สมัยรัชกาลที่ 7 วันสำคัญของไทย แต่มี “ธงชาติจีน” ประดับสลอนไปทั้งเมือง

ธงชาติจีน ธงชาติ
ธงชาติจีน หรือสาธารณรัฐจีนที่ใช้ในช่วงปี 2471-2492 (ภาพจาก เอเอฟพี)

ครั้งหนึ่งการประดับ ธงชาติ และธงต่างชาติในวันสำคัญของไทย โดยเฉพาะ “ธงชาติจีน” จำนวนมาก เป็นที่ “รำคาญตา” จนทางการคิดที่จะออกกฎหมายเพื่อกำกับการประดับธงชาติจีนของคนจีนไทย แต่สุดท้ายก็เป็นอันยุติไป เนื่องจากหลังหลายฝ่ายหารือกันแล้วสรุปตรงกันว่า เรื่องนี้มีแนวโน้มจะบานปลาย

จากแค่ “รำคาญตา” เป็น “รำคาญใจ” 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพยายามที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมการชักธงต่างประเทศ ในปี 2473 เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับธงของสยามในขณะนั้น ไม่มีการกําหนดระเบียบการชักและประดับธงทั้งธงชาติสยามเอง และธงต่างประเทศ

การชัก ธงชาติ เพื่อประดับประดา จึงเป็นไปธรรมเนียมประเพณี ไม่ได้มีข้อกำหนดอย่างเป็นทางการ เมื่อถึงวันสำคัญ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี และวันประสูติแห่งสมเด็จพระยุพราช, วันปีใหม่-1 เมษายน, วันที่ระลึกมหาจักรี 6 เมษายน, วันฉัตรมงคล ฯลฯ รวมทั้งในการเสด็จพระราชดำเนินผ่านของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระยุพราช ประชาชนจะมีการประดับธงชาติสยาม คือ ธงไตรรงค์

ขณะที่ธงต่างประเทศนั้น สามารถชักได้ทุกเมื่อตามต้องการ โดยไม่มีการออกกฎหมายเป็นข้อบังคับแต่อย่างใด

ส่วนปัญหา “รำคาญตา” ของ “ธงชาติจีน” ในขณะนั้น บทความ “เรื่องธง” ของผู้ใช้นามปากกา “สติ” ในหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2469 คนจีนที่อยู่ในสยามกลับชักธงชาติจีนของตนขึ้นในวันสำคัญของสยาม ว่า

“…ดังเราท่านจะเห็นได้ในวันสำคัญของชาติ พวกราษฎรของเราหามิได้มีใครชักธงชาติประดับประดาเหมือนอย่างต่างประเทศไม่ ส่วนชนชาติจีนสิกลับชักธงจีนให้ในวันสำคัญของเรา รวมทั้งวันสำคัญของเขาด้วย เพราะฉนั้นธงจีนจึงมักเคยพบตาบ่อยๆ อยู่ ภาพอันเงียบเหงาในวันสำคัญของชาติเช่นนี้ ถ้าเปนชาวต่างประเทศแล้วเขาจะรู้สึกละอายที่สุด แต่ส่วนไทยเรานั้นดูออกจะชาๆ

เหตุนี้ชาวต่างประเทศจึงมักจะชอบยิ้มในวันสำคัญของเราอยู่บ้าง ในเมื่อเขาเห็นธงจีนขึ้นไปปลิวสบัดชายอยู่ไสว…”

กระทรวงมหาดไทยจึงเห็นว่า ควรจะมีพระราชบัญญัติควบคุมการชักธงต่างประเทศขึ้น เพื่อทำให้การชักธงต่างประเทศในสยามเป็นไปโดยเรียบร้อย และเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้บังคับชาวต่างประเทศ จึงได้มีการส่งร่างดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาด้วย ว่าจะเป็นการขัดต่อข้อความในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างสยามกับนานาประเทศหรือไม่

เนื้อหาร่างพระราชบัญญัติควบคุมการชักธงต่างประเทศ ได้กล่าวถึงโอกาสต่างๆ ที่จะสามารถชักธงต่างประเทศขึ้นได้ นั่นคือ

1. ที่สถานทูตและสถานกงสุลที่สามารถชักขึ้นในทุกเวลาตามบทบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศ

2. บนเรือสินค้า

3. ในโอกาสการมาเยือนสยามของผู้นำหรือผู้แทนผู้นำของต่างประเทศ และ

4. ในโอกาสที่อนุญาตให้มีการชักธงประเทศต่างๆ ได้ตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้ (ซึ่งมักจะเป็นวันสำคัญประจำชาติของชาตินั้น เช่น วันชาติ หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาของกษัตริย์ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นกฎเสนาบดี) รวมถึงในกรณีที่ได้ขออนุญาตเป็นการพิเศษอื่นๆ

โดยในกรณีที่ 3 และ 4 นี้ได้กำหนดให้มีการชักธงชาติสยามขึ้นคู่กันด้วย โดยต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าและไม่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าธงต่างประเทศนั้น ในตำแหน่งทางขวาของธงต่างประเทศ อันเป็นการให้เกียรติธงสยาม หรืออยู่ตรงกลางถ้ามีธงต่างประเทศมากกว่าหนึ่งถูกชักขึ้น

และกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน ให้จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 100 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะสั่งให้นำธงต่างประเทศที่ชักโดยไม่สมควร หรือขัดต่อกฎหมายออก หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเองสามารถเคลื่อนย้ายธงต่างชาตินั้นได้ทันทีหากทำผิดข้อบังคับ

กระทรวงการต่างประเทศมอบให้นายเรย์มอนด์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งนายสตีเวนส์ พิจารณาว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ขัดกับข้อสัญญาที่สยามทำไว้กับนานาประเทศ เพราะไม่ได้กล่าวถึง สิทธิในการชัก ธงชาติ และกฎหมายที่จะออกมานี้ก็ได้บังคับต่อธงของทุกชาติเช่นเดียวกันทั้งสิ้น

แต่ในบันทึกความเห็นของนายสตีเวนส์ แสดงความเป็นห่วงว่า ถ้าใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อสยาม หรือน่าจะก่อผลร้ายตามมา

นายสตีเวนส์กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการออกพระราชบัญญัตินี้เห็นได้ชัดว่ามีจุดประสงค์ที่จะควบคุมชาวจีนเป็นสำคัญ เพราะธงจีนเป็นธงต่างประเทศเพียงชาติเดียวที่พบได้บ่อยและเป็นจำนวนมากในสยาม โดยเฉพาะหลังจากการปฏิวัติล้มราชวงศ์ของจีนแล้ว ชาวจีนในสยามมักจะแสดงความยินดีโดยการชักธงชาติจีนใหม่ขึ้นในทุกๆ โอกาส

การชักธงของชาวจีนนี้แม้จะก่อให้เกิดความรำคาญบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำอันตรายโดยตรงแต่อย่างใด ในทางกลับกัน การบังคับใช้กฎหมายนี้อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรู้สึกที่ไม่ดีเกิดขึ้นในหมู่ชาวจีนได้ อาจมีชาวจีนจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนอื่นๆ ของสยามที่จะเพิกเฉยและไม่ยินยอมทำตามกฎหมายที่ออกมาเพื่อบังคับต่อต้านพวกเขา ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมากในการบังคับใช้กฎหมายนี้ แทนที่จะเป็นการสร้างความรู้สึกภักดีของชาวจีนให้เกิดขึ้นต่อรัฐบาลสยาม แต่กลับก่อให้เกิดความรู้สึกภักดีต่อชาติจีนเองมากขึ้น

นายสตีเวนส์ยังแสดงความเห็นอีกด้วยว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีต้นแบบมาจากกฎหมายของอิตาลีที่เพิ่งมีขึ้น และเท่าที่เขารู้นั้น ประเทศอื่นยังไม่มีความพยายามที่จะออกกฎหมายเกี่ยวกับการชักธงต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นด้วยกับนายสตีเวนส์ ดังที่มีพระราชบันทึกว่า

“เรื่องนี้ข้าพเจ้าออกจะค่อนข้างเห็นด้วยกับนายสตีเวนส ที่จริงการชักธงของพวกจีนก็ไม่มีผลร้ายอะไร นอกจากทำให้รำคาญตาอยู่บ้าง แต่ถ้ามีการห้ามอย่างแข็งแรง อาจไม่เพียงแต่ รำคาญตา อาจถึง รำคาญใจ เพราะเราจะ hurt pride ของคนจีน หาว่ากดขี่จนไม่เป็นเรื่อง ฯลฯ จะไม่ทำให้รักไทยมากขึ้น การที่จะ hurt pride ของคนเปนของควรระวัง เพราะเป็นสิ่งที่จะปลูกความแค้นเคืองได้มาก” 

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในที่ประชุมเสนาบดี เพื่อฟังความเห็นของเสนาบดี ที่ประชุมเสนาบดีก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การออกกฎหมายควบคุมเช่นนี้อาจจะทำให้ชาวจีนไม่พอใจ และก่อความรุนแรงขึ้นมาได้

สุดท้าย สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ทรงยอมตามที่ประชุมเสนาบดี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ระงับร่างพระราชบัญญัติการชักธงต่างประเทศนี้ไว้ก่อน และ “ให้เจ้าหน้าที่ห้ามปรามการชักธงไปก่อนตามเรื่อง ถ้ามีเรื่องจำเป็นจริงๆ จึงพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่” 

อนึ่ง ธงชาติจีนที่ว่านั้น น่าจะไม่ใช่ “ธงแดงห้าดาว” หรือธงชาติจีน หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนปัจจุบัน เพราะเพิ่งเริ่มใช้เมื่อปี 2492 ธงชาติจีนท่ี่กล่าวถึงจึงคาดว่าจะเป็นธงชาติสาธารณรัฐจีนที่ใช้ในช่วงปี 2471-2492 ซึ่งไต้หวันใช้เป็นธงชาติในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม. การเมืองในประวัติศาสตร์ ธงชาติไทย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2566