เมื่อการบีบบังคับ “เกณฑ์ทหาร” ยิ่งทำให้กระแส “หนีทหาร” ในเกาหลีใต้ขยายตัว

เกาหลีใต้ เกณฑ์ทหาร
นาวิกโยธินเกาหลีใต้เตรียมการซ้อมรบ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2016 (AFP PHOTO / JUNG YEON-JE)

หากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งสงครามเกาหลีสงบลงใหม่ๆ พบว่า ชายชาวเกาหลีใต้ในยุคนั้นพากันหนีการ เกณฑ์ทหาร อย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 1955-กันยายน ค.ศ. 1956 มีผู้หนีทหารมากถึง 33,361 คน

“ความรักชาติ” จึงเป็นอุดมการณ์สำคัญที่จะต้องปลูกฝังอย่างต่อเนื่องในเกาหลีใต้ที่ทุกวันนี้ยังบังคับให้พลเมืองชายทุกคนต้องเป็นทหารโดยมีข้อยกเว้นเพียงไม่กี่เงื่อนไข เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่า การรับใช้ชาติเป็นภาระทางด้านศีลธรรมที่ประชาชนในรัฐจำเป็นต้องปฏิบัติตาม และสื่อ (รวมไปถึงสื่อบันเทิงอย่างละครและภาพยนตร์) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังอุดมการณ์ดังกล่าว

แต่ลำพังการปลูกฝังอุดมการณ์ ยังไม่เพียงพอที่จะลดจำนวนผู้หนีทหาร

ปาร์ก จุง-ฮี ผู้นำเผด็จการทหาร (บิดาของอดีตประธานาธิบดีปาร์ก กึน-เฮ) ที่ครองอำนาจระหว่างปี 1962-1979 จึงเพิ่มมาตรการบังคับต่างๆ ที่ทำให้การหนีทหารแทบจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่การไล่เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่มารายงานตัวต่อกองทัพออกจากงาน ยกเลิกหนังสือเดินทางสำหรับผู้ที่เดินทางออกนอกประเทศ หากมิได้เดินทางกลับในระยะเวลาที่ได้ให้อนุญาตไว้ รวมถึงการลงโทษจำคุก ที่แม้กฎหมายจะจำกัดไว้สูงสุดที่ 3 ปี แต่ในช่วงที่ประเทศปกครองด้วยกฎอัยการศึก เพดานโทษสูงสุดมิได้มีผลบังคับ [ตามมาตรา 30 (2) กฎหมายว่าด้วยโทษอาญาทางทหาร]

รายงานของสื่อต่างประเทศอ้างว่า ช่วงดังกล่าวผู้หนีทหารอาจต้องโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และเมื่อพ้นโทษแล้วก็ยังถูกบังคับให้เข้าประจำการอีก นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษกับบุคคลภายนอก เช่น นายจ้างที่รับผู้หนีทหารเข้าทำงานก็อาจต้องโทษจำคุกเช่นกัน ทำให้ยอดผู้หนีทหารที่เคยสูงถึง 16% ก่อนการครองอำนาจของปาร์ก จุง-ฮี ลดลงเหลือเพียง 0.1% ในปี 1974

นับแต่นั้นมา การเป็นทหารของชายชาวเกาหลีใต้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ชีวิตทหารโดยเฉพาะ “ทหารเกณฑ์” มิได้สวยหรูเหมือนในซีรีส์เกาหลีที่คนดูคุ้นเคย ซึ่งตัวเอกมักไม่ใช่ทหารเกณฑ์ แม้ทหารเกณฑ์จะมีสัดส่วนสูงถึง 75% ของทหารประจำการทั้งหมดราว 6 แสนนายก็ตาม

ทหารเกณฑ์หลายคนต้องเสียชีวิตระหว่างประจำการ โดยสาเหตุมิได้เกิดจากการสู้รบกับศัตรู แต่เป็นเพราะ “ฆ่าตัวตาย” (ตัวเลขระหว่างปี 1995-2005 มีผู้เสียชีวิตระหว่างประจำการเฉลี่ย 202 คนต่อปี โดยราว 41% ถูกระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย) เนื่องจากกองทัพเกาหลีใต้มี “วัฒนธรรม” กลั่นแกล้งทหารที่ไม่มีทางสู้ บางส่วนจึงหนีปัญหาด้วยการปลิดชีพตัวเอง

แต่หลายรายเลือกที่จะตอบโต้ด้วยความรุนแรง เช่น เหตุการณ์ในปี 2005 ทหารรายหนึ่งได้ใช้ระเบิดมือสังหารเพื่อนทหาร 8 ราย หลังถูกกลั่นแกล้ง เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันได้เกิดขึ้นซ้ำในปี 2011 ทหารเกณฑ์ที่ถูกกลั่นแกล้งอย่างหนักได้ก่อเหตุกราดยิงเพื่อนทหาร จนเสียชีวิตไป 4 ราย หรือในปี 2014 ส.อ.ลิม ทหารเกณฑ์ที่กำลังจะพ้นการประจำการในอีกเพียง 3 เดือน ตัดสินใจขว้างระเบิดมือใส่เพื่อนทหาร 7 นาย ก่อนใช้อาวุธปืนกราดยิงทหารอีกหลายรายที่ขวางทางเขา ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

“ความผิดที่พวกเขาทำ มีแต่ความตายเท่านั้นที่สาสม… ใครก็ตามหากอยู่ในสถานการณ์เดียวกับผมก็ต้องมีชีวิตอันเจ็บปวดไม่ต่างจากความตาย ผมทำผิด แต่พวกมันก็ไม่ต่างกัน” ส.อ.ลิม กล่าวในจดหมายที่เขาเขียนขึ้นก่อนพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ ถูกจับตัวมาดำเนินคดีในศาล ก่อนถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิต

ความเลวร้ายในค่ายทหาร ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ชายชาวเกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะรับใช้กองทัพ ในปี 2002 ยู โฮกุน (Yu Hogun) นักชาตินิยมฝ่ายซ้ายได้ประกาศตัวไม่ยอม “เกณฑ์ทหาร” อ้างว่าเขาจะไม่ยอมฆ่าคนเกาหลีด้วยกัน ไม่ว่าคนผู้นั้นจะตกอยู่ในบังคับของรัฐใด ปีเดียวกัน นา ตงยก (Na Tonghyok) นักกิจกรรมประชาธิปไตย ก็ไม่ยอมเกณฑ์ทหาร โดยโจมตีว่า ลัทธิชาตินิยมแบบเกาหลีใต้ถูกใช้เพื่อครอบงำและแช่แข็งสังคมโดยอ้างความมั่นคงของชาติ

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้ขบวนการของกลุ่มผู้ต่อต้านด้วยมโนธรรม (Conscientious Objectors) ขยายตัวอย่างมากคือ เหตุการณ์ที่ โอ แทยัง (O Taeyang) ชาวพุทธจากกวางจู ที่ต้องเจ็บปวดจากเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในบ้านเกิดเมื่อปี 1980 ทำให้เขากลายเป็นผู้อุทิศตนเพื่อศาสนา และต่อมาได้เป็นนักกิจกรรมทางสังคมในองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของชาวพุทธ

โอ แทยัง ปฏิเสธที่จะเป็นทหารในเดือนธันวาคม ปี 2001 โดยอ้างว่าการคร่าชีวิตผู้อื่นขัดต่อความเชื่อทางศาสนาพุทธ และโดยส่วนตัวเขาก็ไม่คิดว่าความรุนแรงจะนำไปสู่สันติสุข เบื้องตนเขามิได้รับการสนับสนุนจากองค์กรศาสนาพุทธใดๆ ต่อการตัดสินใจของเขา และ ผอ. แผนกศาสนาพุทธประจำหน่วยงานด้านศาสนาของกองทัพยังออกมาบอกว่า การเป็นทหารคือการสละชีวิตเพื่อผู้อื่น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของพระโพธิสัตว์

จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2002 โอ แทยัง ได้รับกำลังใจจากหลายองค์กรพุทธ รวมถึงพระสงฆ์นักกิจกรรม ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในเดือนเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายเขาต้องรับโทษจำคุกระหว่างเดือนสิงหาคม 2004 ถึง พฤศจิกายน 2005 แต่การที่เขาได้รับการประกันตัวระหว่างปี 2002-2004 อย่างที่ไม่มีใครคาดหมายมาก่อน สร้างกระแสหนุนนำให้กับกลุ่มต่อต้านการเกณฑ์ทหารอย่างมาก เนื่องมาจากการทำกิจกรรมของเขาในช่วงเวลาดังกล่าวเปิดโปงระบบการเกณฑ์ทหาร และสร้างฐานสนับสนุนให้กับกลุ่มต่อต้านลัทธิทหารนิยม

เหตุการณ์สำคัญที่เกือบจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กับการบังคับ “เกณฑ์ทหาร” ในเกาหลีใต้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2004 เมื่อศาลแขวงกรุงโซลใต้ได้ตัดสินยกคำฟ้องผู้หนีทหาร 3 ราย ด้วยเหตุผลด้านศาสนาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายก็ถูกพิพากษากลับโดยศาลสูง และศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยังคงยืนยันว่ากฎหมายว่าด้วยภาระในการรับใช้กองทัพมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านการเกณฑ์ทหารในทางศาลแทบจะถูกปิดตายไปแล้ว

เมื่อการต่อต้านในระบบไม่ใช่ทางเลือก หลายคนจึงหลบหนีการเกณฑ์ทหารด้วยการไปใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งผู้ที่จะใช้วิธีการนี้ได้ก็มีแต่กลุ่มที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี มีสัญชาติที่สอง รวมไปถึงศิลปินดังหลายราย ซึ่งการเลือกที่จะหนีทหารหมายถึงการทิ้งอนาคตการงานที่จะมีในเกาหลีใต้ไปโดยสิ้นเชิง แต่สถิติของผู้สละสัญชาติเกาหลีใต้ เพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหารก็ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2013 มีผู้สละสัญชาติราว 3 พันคน ก่อนเพิ่มเป็น 4.4 พันคนในปี 2014

แม้สังคมโดยรวม โดยเฉพาะสื่อเกาหลีใต้จะไม่ยอมรับการหนีทหาร หลายครั้งมักออกมาโจมตีผู้ที่หลบหนีการเป็นทหารว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติ แต่การสำรวจในปี 2015 โดยหนังสือพิมพ์โชซุนอิลโบ (Chosun Ilbo) พบว่ากว่า 42.5 % ของพ่อ และ 37.9 % ของแม่ ที่ลูกชายกำลังจะถูกเกณฑ์ทหาร หวังว่าลูกของตนจะได้รับการยกเว้น

ขณะที่การสำรวจลักษณะใกล้เคียงกันในกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายในปูซาน พบว่า 38% จากกลุ่มตัวอย่างต้องการที่จะเลี่ยงการเป็นทหารหากมีหนทาง โดยมีเพียง 27.4% เท่านั้นที่เห็นว่า การรับใช้ชาติในกองทัพ “เป็นเกียรติ” และเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ แม้ว่าสื่อเกาหลีใต้จะพยายามขายภาพลักษณ์ความจำเป็นของกองทัพมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Tikhonov, Vladimir. “Militarism and Anti-militarism in South Korea: ‘Militarized Masculinity’ and the Conscientious Objector Movement.” The Asia-Pacific Journal Mar. 2009. Web. 23 Mar. 2016. <http://apjjf.org/-Vladimir-Tikhonov/3087/article.html>

“Park says ‘Descendants of the Sun’ will help attract foreign tourists”. Yonhap News 21 Mar. 2016. Web. 23 Mar. 2016. <http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/03/21/29/0301000000AEN20160321013300315F.html>

Lim Yun Suk. “More South Koreans dodge military service as threats from North loom large.” Channel News Asia 17 Sep. 2015. Web. 23 Mar. 2016. <http://www.channelnewsasia.com/news/asiapacific/more-south-koreans-dodge/2132412.html>

“South Korean soldier sentenced to death for murder of five comrades.” The Guardian 3 Feb. 2015. Web. 23 Mar. 2016. <https://www.theguardian.com/world/2015/feb/03/south-korea-soldier-death-murder-comrades>

“Blood, sweat and tears.” The Economist 27 Sep. 2014. Web. 23 Mar. 2016. <http://www.economist.com/news/asia/21620255-string-egregious-abuses-fuels-fresh-calls-reform-army-blood-sweat-and-tears>

“South Korea jails hundreds for refusing military stints”. Inquirer 17 Jan. 2014. Web. 23 Mar. 2016. <http://newsinfo.inquirer.net/565267/south-korea-jails-hundreds-for-refusing-military-stints>

Flight or fight: conscription misery in South Korea.” Post Magazine 15 Jan. 2015. Web. 23 Mar. 2016. <http://www.scmp.com/magazines/post-magazine/article/1679867/flight-or-fight-conscription-misery-south-korea>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2559