ละครพีเรียด เสนอชีวิตแสนดี แต่ชีวิตจริงสุดโหด ข้าวเปลือก 60% ต้องส่งส่วย

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าท้ายสระ ขุนหลวงท้ายสระ พระมหากษัตริย์ กรุงศรีอยุธยา รับบทโดย เกรท วรินทร ละคร พรหมลิขิต โปรดเสวย ปลาตะเพียน ละครพีเรียด
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ขณะปลอมพระองค์เป็นชาวบ้าน ในละครเรื่อง "พรหมลิขิต" ออกอากาศทางช่อง 3 เอชดี (ภาพจาก ช่อง 3)

“ละครพีเรียด” เสนอชีวิตสุขสงบแสนดี แต่เรื่องจริงโหด ข้าวเปลือก 60% ที่ทำได้ต้องส่ง “ส่วย”

ละครทีวี หรือซีรีส์พีเรียด (ย้อนยุค) ที่เสนอเรื่องราวของผู้คนในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว หรือแบบที่ตัวเอกหลงหลุดเข้าไปในอดีต อดีตที่แม้จะไม่มีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก แต่ชีวิตแสนสงบสุข ผู้คนมากด้วยน้ำใจ สังคมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ต้องดิ้นรนตัวเป็นเกลียวเรื่องการทำมาหากินแบบทุกวันนี้ เพราะในน้ำมีปลาในนามีข้าว แนวเรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแต่ละครทีวีไทย ไม่ว่าจีน, เกาหลี ก็มีให้เห็น

แล้วในความเป็นจริงชีวิตเมื่อวันวาน มันน่าอยู่กว่าปัจจุบันจริง มันสบายกว่าวันนี้จริงหรือ

ใครเล่าจะรู้ได้ พวกเราก็ไม่ใช่คนยุคนั้น แต่ถึงเราจะเกิดไม่ทัน ก็รู้ได้จากเอกสารต่างๆ ที่มีการบันทึกไว้ ก็น่าจะพอหาคำตอบในเรื่องนี้ได้ แบบเร็วหยิบบทความขึ้นมา 2 ชิ้น

หนึ่งคือ เรื่องเกี่ยวกับ “ทาส” ที่ ชาติชาย พณานานนท์ เขียนไว้ในบทความชื่อ “ทาสอยุธยา ในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1” (ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2532)

บุคคลๆ หนึ่งกลายเป็นทาสด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น เป็นทาสเพราะแพ้สงคราม, เป็นทาสเพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เลยขายตัวเป็นทาส, เป็นทาสเพราะเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ฯลฯ นอกจากนี้ ทาสบางประเภทยังมีเงื่อนไขต้องเป็น “ทาสชั่วชีวิต” ไม่ถอนไม่ได้ เช่น ทาสเชลยและบุตร และข้าวัดข้าพระ ขณะที่ทาสบางประเภทสามารถไถ่ถอนได้ แต่ค่าตัวก็สูงถึง 60,000 เบี้ย

แม้ชีวิตความเป็นอยู่ของทาสจะยากลำบาก แต่บ้านเมืองก็มีกฎหมาย นายทาสสามารถลงโทษทาสได้ แต่ถ้าเกินกว่าเหตุ เช่น ทำให้พิการ นายทาสจะถูกลงโทษโดยเสียค่าตัวทาสนั้น 2 ใน 3 หรือถ้าทำให้ทาสเสียชีวิต เจ้าของทาสจะต้องได้รับโทษถึงชีวิตเช่นกัน

แต่ในความเป็นจริงทาสถูกทารุณกรรมและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนนายทาสได้รับโทษเป็นจำนวนน้อย

อีกหนึ่ง ความคิดทางเศรษฐกิจของพระยาสุริยานุวัตร” ของ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เคยเขียนไว้ใน หนังสือพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของเมืองไทย กล่าวไว้ว่า

“ชีวิตราษฎรไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชีวิตที่ลำบาก…แม้จะขยันทำการผลิตสักเท่าใด ผลผลิตส่วนใหญ่ก็หาตกเป็นของตนไม่…”

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าพวกเขาต้องส่ง “ส่วย” ให้กับทางการ หรือเจ้าของที่ดิน ส่วยมีด้วยกันถึง 3 ชนิด คือ

1. ถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเสียค่าราชการ ผู้ชายไทยที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปีจะถูกเกณฑ์ไปทำงานให้เจ้าขุนมูลนายที่ตนเองสังกัดแบบไม่มีค่าจ้างปีละ 3 เดือน ทุกปี ใครไม่สะดวกทำมาไหว ก็ต้องจ่ายเงินค่าราชการแทนปีละ 18 บาท (พ.ศ. 2444 ลดเหลือ 6 บาท)

2. ค่านา เก็บไร่ละ 24 อัฐ จนถึง 1 บาท ตามคุณภาพที่นา

3. ดอกเบี้ย-ค่าเช่า ดอกเบี้ย-เก็บตำลึงละเฟื้อง/เดือน หรือ 37.5/ปี  ค่าเช่า-คิดประมาณครึ่งหนึ่งของผลผลิต

แต่ถ้าชาวนามีที่ดินเป็นของตัวเองก็ไม่ต้องเสียค่านา, ค่าเช่า และดอกเบี้ย ไม่ใช่หรือ คำตอบที่ผู้เขียน (ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา) ค้นคว้าไว้จากรายงานของ Carle C. Zimmerman พบว่า ในครอบครัวชาวนาไทยในภาคกลาง 36% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เมื่อต้องเช่านากู้ยืมเงินมาทำนา

หากสมมติว่า ครอบครัวหนึ่งมีผู้ชายอยู่ในวัยต้องเกณฑ์แรงงาน 2 คน ทำกินในที่ดิน 20 ไร่ ไร่หนึ่งได้ข้าวเปลือก 5 หาบ และราคาข้าวเปลือกหาบละ 2 บาท ใน 1 ปี ได้ข้าวทั้งหมด 100 หาบ ต้องส่งส่วย 3 ชนิด คือ ค่าราชการ 6 หาบ, ค่านา 5 หาบ, ดอกเบี้ยและค่าเช่าประมาณ 50 บาท [หน่วย “บาท” นี้อ้างอิงจากหน่วยตามเนื้อหาในต้นฉบับเดิม คือหนังสือ “พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของเมืองไทย” แต่ในที่นี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นหน่วย “หาบ” มากกว่า พิจารณาจากข้อความก่อนหน้าว่า “คิดค่าเช่านา ครึ่งหนึ่งของผลผลิต”] ดังนั้น ข้อสมมตินี้จึงประมาณได้ว่า รวมแล้วต้องส่งส่วยราว 61 หาบ

ทำนาไม่พอกิน ทำไมไม่หารายได้เสริม

ในเมื่อบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ยิงนก, จับปลา, หาของป่า ฯลฯ ถ้าแค่จับกินเล็กน้อยคงไม่กระไร แต่ถ้าถึงขั้นจริงจังเป็นอาชีพเสริม ก็ต้องเสียภาษี หลวงท่านไม่เคยตกหล่น โดยเจ้าภาษีที่ประมูลผูกขาดไปจากรัฐในอัตราสูงสุดเป็นผู้เก็บ เมื่อประมูลสูงก็ต้องเก็บในอัตราสูงเป็นธรรมดา ถามว่าต้องเสียภาษีเท่าใด ชาวนาเองก็ไม่รู้พิกัดของภาษี เจ้าภาษีก็เก็บภาษีตามใจตนเอง

ขอยกมาแค่ชีวิตบางส่วนในอดีต ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง แค่นี้ก็ทำให้เราดูซีรีส์ย้อนยุค ละครพีเรียด ไม่สนุกแล้ว อย่าคิดอะไรเลยละครเขาทำให้เพื่อความบันเทิง เพื่อผ่อนคลาย

แต่ชีวิตจริง ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน มันไม่ง่าย ไม่หมูทั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2566