โยกย้ายไปทำการค้าย่านบางรัก ไม่ไกลจากสำเพ็งเท่าไหร่นัก

พ่อค้าอินเดีย ที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ “บางรัก” คือ ไวติ ปาดายัตจิ พ่อค้านำเข้า-ส่งออก ชาวฮินดู และ โมฮาเม็ด ทามบี สายบู มาไรกายาร์ มุสลิมซุนนีพ่อค้าปศุสัตว์ ทั้งคู่เป็นชาวทมิฬที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ ได้ร่วมกันทำฟาร์มปศุสัตว์ในบางกอก ช่วงต้นทศวรรษ (พ.ศ.) 2400 แล้วส่งออกซากไปยังสิงคโปร์

เมื่อกิจการไปได้สวย พวกเขาจึงต่อรองกับเจ้าหน้าที่ชาวสยาม เพื่อนำคนงานชาวทมิฬเข้ามาเป็นแรงงานเลี้ยงและต้อนสัตว์ แล่เศษเนื้อ ถลกหนัง ชำแหละ ในฟาร์มปศุสัตว์อาณาเขตกว้างใหญ่ริมคลองบางรัก ที่ทอดยาวจากวัดม่วงแคไปจนถึงสถานทูตฝรั่งเศส

ขึ้นชื่อว่าทำฟาร์มก็ย่อมมีเสียงร้องของสัตว์เป็นธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาก็เพราะดังจนไปรบกวนสถานทูตต่างๆ และบริษัทตะวันตกที่เปิดทำการแถวนั้น จนต้องร้องเรียนต่อรัฐบาลสยามให้เข้ามาจัดการ

ช่วงก่อน พ.ศ. 2423 ย่านที่พักคนงานมุสลิมในฟาร์มก็ถูกย้ายออกไปจากริมน้ำ เพื่อเปิดพื้นที่เป็นท่าเทียบเรือ มีการสร้าง “ศุลกสถาน” เปิดทำการใน พ.ศ. 2427

เมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำปศุสัตว์และโรงเชือดอีกต่อไป ปาดายัตจิและมาไรกายาร์จึงย้ายกิจการไปยังพื้นที่ริมน้ำแห่งใหม่ ใกล้ชุมชนมุสลิมที่บ้านอู่ ห่างออกไปทางใต้ลำน้ำราว 500 เมตร พอถึง พ.ศ. 2452 ก็มีการย้ายโรงเชือดอีกครั้ง คราวนี้ไปแถบบางคอแหลม ย่านถนนตก ต่อมาที่นี่ก็ได้รับการปรับปรุงให้เป็นโรงฆ่าสัตว์ของรัฐ

แม้คนเลี้ยงสัตว์ชาวมุสลิมที่บางรักจำนวนหนึ่งจะย้ายตามไปด้วย แต่หมู่บ้านชาวทมิฬริมน้ำ กุโบร์ของชุมชน และมัสยิดฮารูณยังคงอยู่ กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญทางประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวอินเดียในบางกอกมาถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

แวน รอย, เอ็ดวาร์ด. ยุกติ มุกดาวิจิตร (แปล). ก่อร่างเป็นบางกอก Siamese Melting Pot. กรุงเทพฯ : มติชน, 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567