ประวัติศาสตร์ว่าด้วย “สมเด็จพระนเรศวรฯ” จุดร่วมผลประโยชน์ “กองกำลังไทใหญ่” และรัฐบาลไทย

สมเด็จพระนเรศวรฯ
ภาพประกอบเนื้อหา - พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เกาะคา จ.ลำปาง กับฉากหลัง (ขวา) ภาพจิตรกรรมสมเด็จพระนเรศวรตามจับพญาจีนจันตุ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา จาก ศิลปวัฒนธรรม, 2559 (ซ้าย) “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

ช่วงปี 2548 ที่ฐานเนินกองคาของทหาร “ไทใหญ่” มีศาล “สมเด็จพระนเรศวรฯ” และการสักการะบูชา ที่คอของทหารไทใหญ่มีเหรียญทองแดงรมดำรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ ร้อยเชือกห้อยเป็นของขลังติดตัว 

สถานการณ์เมื่อปี 2548 มีการต่อสู้ครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน ระหว่างกองกำลังว้าแดง (UWSA-United Wa State Army) หน่วย 171 ของเหว่ยเซียะกัง ที่มีเป้าหมายขึ้นยึดพื้นที่ “ดอยไตแลง” ของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (SSA-Shan State Army) ภายใต้การนำของพันเอกเจ้ายอดศึก

ทำไมต้องเป็น “สมเด็จพระนเรศวรฯ” กษัตริย์ไทยที่เสด็จสวรรคตไปกว่า 400 ปี!

พันเอกเจ้ายอดศึก ผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ขณะนั้น ตอบคำถามสั้นๆ ถึงที่มาทางประวัติศาสตร์อันทำให้ทหารไทใหญ่นับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างที่สุดว่า

“พระนเรศวรฯ กับเจ้าคำก่ายน้อยเจ้าฟ้าของไทใหญ่ [วีรบุรุษคนหนึ่งของชาวไทใหญ่] ท่านเป็นเพื่อนกัน มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือต้องการรบพม่า ต้องการขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินไทยและแผ่นดินไทใหญ่ คนไทใหญ่ถือว่าถ้าพระนเรศวรฯ ยังอยู่ ไทใหญ่จะไม่ลำบากอย่างนี้ เพราะท่านมีนโยบายปราบพม่าให้หมดสิ้น คนไทใหญ่ทุกคนรู้เรื่องนี้ ผมศึกษาประวัติศาสตร์ ได้รู้ และเชื่อถือมาก ทหารไทใหญ่ทุกคนเชื่อเพราะรู้ประวัติศาสตร์ ผมอธิบายให้ฟังทุกคน”

ช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงทำสงครามประกาศอิสรภาพจากการยึดครองของพม่า ครั้งนั้นทหารไทใหญ่ได้เป็นกำลังพลสำคัญ เป็นเพื่อนตายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่มากับทหารไทย ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติไทย กอบกู้เรียกคืนแผ่นดินจากการยึดครองของพม่า

พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม บันทึกว่า

“ขณะนั้นพระยากำแพงเพชรส่งข่าวไปถวายว่า ไทใหญ่เวียงเสือ เสือต้าน เกียกกาย ขุนปลัด มังทราง มังนิ่ววายลองกับนายม้าทั้งปวงอันอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร พาครัวอพยพหนี พม่ามอญตามไปทัน ได้รบพุ่งกันตำบลหนองปลิงเป็นสามารถ พม่ามอญแตกแก่ไทใหญ่ทั้งปวงๆ ยกไปทางเมืองพระพิษณุโลก 

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทราบดังนั้น ก็ให้ม้าเร็วไปบอกแก่หลวงโกษา และลูกขุนอันอยู่รักษาเมืองพระพิษณุโลกว่าซึ่งไทใหญ่หนีมานั้นเกลือกจะไปเมืองอื่นให้แต่งออก (อายัด) ด่านเพชรบูรณ์ เมืองนครไทย ชาตระการ แสเซาให้มั่นคงไว้ อย่าให้ไทใหญ่ออกไปรอด หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงทราบดังนั้น ก็แต่งออกไปกำชับด่านทางทั้งปวงตามรับสั่ง ฝ่ายไทใหญ่ก็พาครอบครัวตรงเข้ามาเมืองพระพิษณุโลก หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงก็รับพิทักษ์รักษาไว้ นันทสุกับราชสังครามมีหนังสือมาให้ส่งไทใหญ่ หลวงโกษา และลูกขุนผู้อยู่รักษาเมืองพระพิษณุโลกก็มิได้ส่ง”

ทหารและประชาชนไทใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในอารักขาของทางไทยนั้น ทางพม่าได้ขอให้ส่งกลับ สมเด็จพระนเรศวรฯ รับสั่งให้มีหนังสือปฏิเสธว่า เมื่อมีผู้มาพึ่งพระราชสมภาร หวังจะให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ การจะให้ส่งไทใหญ่ไปนั้น ไม่ควรด้วยคลองขัตติยราชประเพณีธรรม ทำให้ทหาร SSA เลื่อมใสศรัทธาสมเด็จพระนเรศวรฯ ในฐานะประดุจศูนย์รวมแห่งความเชื่อ

เมื่อ พ.ศ. 2501 “หนุ่มศึกหาญ” กองกำลังกู้ชาติไทใหญ่กลุ่มแรก ภายใต้การนำของ “เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ” ก่อตั้งขึ้นที่รัฐฉาน ติดต่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือทางการทหารและความจำเป็นด้านอื่นๆ จากรัฐไทย แลกกับข่าวจากประเทศพม่า และเป็นแนวกันชนให้รัฐไทยในการป้องกันภัยคุกคามจากประเทศพม่า 

จอมพล สฤษดิ์ ก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เพราะไทยกำลังเผชิญกับปัญหาภัยคอมมิวนิสต์รอบด้าน ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่าในเวลานั้นก็ยังไม่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

จอมพล สฤษดิ์ ยังเลือกวีรบุรุษที่จะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทใหญ่-ไทย และคำตอบก็มาจบที่ “สมเด็จพระนเรศวรฯ” ซึ่งเคยมีประวัติการรบชนะพม่า และเคยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวไทใหญ่มาก่อน จอมพล สฤษดิ์ กับเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะยังร่วมกันสร้าง “เหรียญบูชารูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ขึ้นมา 1,000 เหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ หันข้างซ้าย เห็นเฉพาะพระพักตร์ด้านข้าง และมีพระนามสมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นตัวอักษรไทใหญ่อยู่ทั้งด้านหน้า-หลัง ปัจจุบันเหรียญรุ่นนี้ ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์หายาก

นักรบ ไทใหญ่ ห้อย เหรียญ สมเด็จพระนเรศวรฯ
นักรบ ไทใหญ่ มีเหรียญทองแดงรมดำภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชห้อยคอกันทุกคน เหรียญรุ่นใหม่นี้สร้างจำลองจากเหรียญสมเด็จพระนเรศวรฯ รุ่นแรกที่ทำขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครั้งที่ความสัมพันธ์ไทย-ไทใหญ่ยังแน่นแฟ้น และกองทัพไทใหญ่ยังถูกใช้เป็นรัฐกันชน และทำหน้าที่ช่วยทางการไทยปราบคอมมิวนิสต์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม พพฤศจิกายน 2548 โดย นวลแก้ว บูรพวัฒน์)

ทหารไทใหญ่ภายใต้การนำของพันเอกเจ้ายอดศึก ต่างก็มีเครื่องรางสำคัญคือ “เหรียญสมเด็จพระนเรศวรฯ” คล้องเชือกป่านห้อยคอไว้คุ้มครองให้ความมั่นใจ ยามออกหน้าศึกสู้รบกับพม่า เช่นเดียวกับทหารไทใหญ่ตั้งแต่รุ่น “ขบวนการหนุ่มศึกหาญ” ในนครั้งนั้น

พ.ศ. 2539 เป็นช่วงเริ่มก่อตั้งกองทัพ SSA ของเจ้ายอดศึก ขณะนั้นความตึงเครียดของปัญหาชายแดนไทย-พม่ายังปะทุขึ้นเป็นระยะ ความเชื่อเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ ก็ได้ถูกนำมา “ตอกย้ำ” ถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ระหว่างไทยสยามกับไทใหญ่อีกครั้ง โดยทางการไทยได้จัดสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ร่วมกับศาลเจ้าเมืองของบ้านหลักแต่งในหมู่บ้านเปียงหลวง อันเป็นหมู่บ้านประชาชนไทใหญ่ และครอบครัวของอดีตทหารไทใหญ่ในกองทัพ SURA ของนายพลโมเฮง

แต่ “พายุทางการเมือง” ย่อมเปลี่ยนไปตามนโยบายและผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ เมื่อนักธุรกิจการเมืองไทยในยุคต่อๆ มา มีผลประโยชน์มหาศาลในกิจการที่ไปลงทุนในพม่า อุดมการณ์ที่มีร่วมกันระหว่างไทยสยามและไทใหญ่ ในเรื่องสมเด็จพระนเรศวรฯ จึงกลายเป็น “ปัญหา”

กลางปี 2547 ทางกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ SSA มีความตั้งใจที่จะสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ทหารและประชาชนไทใหญ่บนยอดดอยไตแลง ฝั่งรัฐฉาน ประเทศพม่า แต่ทางฝ่ายไทยสั่งระงับการก่อสร้างดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว “สมเด็จพระนเรศวรฯ กับคนไทใหญ่” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2567