“สมี” คำเรียกพระสงฆ์สามเณรต้องอาบัติ กับเหตุการณ์ลักลอบสวาทอันโด่งดังสมัย ร.4

พระสงฆ์ ชาวบ้าน
ภาพประกอบเนื้อหา - บุรุษตัดฟืนกำลังลงเก็บดอกบัวในสระเพื่อถวายพระมาลัย จิตรกรรมดอกบัว 8 ดอก รวมเป็นดอกเดียว

ปัจจุบันเมื่อเปิดทีวีหรือสื่อโซเชียลมีเดีย มักเห็นข่าวคราวเกี่ยวกับพระสงฆ์หรือสามเณรที่อาบัติอยู่บ่อยครั้ง ทว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่มีมาช้านาน อย่างในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ร.4 ก็มีเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งต่อมากลายเป็นคดีใหญ่โต ทั้งยังปรากฏคำเรียกติดปาก เปรียบเทียบสมณที่กระทำผิดในกามไว้ว่า “สมี”

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดคดีนี้คือ “หนังสือเพลงยาว” หรือจดหมายจากคู่รัก วันหนึ่งหญิงสาวนามว่า “อีเพ็ง” ได้พกหนังสือเพลงยาวเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ทว่าสายตาอันเฉียบคมของนายประตูกลับเห็นความผิดปกติ จึงเรียกมาตรวจสอบ ก่อนจะพบหนังสือเพลงยาวอยู่ในมือของนาง ทำให้ผู้รักษาความปลอดภัยต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากภายในพระราชวังเป็นที่ประทับของกษัตริย์ ที่พำนักของนางใน รวมถึงเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่โกนจุก กลัวว่าจะเกิดเรื่องบัดสีได้ ท้ายที่สุดรัชกาลที่ 4 ทรงออกพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ ชำระความโดยละเอียด

เมื่อกรมหมื่นวรจักรธรานุภาพสอบถามอีเพ็ง จึงได้คำตอบว่า จดหมายรักนั้นเป็นของ “อ้ายหนู” จากวัดพระเชตุพน โดยอ้ายหนูกับอีเพ็งมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่ “กุฏิ” 2-3 ครั้ง และอีเพ็งยังกระทำชำเรากับอ้ายดวงสมีที่กุฏิอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นยังมีพระสงฆ์อีกหลายรูปที่มีสัมพันธ์สวาทกับเหล่าสีกา จนถูกเรียกว่า “สมี” ดังที่ปรากฏในข้อความ

“อีเพ็งให้การว่า หนังสือเพลงยาวนี้ของอ้ายหนูวัดพระเชตุพน ตุลาการซักความต่อไป อีเพ็ง​รับเป็นสัตย์ว่า เมื่ออ้ายหนูยังเป็นสมีอยู่วัดพระเชตุพนนั้น อ้ายหนูกับอีเพ็งทำชำเรากันที่กุฎีอ้ายหนู ๒ – ๓ ครั้ง แล้วอีเพ็งซัดถึงอ้ายพึ่งสมี ว่าได้ทำชำเรากับอีเพ็งที่ห้องกุฎีด้วย อีเพ็งซัดว่าอ้ายดวงสมีได้ชำเรากับอีเพ็งหลายทีที่กุฎีอ้ายดวงสมีด้วย อ้ายทิมสมีทำชำเรากับอีปรางที่ห้องกุฏิอ้ายทิมสมีด้วย อ้ายเสือสมีทำชำเรากับอีรอดที่ห้องกุฏิอ้ายเสือสมีด้วย”

ตุลาการได้ยินคำให้การของหญิงชาวบ้าน จึงเรียกสมีทั้งหมดที่ได้รับการกล่าวหามาซักถาม และได้คำตอบว่า เรื่องที่อีเพ็งกล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นความจริง 

หลังจากได้รับฟังข้อเท็จจริงจากกรมหมื่นเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงออกพระราชโองการ ไม่ให้ภิกษุสามเณรพูดคุยกับสตรีที่กุฏิ ส่วนผู้หญิงห้ามเข้าวัดโดยเด็ดขาด และถ้าหากยังดื้อดึงที่จะไปยังพุทธสถานก็ให้ปรับเงินจำนวน 3 ตำลึง 

ทว่าชาวบ้านกลับคิดว่าเป็นเรื่องไม่จริงจัง เพราะไม่เห็นมหาดไทย กลาโหมประกาศห้าม อีกทั้งฝ่ายพระราชาคณะยังคงนิ่งเฉย ไม่ตักเตือนหรือกำชับสงฆ์สามเณรกับเรื่องที่เกิดขึ้น จึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกครั้ง นั่นคือกรณีของอ้ายเปลี่ยนสมีและอีตาบ ที่วัดอรุณ 

“เหมือนอ้ายเปลี่ยนสมีวัดอรุณ เมื่อเดือน ๑๐ ​ปีขาล ฉศกนี้ คบอีตาบขึ้นพูดจาทำชำเรากันในห้องกุฎีที่ลับครั้งหนึ่ง ข้อความที่อีตาบทำชำเรากับอ้ายเปลี่ยนทั้งสมีนั้น ก็ไม่มีผู้ใดฟ้องกล่าวโทษอีตาบกับอ้ายเปลี่ยนสมี ได้รู้ความข้อนี้เพราะอีตาบเอาหนังสือเพลงยาวไปในพระราชวัง นายประตูจับตัวอีตาบได้ โปรด ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวรจักรธรานุภาพชำระ อ้ายเปลี่ยนสมอีตาบให้การรับเป็นสัตย์ ว่าได้ทำชำเรากันทั้งเป็นสมบนกุฎีวัดอรุณราชวรารามครั้งหนึ่ง”

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ ร.4 ทรงออกพระราชโองการอีกครั้งให้ชัดเจนและหนักแน่นยิ่งขึ้น พระองค์รับสั่งไปยังพระราชาคณะ พระครูฐานา เจ้าอธิการ โดยตรง ไม่ให้สงฆ์สามเณรพูดคุยกับอิสตรีบนกุฏิ ทั้งยังทรงแต่งตั้งให้กรมทหารขวาซ้ายเป็นกองกำลังจับภิกษุสามเณรที่ข้องเกี่ยวกับหญิงสาว และถ้าหากยังมีสมณรูปใดข้องเกี่ยว ภิกษุสามเณรใกล้เคียงก็จะโดนปรับโทษเสมอหญิงที่เข้ามาพูดคุยด้วย

หมายเหตุ : เน้นคำพูดโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

อ่่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :  

https://vajirayana.org/ศาลไทยในอดีต/เรื่องของ-“สมี”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2566