อธิบายว่าด้วยเรื่อง “พระภรรยาเจ้า”

ภาพลายเส้นข้าราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพจากหนังสือ Travels in Siam, Cambodia and Laos 1858-1860 เขียนโดย Henri Mouhot

“คำว่า ‘พระภรรยาเจ้า’ นั้นผู้เขียนไม่ได้บัญญัติขึ้นเอง แต่เป็นคำที่มีมาแต่เดิมแล้วในกฎมณเฑียรบาล ตามที่ปรากฏหลักฐานในงานพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือประชุมบทละคอนดึกดำบรรพ์ ฉบับบริบูรณ์ พร้อมด้วยเรื่องประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และตำนานละคอนดึกดำบรรพ์ (พิมพ์เป็นมิตรพลีในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๘๖) หน้า ๕๓-๕๔ ดังต่อไปนี้

เครื่องยสนักสนมเมื่อก่อนรัชกาลที่ ๔ จะเปนหย่างไรฉันไม่รู้แน่ แต่เมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้นมี ๕ ชั้นเปนลำดับกัน ล้วนเปนเครื่องไส่หมากกินทั้งนั้น

ชั้นที่ ๔ ซึ่งเปนชั้นต่ำกว่าเพื่อน เปนหีบหมากเงินกาไหล่ทองสำหรับพระราชทาน ’นางอยู่งาน’ แต่โบรานดูเหมือนจะเรียกว่า ‘นางกำนัน’ ซึ่งซงไช้สอยในพระราชมนเทียร ได้แต่บางคนที่ซงเมตตาไนหมู่นางหยู่งาน แต่การที่ได้พระราชทานหีบหมากกาไหล่ยังไม่นับว่าเปนเจ้าจอม

ชั้นที่ ๓ เปนหีบหมากทองคำ สำหรับพระราชทานนางหยู่งานซึ่งซงเลือกไว้ไช้ไกล้ชิดประจำพระองค์ ไครได้พระราชทานหีบหมากทองคำ จึงมีสักดิ์เปน ‘เจ้าจอม’ เรียกว่าเจ้าจอมนำหน้าชื่อทุกคน ฉันเข้าไจว่าชั้นนี้ที่เรียกว่า ‘เจ้าจอมหยู่งาน’

ชั้นที่ ๒ เปนหีบหมากทองคำลงยาราชาวดี สำหรับพระราชทานเจ้าจอมมารดาหรือเจ้าจอมหยู่งานซึ่งซงพระเมตตายกย่องขึ้นเปนชั้นสูง ฉันเข้าไจว่าเรียก ‘พระสนม’ แต่ชั้นนี้ขึ้นไป

ชันที่ ๑ เรียกว่า ‘พระสนมเอก’ ได้พระราชทานพานทอง เพิ่มหีบหมากลงยาที่กล่าวมาแล้ว เปนพานหมากมีเครื่องไนทองคำกับกะโถนทองคำไบหนึ่ง เปนเทือกเดียวกับพานทองเครื่องยสที่พระราชทานเจ้านายและขุนนางผู้ไหย่ แต่ขนาดย่อมกว่าพานทองเครื่องยสฝ่ายหน้า

ชั้นพิเสส สำหรับพระราชทานพระมเหสีเทวี ซึ่งเรียกไนกดมนเทียรบาลว่า ‘พระภรรยาเจ้า’ มีทั้งหีบและพานหมากเสวยล้วนทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี เครื่องยสนางไน 5 ชั้นเช่นพรรนามาดูเหมือนจะตั้งเปนกำหนดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔…


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากความนำตอนที่ 1 ของหนังสือ “พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5” โดย นายแพทย์ จิรวัฒน์ อุตตมะกุล

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 25 ม่ีนาคม พ.ศ. 2559