ส่องกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ผ่านภาพยนตร์ All Quiet on the Western Front

All Quiet On The Western Front Netflix posters สงครามโลกครั้งที่ 1 กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
(ภาพจาก Netflix Official Site)

เมื่อปืนเปล่งเสียง ความเป็นมนุษย์เหือดหาย ส่อง “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ผ่าน “All Quiet on the Western Front” ภาพยนตร์สงครามที่เล่าเรื่องราวช่วง สงครามโลกครั้งที่ 1

“พอประกาศสงคราม กลายเป็น ‘Licence to Kill’ (ใบอนุญาตฆ่า) เลย…โดยกติกาเก่ามันเปิดช่องให้คุณทำได้ ไม่มีเส้นของความผิดหรือในเชิงศีลธรรมเลยนะครับ นี่คือความพิลึกของสงคราม”

เป็นตอนหนึ่งจากวงเสวนาที่ว่าด้วย “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ที่แม้ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่กลับใกล้ตัวกว่าที่คิด 

เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศชัดเจนขึ้น ศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) จึงจัดเสวนาเรื่อง “ส่องกฎหมาย ฉายหนัง: มองกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศผ่านภาพยนตร์ All Quiet on the Western Front” ไปเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่คณะนิติศาสตร์ มธ. 

นอกจากในงานจะมีการฉายภาพยนตร์แล้ว ยังมีเวทีเสวนาที่ ผศ.ดร. พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. ผศ. สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จิรัตต์ จิตต์วราวงษ์ ที่ปรึกษากฎหมาย ICRC มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย อ. ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มธ.

อ. ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล จิรัตต์ จิตต์วราวงษ์ ผศ.ดร. พีระ เจริญวัฒนนุกูล ผศ. สิทธารถ ศรีโคตร
(ซ้ายไปขวา) อ. ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล, จิรัตต์ จิตต์วราวงษ์, ผศ.ดร. พีระ เจริญวัฒนนุกูล และ ผศ. สิทธารถ ศรีโคตร

All Quiet on the Western Front เป็นภาพยนตร์สัญชาติเยอรมัน ที่สร้างเสียงตอบรับดีมากหลังจากเข้าฉายเมื่อปี 2565 ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 9 รางวัล และคว้าไปได้ถึง 4 รางวัล ทั้ง ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้ออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม และกำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากหนังสือชื่อเดียวกัน เป็นผลงานของ เอริช มาเรีย เรอมาร์ก (Erich Maria Remarque) นักเขียนชาวเยอรมัน ผู้เป็นทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) หนึ่งทศวรรษหลัง “มหาสงคราม” จบลง มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในอีก 2 ปีต่อมา ทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้ผู้คนต่อต้านสงคราม แม้หนังสือและภาพยนตร์จะถูกรัฐบาลเยอรมนีในยุคนั้นกีดกันอย่างหนัก จนผู้เขียนต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกาในที่สุดก็ตาม

ทำไมเป็น “สงครามโลกครั้งที่ 1”

อาจมีคำถามว่า การศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศผ่านภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 1 จะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ในเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาเกือบร้อยปีแล้ว…

ทั้งนี้ สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือมหาสงคราม (The Great War) ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 4 ปี คือวาระสำคัญของมนุษยชาติอย่างแท้จริง ตลอดห้วงเวลาที่สงครามดำเนินไปนั้น มีการระดมสรรพกำลังและยุทธวิธีมากมาย ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากสงครามครั้งนี้บรรลุผล มันจะยุติสงครามทั้งหมด (The war to end all wars) สงครามโลกครั้งแรกจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทั้งในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงระบบกฏหมาย

ที่สำคัญคือ ความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เกิดข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการรบ รวมไปถึงการปฏิบัติต่อเชลยศึก แม้สงครามจะไม่สามารถ “ยุติสงครามทั้งหมด” แต่ภายใต้ความสูญเสียมากมายที่เกิดขึ้น มนุษย์ได้เรียนรู้การพัฒนากลไกในการอยู่ร่วมกัน อันกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของ “ระบบกฏหมายระหว่างประเทศ” โดยเฉพาะ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law หรือ Law of Armed Conflict หรือ Law of War) ซึ่งเป็นกฎหมายควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ระหว่างที่เกิดสงคราม

จิรัตต์ จิตต์วราวงษ์ ที่ปรึกษากฎหมาย ICRC ให้ความเห็นประเด็นความสอดคล้องข้างต้นว่า แม้เรื่องราวในภาพยนตร์จะเป็นเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ถือว่า “ไม่เก่า” ที่จะใช้ศึกษากฎหมาย ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่ทุกวันนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ กฎหมายดังกล่าวยังบังคับใช้อยู่ และไม่ได้บังคับใช้เฉพาะยามสงครามเท่านั้น มีผลบังคับใช้เสมอแม้ในยามสงบ ทำให้ประเด็นด้านมนุษยธรรมในภาพยนตร์เป็นสิ่งร่วมสมัยอย่างแน่นอน ตราบใดที่สงครามและความขัดแย้งยังไม่หมดไปจากโลก

All Quiet on the Western Front บอกอะไรเราบ้าง?

ผู้ที่ชมภาพยนตร์แล้วคงทราบดีว่านี่คือการการนำเสนอภาพของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็น “Total War” หรือสงครามเบ็ดเสร็จ ที่ระดมสรรพกำลังของชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ ชัยชนะในสงคราม โดยผ่านเสียงปืนกลในแนวหน้าตัดสลับกับเสียงจักรเย็บผ้าที่กำลังซ่อมเครื่องแบบทหารในแนวหลัง

ผศ.ดร. พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ช่วยตอบคำว่า “สงครามคืออะไรกันแน่?” เพราะภาพยนตร์คล้ายกำลังบอกผู้ชมว่า สงครามเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่จบแค่แนวรบบนสมรภูมิแนวหน้าเท่านั้น แต่มันแผ่ผลกระทบไปถึงโครงสร้างภายในสังคมหรือแนวหลังของชาติผู้เข้าร่วมสงครามด้วย

อาจารย์พีระยังเอาข้อเขียนของ นอร์แมน แองเจลล์ (Norman Angell) นักเขียนชาวอังกฤษ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 1933 ผู้นิยามความหมายของสงครามในหนังสือ The Great Illusion ความว่า “สงครามคือการส่งคนที่ดีที่สุดของสังคมหนึ่งไปสังหารคนที่ดีที่สุดของอีกสังคมหนึ่ง หรือส่งคนที่ดีที่สุดของสังคมหนึ่งไปให้อีกฝ่ายสังหาร” เป็นการกระตุ้นเตือนค่านิยมของสังคมยุคนั้นที่ยังเชื่อว่าสงครามจะนำมาซึ่งเกียรติและความมั่งคั่ง

อาจารย์พีระบอกอีกว่า “พอประกาศสงคราม กลายเป็น ‘Licence to Kill’ (ใบอนุญาตฆ่า) เลย… โดยกติกาเก่ามันเปิดช่องให้คุณทำได้ ไม่มีเส้นของความผิดหรือในเชิงศีลธรรมเลยนะครับ นี่คือความพิลึกของสงคราม”

อย่างไรก็ตาม ในภาพยนตร์ “พอล” ตัวเอกของเรื่องเพิ่งสัมผัสการฆ่าคนจริง ๆ เมื่อเขาจับมีดแทงทหารฝรั่งเศส ทำให้ได้เห็นการตายของศัตรูแบบซึ่งหน้า แม้เขาจะเข้าร่วมสงครามเป็นเวลานานแล้ว ฉากดังกล่าวทำให้เราสัมผัสได้ว่า การพรากชีวิตใครสักคนไม่ใช่เรื่องปกติที่มนุษย์จะกระทำได้โดยง่าย เพราะแทบไม่มีรัฐใด ๆ ในโลกอนุญาตให้การฆ่าคน (ในยามสันติ) เป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ผศ. สิทธารถ ศรีโคตร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าถึงประเด็นนี้ว่า สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามสมัยใหม่ที่ใช้อาวุธหนักเข้าห้ำหั่นกัน เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมสงคราม อาวุธระยะไกลทำให้ทหารแต่ละฝ่ายไม่เห็นการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจนเหมือนอาวุธระยะประชิด สงครามจึงทวีความโหดร้ายยิ่งขึ้นไปอีก “สงครามเนี่ย พอระยะ (ฆ่า) ของมันไกลออกไป มันเลยฆ่าง่าย”

อาจารย์สิทธารถยังเสริมเรื่องการนำเสนอแนวคิด “ชาตินิยม” ในเรื่อง ซึ่งถูกปลูกฝังในจักรวรรดิเยอรมันมาอย่างเนิ่นนานหลายชั่วอายุคน หากใครจะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่นี้ จะต้องเข้าร่วม “มหาสงคราม” จะเห็นว่า เด็กหนุ่มในเรื่องเชื่ออย่างหนักแน่นว่ากำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกับชาติของตนเองก่อนหวนคืนบ้านเกิดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าในฐานะวีรบุรุษ แต่ความจริงไม่ได้สวยงาม พวกเขากลับได้เป็นประจักษ์พยานของความโหดร้ายในมหาสงคราม ต่างไปจากภาพฝันและสิ่งที่รัฐบาลปลูกฝังให้กับพวกเขา

“กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ปลดแอกความโหดร้ายของสงคราม

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นผลสืบเนื่องจาก อนุสัญญาเจนีวา (ฉบับแรก) ซึ่งระบุข้อตกลงเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสงครามมาตั้งแต่ พ.ศ. 2407 (ค.ศ.1864) เน้นการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการสู้รบ ในภาพยนตร์จึงมีหน่วยแพทย์ทหารติดเครื่องหมายกากบาทแดง ซึ่งรับการคุ้มครองตามข้อตกลงในอนุสัญญาฯ ตราบใดที่พวกเขาไม่หยิบอาวุธขึ้นสู้

อนุสัญญาเจนีวายังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการร่างผู้เสียชีวิต และความรับผิดชอบที่คู่สงครามมีต่อครอบครัวของทหาร หากทหารเสียชีวิตในสงครามต้องได้รับการฝังอย่างสมเกียรติ และเก็บข้อมูลเพื่อแจ้งกลับไปยังครอบครัวในแนวหลัง ดังที่เราเห็นการเก็บ “DogTag” (ป้ายประจำตัวของทหาร) เพื่อส่งกลับไปรายงานว่ามีใครเสียชีวิตไปแล้วบ้าง ในกรณีที่ถูกจับเป็นเชลย คู่กรณีมีหน้าที่ส่งข่าวไปยังอีกฝั่ง เพื่อแจ้งต่อครอบครัวของทหารผู้นั้นว่าพวกเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไร

ข้อกำหนดในอนุสัญญาเจนีวานี้ได้พัฒนาเป็นกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แม้จะมีผลบังคับใช้ในยามสงคราม แต่ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่ในยามสงบ จุดสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ข้อกฎหมายมีผลบังคับใช้กับคู่สงครามทุกฝั่ง โดยไม่จำเป็นว่าใครจะเริ่มสงครามก่อน และหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม ก็ไม่ได้แปลว่าอีกฝ่ายมีความชอบธรรมที่จะละเลยข้อปฏิบัติในอนุสัญญานั้น

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือนวัตกรรมที่มนุษยชาติสร้างขึ้นเพื่อจำกัดความโหดร้ายของสงคราม เช่นเดียวกับ สนธิสัญญาทั่วไปว่าด้วยการยกเลิกสงคราม (General Treaty for the Renunciation of War) ที่พยายามสร้างกฎกติกาของการอยู่ร่วมกันด้วยการทำสงครามเป็นสิ่งที่ผิด รัฐภาคีจะต้องร่วมประณามการทำสงคราม และไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แม้ว่าในปัจจุบันสงครามและความขัดแย้งยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่กฎหมาย ข้อตกลงระหว่างนานาชาติ รวมไปถึงวรรณกรรมและภาพยนตร์ที่ถูกผลิตขึ้นมา เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยนำพาให้มนุษยชาติร่วมกันกำหนดว่า การใช้ความรุนแรงเพื่อตัดสินปัญหาไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2566