“วัดพนัญเชิงวรวิหาร” แต่เดิมคือ “วัดพแนงเชิง” ชื่อนี้มีที่มาจากอะไร?

วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดพนัญเชิง เดิมคือ วัดพแนงเชิง
หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงวรวิหาร (ภาพ : ธัชชัย ยอดพิชัย)

“วัดพนัญเชิงวรวิหาร” หรือเรียกติดปากกันว่า “วัดพนัญเชิง” เป็นวัดหลวงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ให้คนสักการะบูชา หนึ่งในนั้นคือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต, หลวงพ่อซำปอกง

แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนจะได้ชื่อว่า “วัดพนัญเชิงวรวิหาร” อย่างที่ได้ยินในปัจจุบัน อารามหลวงแห่งนี้เคยมีชื่อว่า “วัดพแนงเชิง” มาก่อน 

มีที่มาจากอะไร?

ในหนังสือ “ประวัติวัดพนัญเชิงวรวิหาร” (พ.ศ. 2516) ของกรมศิลปากร ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า 

“การเรียกชื่อวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีปรากฏแตกต่างกันออกไปหลายชื่อ คือ ‘วัดพระพแนงเชิง’ บ้าง ‘วัดพระเจ้าพแนงเชิง’ บ้าง ‘วัดพระนางเชิง’ บ้าง แต่โดยมากเรียกย่อว่า ‘วัดพแนงเชิง’

คำว่า ‘พแนงเชิง’ เป็นคำไทยโบราณที่เลิกใช้มานานแล้ว มีความหมายว่า ‘นั่งขัดสมาธิ’ ปัจจุบันยังมีชาวพื้นเมืองภาคใต้ใช้อยู่บ้าง แต่เพี้ยนไปว่า ‘แพงเชิง’ มีความหมายว่า ขัดสมาธิ เช่นเดียวกัน

มีใช้อยู่ในวรรณคดีพุทธศาสนา คือ มหาชาติคำหลวงกัณฑ์ทศพร กล่าวว่า ‘ปญฺญตฺต บวร พุทฺธา สเนนิสีทิ แปลว่า ธ จึ่งเสด็จพแนงเชิงดำเกิงเหนือรัตนาศน์อันธลาดเลงงาม กว่าอื่นแล’

ฉะนั้น ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำแล้ว คำว่า ‘วัดพนัญเชิง’ ที่แท้จริงคือ วัดพระพแนงเชิง หรือวัดพระเจ้าพแนงเชิง หรือวัดพแนงเชิง ก็ย่อมหมายความถึงว่าวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือ หลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายกนั่นเอง”

นอกจากข้อสันนิษฐานดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหนึ่งตำนานที่หลายคนเชื่อว่าสามารถอธิบายถึงที่มาของวัดแห่งนี้ไว้ได้ด้วยเช่นกัน คือ

“นามวัดนี้สืบเนื่องมาจากตำนานเมื่อนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตาย คงจะนั่งขัดสมาธิ เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิถนัดกว่าการนั่งพับเพียบ คนจึงเห็นเป็นของแปลก จำติดตา จึงนำมาใช้เรียกชื่อนามวัด ชาวบ้านทั่วไปบางคนเรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง ตามสาเหตุที่ทำให้นางถึงแก่ชีวิต”

แม้ไม่ทราบว่าท้ายที่สุดต้นตอของชื่อวัดดังกล่าวมาจากอะไรกันแน่ ทว่าวันเวลาทำให้ชาวบ้านเรียกเพี้ยนเสียงไปเรื่อย ๆ บางคนถึงขั้นเรียกว่า “ผนังเชิง” จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 4  ได้โปรดให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับชื่อวัดพนัญเชิง ซึ่งปรากฏอยู่ใน ราชกิจจานุเบกษา ปีจอ จุลศักราช 1236 หน้า 196 ไว้ว่า

“วัดพนัญเชิง อีกคำหนึ่งว่า วัดพระเจ้าพนัญเชิง ให้คงเรียกอยู่อย่างเดิม อย่าอุตริเล่นลิ้นเรียกว่า ผนังเชิง เพราะเขาเรียกอย่างนั้นทั้งบ้านทั้งเมืองมาแต่ไหน ๆ มาแปลงว่าผนังเชิง ก็ไม่เพราะเจาะเป็นยศเป็นเกียรติอะไร สำแดงแต่โง่ของผู้แปลง ไม่รู้ภาษาเดิมว่าเขาตั้งว่า พนัญเชิง ด้วยเหตุไร

ประการหนึ่งวัดนั้นเป็นวัดราษฎรไทยจีนเป็นอันมากเขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็ผู้เป็นเจ้าของเดิมตั้งชื่อนั้นไว้ จะเป็นผีสางเทวดาสิงสู่อยู่อย่างไรก็ไม่รู้มาแปลงขึ้นใหม่ ๆ ดูเหมือนผู้แปลงก็ไม่สู้จะสบาย ไม่พอที่จะย้ายก็อย่ายกไปเลย ให้คงไว้ตามเดิมเถิด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567