ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
จอห์น ทอมสัน (พ.ศ. 2380-2464) ชาวสก๊อต (จากอังกฤษ) มีอาชีพเป็นช่างภาพและมีร้านถ่ายรูปของตนเองอยู่ที่ปีนัง ทอมสันเป็นที่นับหน้าถือตาในหมู่ชาวอังกฤษขณะนั้น และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร
ภาพถ่ายของทอมสัน ส่วนหนึ่งนั้นสมาคมภูมิศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรนำไปใช้ตั้งโจทย์และหลักฐานในโครงการสำคัญของรัฐบาลอังกฤษที่ใช้ในการสำรวจดินแดน การยืนยันเอกลักษณ์สถานที่ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของคนในอาณานิคมของอังกฤษ
พ.ศ. 2408 ทอมสันเข้ามายังสยาม เขาได้กลายเป็นแขกของเจ้านายไทย เช่น กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ผู้ได้ชื่อว่าชำนาญการถ่ายรูปในหมู่เจ้านายไทยมากที่สุดในยุคนั้น
กรมหมื่นอลงกฎฯ เป็นผู้แนะนำให้ทอมสันได้เข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงในพระบรมมหาราชวัง เขาได้มีโอกาสแนะนำตนเอง และบอกกล่าววัตถุประสงค์ของการมาของเขา ตลอดจนผลพลอยได้ที่ชาวสยามพึงได้รับจากภาพถ่ายของเขา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพอพระราชหฤทัย และทรงอำนวยความสะดวกให้ทอมสันบันทึกภาพเจ้านายไทย ตลอดจนภาพงานพระราชพิธีต่างๆ ชนิดที่ว่า ฝรั่งทั่วไปไม่เคยได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเช่นนี้มาก่อน
ทอมสันจึงได้ถ่ายภาพบุคคลสำคัญ หรือพระราชพิธีสำคัญจำนวนมาก เช่น ภาพพระราชวงศ์และขุนนางในราชสำนักที่มีความสำคัญ ภาพพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค งานพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ งานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ จอห์น ทอมสัน ไปถ่ายภาพก็คือ รัชกาลที่ 4
ในบันทึกของเขากล่าวไว้ว่า วันที่เข้าเฝ้าเพื่อที่จะฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พระองค์เปลี่ยนแปลงพระราชหฤทัย โดยเนื้อหาของภาพจากที่พระองค์กำลังคุกพระชงฆ์ทรงศีล เป็นฉลองพระองค์เครื่องแบบแม่ทัพฝรั่งเศส (ซึ่งจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ถวาย) ภาพดังกล่าวถูกนำไปประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสและอังกฤษในเวลาต่อมา จึงเกิดนัยยะทางการเมืองถึงการยอมรับแก่ผู้พบเห็น
กล่าวได้ว่าภาพถ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับสยามของทอมสัน เป็นภาพถ่ายที่ประชาสัมพันธ์ประเทศได้อย่างครบถ้วนชุดแรก ที่สร้างการรับรู้แก่ชาวโลกในยุคนั้น และเป็นการรับมือลัทธิล่าอาณานิคมไปพร้อมกัน
มีการวิเคราะห์เบื้องหลังที่รัชกาลที่ 4 ทรงอนุญาตให้ทอมสันเข้ามาถ่ายภาพ ทั้งที่เวลานั้นเป็นยุคเริ่มต้นของการล่าอาณานิคม เป็นเพราะน่าจะทรงเล็งเห็นประโยชน์ของการอนุญาตให้ฝรั่งชาวอังกฤษจากประเทศเจ้าอาณานิคมเข้ามาบันทึกภาพด้วยตนเอง โดยมีนัยยะดังนี้
1. ทรงอนุญาตให้ทอมสันเป็นผู้บันทึกภาพ เพราะเป็นคนอังกฤษ และจะนำภาพทั้งชุดออกเผยแพร่นอกประเทศ
2. ทรงเลือกฉากและฉลองพระองค์เอง เช่น เครื่องแบบแม่ทัพฝรั่งเศสและเครื่องราชฯ ที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ถวายมาให้เป็นเกียรติยศ
3. ทรงเปิดโอกาสให้ทอมสันถ่ายภาพขุนนางชั้นต่างๆ เพื่อแสดงถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเข้มแข็งเฉกเช่นในราชสำนักยุโรป
4. ทรงอนุญาตให้ทอมสันเข้าไปถ่ายภาพภายในพระราชฐานชั้นในอันเป็นเขตหวงห้าม เพื่อแสดงว่าไม่มีสิ่งปิดบังซ่อนเร้นตามที่ฝรั่งเข้าใจ
5. ทรงให้ทอมสันถ่ายภาพราษฎรและบ้านเมืองตามอัธยาศัย เพื่อแสดงความจริงเชิงประจักษ์ของพลเมือง
6. ทรงจัดให้มีการบันทึกภาพพระราชพิธีเก่าแก่ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ งานพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งแสดงว่าสยามรัฐมีจารีตประเพณีเก่าแก่เป็นของตนเองมาหลายร้อยปี
7. ทรงอนุญาตให้ทอมสันเดินทางไปถ่ายภาพนครวัด-นครธม ซึ่งไม่มีฝรั่งเข้าไปบันทึกภาพมาก่อนหน้านั้น เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและผู้พิทักษ์เมืองประเทศราชโดยชอบธรรม (ก่อนหน้าการเข้ามาช่วงชิงของพวกฝรั่งเศส)
แน่นอนว่า ภาพและข้อมูลที่ทอมสันนำออกไปเปิดเผย ย่อมจะยืนยันความมีตัวตนของสยามรัฐบนแผนที่โลกในขณะนั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมรูปถ่ายสมัยเก่า บุคคลในภาพจึงแสดงสีหน้าเรียบเฉย ไม่ยอมยิ้ม
- ภาพถ่ายหลังความตาย ความระลึกถึงจากคนเป็น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความบางส่วนจาก ไกรฤกษ์ นานา. “อึ้ง! นิยามใหม่ ‘ภาพถ่าย’ คือการแสดงอาณาเขตในยุคล่าอาณานิคม” ใน, ศิลปวัฒนรรม กรกฎาคม 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2566