ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ “หลวงประเสริฐอักษรนิติ์” (แพ เปรียญ) ได้มาจากชาวบ้าน พงศาวดารฉบับนี้ปรากฏเนื้อความตั้งแต่แรกสถาปนา “กรุงศรีอยุธยา” จนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งยังมีข้อมูลหลากหลาย แตกต่างกับเล่มอื่น ๆ และเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยคลี่คลายข้อสงสัยบางประเด็นที่พงศาวดารเล่มอื่นไม่ได้อธิบายไว้อีกด้วย
ทว่าข้อมูลสำคัญนี้เกือบจะไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในอดีต เพราะพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ นี้ เคยเกือบถูกเผา!
เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ให้พระยาอนุมาน ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” โดย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ว่า วันหนึ่ง หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้ไปเห็นยายคนหนึ่งกำลังนำสมุดสีดำเก่า ๆ ลงกระชุหรือภาชนะสาน จึงเข้าไปถามไถ่ ได้ความว่า หนังสือพวกนี้รกบ้านจึงคิดจะเอาไปเผา หลวงประเสริฐอักษรนิติ์จึงขอดูหนังสือเหล่านั้น จนพบว่าเป็นพระราชพงศาวดารเล่มหนึ่ง และขอนำกลับบ้านไปด้วย ดังกล่าวด้านล่าง
“(หลวงประเสริฐอักษรนิติ์-เพิ่มโดยผู้เขียน) ไปเห็นที่บ้านหญิงชราคนหนึ่ง เอาสมุดดำเก่า ๆ บรรจุลงไว้เต็มกระชุ ไต่ถามความว่าเห็นรกเรือนอยู่เปล่า ๆ จะเอาไปเผาเสีย หลวงประเสริฐขอตรวจดูหนังสือในกระชุนั้น พบเปนพงศาวดารเล่มหนึ่ง จึงขอยายแก่ ก็ยอมให้ด้วยดี”
ต่อมา หลวงประเสริฐอักษรนิติ์ได้มอบพระราชพงศาวดารฉบับนี้ให้หอสมุดวัชรญาณในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2450
อ่านเพิ่มเติม :
- ชำแหละพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา หนึ่งกรรมต่างวาระ ต้องศึกษาด้วยวิจารณญาณ
- เปิดบันทึกพระราชพงศาวดารฯ ถึงที่มาออกหลวงสุรศักดิ์ “โอรสลับ” ในสมเด็จพระนารายณ์?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อิทธิกร ทองแกมแก้ว. “การตรวจราชการหัวเมืองของกระทรวงมหาดไทย ในสมัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2435–2458.” (วิทยานิพนธ์, ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562). บทที่ 5.
https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงเก่า-ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์/คำอธิบาย-พระนิพนธ์
https://www.silpa-mag.com/history/article_92135
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2566