ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
อรหัน (ออระหัน) ในหนังสือ “สัตว์หิมพานต์” ของ ส.พลายน้อย ให้ข้อมูลว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามมีภาพสัตว์หิมพานต์อยู่มาก และที่น่าสนใจก็คือนกหน้าคนขนาดเล็ก ที่บรรดาช่างเขียนเรียกกันว่าตัวอรหัน (ออระหัน) แต่ก็ไม่มีใครอธิบายว่าเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยว่า
“รูปมนุษย์มีปีกที่เรียกกันว่าตัว ‘อรหัน’ นั้น… เคยสังเกตเห็นชอบเขียนในลวดลายและทำรูปภาพตัวเช่นนั้นมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ก่อนนั้นขึ้นไปไม่เห็นทำ คิดว่าสมัยนั้นเป็นสมัยชอบเปลี่ยนแปลงแผลงลวดลายไปต่างๆ และชอบเอาลายฝรั่งมาใช้ น่าจะมาแต่รูปเทวดาเด็กๆ ของฝรั่งที่เรียกว่า Cherub ดอกกระมัง ใคร่จะเดาว่าได้ชื่อมาจากโปรตุเกส เรียกเสียงคล้ายๆ กันว่า อรหันต์ จึงเลยกลายมาเป็นอรหัน”
อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ารูปนกหน้าคนดังกล่าวนี้อาจจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะที่หอเขียนวังสวนผักกาดมีรูปแกะสลักไม้เป็นรูปนกหัวคนอยู่ด้วย และลักษณะหัวคนนั้นเป็นแบบฝรั่ง จึงดูสมกับที่สันนิษฐานกันว่าได้สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2200-2231)
นอกจากรูปนกอรหันที่หอเขียนแล้ว ยังมีรูปปั้นอรหันที่หน้าบันพระอุโบสถวัดอินทราราม (วัดตาล) ที่จังหวัดราชบุรีอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเช่นเดียวกัน ในหนังสือพจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง ของโชติ กัลยาณมิตร ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นกอรหันที่หน้าบันแห่งนี้เป็นสถานที่แห่งเดียวที่มีการทำตัวอรหันเป็นรูปคนแก่ไว้ด้วย ซึ่งไม่เคยมีปรากฏในที่แห่งใด
นกหน้าคนแบบนกอรหันของไทยนั้น ตามนิยายของฝรั่งก็มีอยู่หลายตัวเช่น ในนิยายของกรีกโบราณมีกล่าวถึงนางไซเรน (Siren) ก็ว่าตัวเป็นนกหน้าเป็นคนตามประวัติว่าไซเรนเป็นเทพธิดาของเทพแม่น้ำอคีลุส ซึ่งมีมือและศีรษะเป็นมนุษย์ส่วนท่อนล่างเป็นงูคล้ายปลา คือตัวยาวอย่างงูแต่มีหางแบบปลามีเขาที่ศีรษะ
ในหนังสือบางเล่มเล่าว่าคราวหนึ่งอคีลุสสู้กับเฮอรากลีสแล้วถูกหักเขา เลือดที่หยดจากแผลได้เกิดเป็นไซเรน ตามภาพเขียนไซเรนจะถือขลุ่ยแฝด กล่าวกันว่าร้องเพลงได้ไพเราะ แต่ใครได้ฟังก็ถึงแก่ความตาย
อ่านเพิ่มเติม :
- ความหมายของ “ตัวมอม” สัตว์ในจินตนาการ สู่ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งล้านนา
- สิงห์โตมาจากไหน เพราะเมืองไทยไม่มีสิงห์โต?
- รู้หรือไม่ “ครุฑ” ตามหน่วยงานราชการไทย ใครเป็นคนปั้น?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2560