“ศาลคดีเด็กและเยาวชน” แห่งแรกของโลกและของไทยเกิดขึ้นเมื่อไร

ศาล ศาลเด็ก เยาวชน เด็กทำผิด
(ภาพโดย 3D Animation Production Company จาก Pixabay)

“เด็กทำผิด” คือคำพูดและเหตุการณ์ที่เกิดบ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน บางครั้งก็เป็นการกระทำที่รุนแรง หรือเกิดความเสียหายในวงกว้าง ที่ทำให้หลายคนตกตะลึงว่านี่คือฝีมือของเด็กหรือเยาวชน (ตามเกณฑ์อายุทางกฎหมาย) และไม่กล้าคิดว่าถ้าเขาเป็นผู้ใหญ่จะเป็นอย่างไร ซึ่งปลายทางของเรื่องนี้คือ ศาลคดีเด็กและเยาวชน”

ศาลคดีเด็กและเยาวชน โดยทั่วไปต่างมีจุดมุ่งหมายในการจัดตั้งคล้ายๆ กัน เช่น เด็กและเยาวชนไม่ได้มีร่างกายและจิตใจเหมือนผู้ใหญ่ ทำให้ถูกชักจูงให้ทำผิดได้ง่าย เด็กจำนวนไม่น้อยไม่เคยได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือครอบครัวจากเหตุต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อกายและจิตใจตลอดมา ฯลฯ ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อเด็กทำผิด ถ้าไม่จัดการเยียวยาให้ถูกต้อง ก็อาจมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้นเป็นอาชญากรได้ง่าย

ประเทศต่างๆ จึงพยายามวิเคราะห์หาทางแก้ และเห็นพ้องกันว่า วิธีการของศาลคดีเด็กและเยาวชน เป็นแนวทางที่ดี กำหนดวิธีการพิจารณาคดี รวมทั้งจัดการฝึกอบรมและสงเคราะห์ให้เด็กและเยาวชนกลับตัวเป็นพลเมืองดี มากกว่าได้รับการลงโทษแบบผู้ใหญ่

ศาลคดีเด็กและเยาวชนแห่งแรกของโลก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ที่ เขตคุ๊กส์ (Cook country) มหานครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา กฎหมายเรื่องนี้ผ่านสภาของรัฐอิลลินอยส์ เมื่อ “เด็กทำผิด” เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเด็กแล้วจะต้องแจ้งให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กทราบ สถานที่ควบคุมเด็กที่ถูกจับกุมจะต้องไม่ใช่เรือนจำ แต่เป็นสถานที่พิเศษต่างหาก และแยกควบคุมตัวเด็กไม่ให้ปะปนกับผู้ใหญ่ โดยแยกการควบคุมเด็กชายและหญิง

ส่วนการพิจารณาคดีเด็กทำผิด ไม่ได้ใช้ระบบกล่าวหาแบบเดียวกับที่ใช้กับผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ แต่จะเป็นการพิจารณาคดีแบบลับและไม่เป็นทางการ ผู้พิพากษาไม่สวมเครื่องแบบทางการ (วิกและครุย) เช่นปกติทั่วไป การสนทนาระหว่างผู้พิพากษากับเด็กหรือผู้ปกครองไม่ใช่ในศาลหรือห้องพิจารณา แต่อาจเปลี่ยนเป็นห้องพักผู้พิพากษาแทน

หากพบว่า เด็กทำผิดจริงตามฟ้อง ศาลก็จะใช้มาตรการสำหรับเด็กและเยาวชน เช่น ควบคุมความประพฤติ, ส่งตัวไปโรงเรียนฝึกและอบรม ซึ่งศาลเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบเด็ก ก่อนจะมีการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนในมลรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา

แล้ว “ศาลคดีเด็กและเยาวชน” ในไทย เริ่มเมื่อไร

ปี 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ความสนใจในการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น ได้ส่ง หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ ไปดูงานเกี่ยวกับศาลลักษณะดังกล่าวในต่างประเทศ ตลอดจนดูเรื่องศาลคดีเด็กและเยาวชน

เมื่อกลับมาแล้วได้เสนอรายงานการดูงานต่อกระทรวงยุติธรรม และมีบันทึกของประธานศาลฎีกา รายงานทำความเห็นเรื่องศาลคดีเด็กและเยาวชนในประเทศต่างๆ ตลอดจนสถานการณ์ในประเทศไทย ฯลฯ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย

แต่เรื่องดังกล่าวก็ถูกระงับไว้ เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน

ปี 2493 มีการรื้อฟื้นดำริเรื่องการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนอีกครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายเลียง ไชยกาล ต่อเนื่องมานายเขมชาติ บุณยรัตพันธ์) ส่งผู้พิพากษาไปดูงานศาลคดีเด็กและเยาวชนอีกรุ่นหนึ่ง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาการอบรมสงเคราะห์และการตั้งศาลเด็ก” ขึ้น

คณะกรรมการดังกล่าว ได้วางแนวการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน ให้เป็นศาลอาญาปนแพ่ง ในชั้นแรกนี้จะเริ่มทำเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเด็กทำผิดในทางอาญา และเรื่องทางแพ่งเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองก่อนเท่านั้น ส่วนเรื่องเด็กนอกจากนั้น มีกฎหมายบังคับอยู่หลายฉบับแล้ว เรื่องอื่นนอกเหนือจากนี้ควรให้ดำเนินการภายหลัง

รัฐบาลจึงตรากฎหมายขึ้นโดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน ได้แก่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 และพระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนขึ้นในกรุงเทพฯ, สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก เพื่อเป็นเครื่องมือของศาลคดีเด็กและเยาวชนในการปฏิบัติต่อเด็กทุกระยะ

ในที่สุด ศาลคดีเด็กและเยาวชนของไทย (และสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก) แห่งแรก ก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม ปี 2495  

ต่อมาในปี 2505 กระทรวงยุติธรรมขยายกิจการศาลคดีและเยาวชนไปส่วนภูมิภาค 4 จังหวัด ได้แก่จังหวัดสงขลา, จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนจะขยายสู่จังหวัดอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ภัสสร เรืองฤทธิ์. ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553, วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตกลุ่มวิชากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม พ.ศ. 2562.

ผศ. ประเทือง ธนิยผล. กฎหมายเกี่ยวกับการทำผิดของเด็กและเยาวชน และวิธีพิจารณาคดีเยาวชน และครอบครัว. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2567