ราชรถปืนใหญ่ : ราชรถถวายพระเกียรติพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระผู้ทรงเป็นจอมทัพไทย

ราชรถปืนใหญ่ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘

ราชรถปืนใหญ่ เป็นราชรถที่อัญเชิญพระโกศพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพพระบรมวงศ์ ที่ดำรงพระยศในราชการทหารครั้งทรงพระชนม์ชีพ สำหรับพระบรมศพใช้ราชรถปืนใหญ่แห่เวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) ๓ รอบ แทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิม

ในส่วนของพระบรมวงศ์นั้นใช้ราชรถปืนใหญ่เชิญพระศพจากวัง (หรือจากหน้าวัดพระเชตุพน) ไปสู่พระเมรุ ซึ่งเป็นธรรมเนียมใหม่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในการพระราชทานเพลิงพระศพจอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นครั้งแรก

สำหรับพระบรมศพพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงราชรถปืนใหญ่แห่เวียนโดยอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมีพระบรมราชโองการแสดงพระราชประสงค์ว่า

“ในการแห่พระบรมศพตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้ยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุขอให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากใคร่เดินทางสุดท้ายนี้อย่างทหาร”

แต่ทั้งนี้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงจริงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นพระมหาพิชัยราชรถไปสู่ท้องสนามหลวง เมื่อถึงพระเมรุมาศจึงให้เชิญพระโกศพระบรมศพเลื่อนลงทางเกรินบันไดนาคสู่ราชรถปืนใหญ่แห่เวียนโดยอุตราวัฏรอบพระเมรุมาศ ๓ รอบ

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการดำเนินการปรับปรุงรถปืนใหญ่ของทางราชการทหารเป็นรถประดิษฐานพระบรมโกศสำหรับเวียนรอบพระเมรุมาศ พระโกศพระบรมศพรัชกาลที่ ๘ ถูกอัญเชิญลงจากพระมหาพิชัยราชรถขึ้นประดิษฐานบนรถปืนใหญ่ซึ่งถอดปืนออกแล้ว ก่อนตั้งกระบวนแห่เวียนรอบพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ ๓ รอบ

ในปีเดียวกันรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แปลงพระเมรุมาศรัชกาลที่ ๘ เพื่อให้เป็นพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระโกศพระศพถูกอัญเชิญขึ้นรถพระพิมานจากวังท่าพระ ไปเปลี่ยนกระบวนเป็นราชรถปืนใหญ่ที่หน้าวัดพระเชตุพน มีพระราชาคณะนั่งราชรถเล็กนำกระบวน ก่อนเคลื่อนไปยังพระเมรุท้องสนามหลวง

ส่วนราชรถปืนใหญ่ถวายพระเกียรติพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพไทย กรมสรรพาวุธทหารบก ได้ดำเนินการจัดสร้างราชรถปืนใหญ่ทั้งหมด ๓ องค์

ราชรถปืนใหญ่ที่จัดสร้างขึ้นใหม่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ภาพจากเพจ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

ประกอบด้วย ราชรถปืนใหญ่ต้นแบบ (ใช้ในการฝึกซ้อม) ราชรถปืนใหญ่สำรอง (มีรูปแบบเหมือนองค์จริง ใช้เป็นองค์สำรอง) และราชรถปืนใหญ่ที่ใช้ในพระราชพิธีฯ โดยราชรถปืนใหญ่ทั้ง ๓ องค์ ได้ถอดแบบมาจากปืนใหญ่ภูเขาแบบ ๕๑ ซึ่งประจำการในกองทัพบกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ โดยทางกรมสรรพาวุธทหารบกได้คัดเลือกปืนใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุดมาเพียง ๓ กระบอก เพื่อที่จะถอดเอาปืนใหญ่ออกให้เหลือเพียงโครงสร้างหลักที่ใช้ทำราชรถ

องค์ราชรถปืนใหญ่จะประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้าสำหรับบบรจุหีบกระสุนและราชรถปืนใหญ่ส่วนหลังสำหรับประดิษฐานพระโกศ ส่วนสีขององค์ราชรถปืนใหญ่ใช้สีเขียวเข้มเด่นชัดลักษณะในทางทหาร

ราชรถปืนใหญ่ส่วนหน้า หรือรถหีบกระสุนปืนใหญ่ ไม่มีของจริงเหลือให้ดู คณะทำงานของกรมสรรพาวุธทหารบกต้องทำการศึกษาจากภาพถ่ายเก่าราชรถปืนใหญ่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๘ ตลอดถึงภาพถ่ายการใช้รถปืนใหญ่ของประมุขในต่างประเทศ เพื่อทำการออกแบบจัดสร้างรถหีบกระสุนขึ้นใหม่

ส่วนราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง โครงสร้างหลักที่ใช้ทำราชรถ คือ ปืนใหญ่ภูเขาแบบ ๕๑ ที่ถอดเอาปืนใหญ่ออกทำการบูรณะโครงสร้างขึ้นใหม่ ในการนี้คณะทำงานฯ ได้ออกแบบเพิ่มเติมล้อที่สามเพื่อรักษาสมดุล และมือจับประคองราชรถปืนใหญ่ส่วนหลังเดิมมีจุดเดียว ได้มีการทำเพิ่มอีก ๒ จุด ทั้ง ๒ ข้าง มีการทำไม้ประกบในทุกมือจับประคองเพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานและมีความคล่องตัวในขณะฉุดชัก

สำหรับการประดับตกแต่งราชรถปืนใหญ่ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปกรเป็นผู้ดำเนินงาน ลวดลายส่วนใหญ่ถอดแบบมาจากองค์ราชรถปืนใหญ่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๘

ทั้งนี้การประดับตกแต่งราชรถปืนใหญ่จะไม่ได้ตกแต่งทั้งองค์ราชรถ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความสง่างามและรูปแบบที่เข้มแข็งของราชรถปืนใหญ่ ราชรถถวายพระเกียรติพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นจอมทัพไทย