หอพระบรมอัฐิ ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรมศิลปากร, ๒๕๒๙.)

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ภายใต้ยอดพระมหาปราสาททั้ง ๓ ยอดทรงจัดให้ประดิษฐานสิ่งที่ควรค่าแก่การถวายการสักการะ คือยอดพระมหาปราสาทองค์ตะวันออกประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร ยอดพระมหาปราสาทองค์กลางประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี และยอดพระมหาปราสาทองค์ตะวันตกประดิษฐานพระอัฐิพระประยูรญาติที่ทรงศักดิ์สูงที่ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงกับพระราชพิธีในส่วนอื่นแล้วจึงอัญเชิญพระบรมอัฐิเข้าประดิษฐานภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระบรมอัฐิกับพระอังคารจะอัญเชิญคนละกระบวน โดยพระอังคารจะถูกอัญเชิญไปลอยยังวัดปทุมคงคา หรือวัดยานนาวา ตามแต่จะมีหมายกำหนดการไว้

ส่วนพระบรมอัฐิจะอัญเชิญเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เช่น งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีการอัญเชิญพระอังคารไปลอยยังวัดปทุมคงคาก่อน ส่วนพระบรมอัฐิสมโภชไว้ที่พระเมรุมาศ ๓ วัน ก่อนเข้ากระบวนขึ้นพระราเชนทรยาน ออกทางพระเมรุด้านทิศตะวันออกเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง แล้วนำขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลอีก ๔ วันจึงนำไปประดิษฐานภายในหอพระธาตุมณเฑียร

ริ้วกระบวนพระราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยพระที่นั่งราเชนทรยานขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ภาพจาก จดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี. กรมศิลปากร, ๒๕๔๑.)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ยกเลิกธรรมเนียมการลอยพระอังคารเปลี่ยนเป็นการบรรจุแทน ทำให้พระบรมอัฐิและพระอังคารเข้ากระบวนพร้อมกัน เริ่มในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มจากอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นพระราเชนทรยาน ส่วนผอบพระอังคารขึ้นพระราเชนทรยานน้อย เคลื่อนกระบวนมาตามถนนราชดำเนินใน เลี้ยวถนนหน้าพระลานเข้าประตูวิเศษไชยศรี กระบวนเดินมาถึงสี่แยกไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงเชิญพระอังคารแยกเข้าไปไว้ในพุทธปรางค์ปราสาท (ปราสาทพระเทพบิดร) ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ส่วนพระบรมอัฐิเข้าทางประตูวิมานไชยศรีตรงไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทประทับพระราเชนทรยานกับเกยของพระที่นั่ง แล้วเชิญพระบรมอัฐิทรงพระราชยานผูกแปดไปยังบันไดด้านตะวันออกมุขเหนือของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเชิญขึ้นบนพระที่นั่งองค์นี้ ขึ้นประดิษฐานบนบุษบกทองคำแล้วเชิญขึ้นเกรินและประดิษฐานบนพระเบญจาทองคำ เป็นเสร็จขั้นตอน

หลังจากนี้อีก ๗ วันเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล ที่อาจมีระยะเวลาแตกต่างกันคราวงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีการบำเพ็ญพระราชกุศล ๓ วันที่พระเมรุก่อนจะบำเพ็ญพระราชกุศลอีก ๔ วันบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ส่วนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบำเพ็ญพระราชกุศลต่อเนื่องในคราวเดียว ระหว่างนี้มีการอัญเชิญพระบรมอัฐิของอดีตสมเด็จพระบุรพมหากษัตริย์ และของพระญาติวงศ์ผู้ทรงนับถือใกล้ชิดเข้าร่วมพิธีด้วย ซึ่งการทำบุญ ๗ วันนี้มีความหมายเดิมตามที่ท่านเสฐียรโกเศศอธิบายว่า เป็นงานมงคลถือเป็นการทำบุญเรือน ไม่ใช่การฉลองอัฐิ แต่เพราะเป็นการเก็บอัฐิเข้าเรือนทำให้เข้าใจกันว่าเป็นการไว้ทุกข์เช่นเดิม

ครั้นครบกำหนดแล้วจึงอัญเชิญพระบรมอัฐิอันมีขั้นตอนคือ อัญเชิญลงมาจากพระเบญจาทองคำโดยเกรินลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดด้านตะวันออกมุขเหนือ ขึ้นทรงพระราชยานไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท เชิญพระบรมอัฐิทรงพระราเชนทรยานโดยกระบวน ๔ สายไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานบนพระวิมานของพระที่นั่งองค์นี้ ธรรมเนียมการประดิษฐานพระบรมอัฐิคราวนี้ได้เป็นแบบแผนมาจวบจนปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


คัดบางส่วนจาก : หนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย”. โดย นนทพร อยู่มั่งมี. มติชน. ๒๕๕๙


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 29 ตุลาคม 2560