ดูหลักฐาน “นครโสเภณี” ในไทย ความเสี่ยงของหนุ่มซื้อบริการยุคสุโขทัย ถึงหญิง “โคมเขียว”

สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)
ภาพประกอบเนื้อหา - สำเพ็ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเกลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)

ว่ากันว่า “โสเภณี” เป็นของคู่กับโลก คือมีมาตั้งแต่สมัยสร้างโลก สำหรับประเทศไทยปัจจุบันได้มีการยกเลิกการจดทะเบียนหญิงนครโสเภณีแล้วโสเภณีจึงเป็นหญิงผิดกฎหมาย แต่ถึงกระนั้นโสเภณีก็ยังมีอยู่ทั้งในแบบขนานแท้และดั้งเดิมคือชนิดอยู่ซ่องก็มีหรือชนิดนางบังเงาก็มี กับแบบใหม่ซึ่งมาในรูปของบริการ เช่น นางในร้านอาหาร หรือบริการนวด อาบ อบและนางโทรศัพท์ เป็นต้น

สำเพ็ง สมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้า ยังเป็นแหล่งเที่ยวหญิงโสเภณี (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2556)

ส่วนในอดีต เมืองไทยได้มีหญิงโสเภณีมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่จะเห็นในปลายสมัยกรุงสุโขทัย เพราะในหนังสือกฎหมายโบราณ “ลักษณะผัวเมีย” ซึ่งบัญญัติขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ต้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1904 ได้มีการกล่าวถึงหญิงนครโสเภณีในบทที่ 6 ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“มาตราหนึ่ง ชายใดสู่ขอเอาหญิงขับคนรำเที่ยวขอทานเลี้ยงชีวิต แลหญิงนครโสเภณีมาเลี้ยงเป็นเมีย ทำชั่วเหนือผัวก็ดี….ผัวรู้ด้วยประการใดๆ พิจารณาเป็นสัจไซ้ ท่านให้ผจานหญิงชายนั้นด้วยไถนา

ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉะบาทั้งสองหูร้อยดอกฉะบาแดงเป็นมาไลยใส่ศีศะใส่คอแล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถนาสามวัน ถ้าแลชายผัวมันยังรักเมียมันอยู่มิให้ผจานไซ้ ท่านให้เอาชายผู้ผัวนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง หญิงอยู่ข้างหนึ่ง อย่าปรับไหมชายชู้นั้นเลย”

จากข้อความข้างต้นทำให้รู้เพิ่มว่า หนุ่มๆ สมัยโน้นต้องเสี่ยงภัยมากในการเที่ยวหญิงโสเภณี เพราะดีไม่ดีอาจจะต้องถูกเอาตัวเข้าเทียมแอกไถนาแทนควาย

กฎหมายลักษณะผัวเมียนี้ปรากฏว่าใช้มาจนกระทั่งถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478 จึงได้เลิกใช้เมื่อเปลี่ยนใช้ประมวลแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 แทน

เห็นได้ว่านครหญิงโสเภณีในเมืองไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมีตลอดมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์

ในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 หญิงโสเภณีในสมัยนั้นชาวบ้านทั่วๆ ไปเรียกว่า “หญิงคนชั่ว” เป็นส่วนมาก แต่บางทีก็เรียกว่า “หญิงโคมเขียว” ส่วนซ่องเรียกว่า “โรงหญิงคนชั่ว” หรือ “โรงหญิงโคมเขียว”

สาเหตุที่เรียก “หญิงโคมเขียว” เพราะในสมัยนั้นซ่องส่วนมากมักจะแขวนโคมสีเขียวไว้เป็นสัญลักษ์หน้้าซ่อง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อตามลักษณะของโคมที่แขวน

ค่าบริการก็มีหลายอัตรา ราคาต่ำสุดเพียง 2 สลึงเท่านัั้น ราคาสูงสุดเพียง 1 บาท อย่างไรก็ตามราคาดังกล่าวเป็นเพียงอัตราการใช้บริการของคนไทยและจีน ถ้าเป็นการใช้บริการของฝรั่งหรือญี่ปุ่นราคาบริการก็สูงขึ้นไปอีกคือ ชั่วคราว 2 บาท เหมาตลอดคืน 4 บาท

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “กรุงเทพฯ ในอดีต” เขียนโดย เทพชู ทับทอง


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2560