รู้จัก “คนพวง” และการใช้งาน “คุก” กับ “ตะราง” สมัยอยุธยาที่แตกต่างกัน

คนพวง นักโทษ สมัย รัชกาลที่ 5
คนพวงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯ แห่งความหลัง)

ในสมัยโบราณ “นักโทษ” ที่ทางการจ่ายออกมาทำงานนอก “คุก” จะถูกใส่พวงคอหรือร้อยด้วยโซ่ติดกันเป็นพวงๆ เพื่อสะดวกในการคุม ชาวบ้านเรียกนักโทษดังกล่าวว่า “คนพวง” คือเรียกตามลักษณะคนที่ถูกจองจำดังกล่าว

จากหนังสือ “ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา” ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า ผู้แต่งเกิดทันสมัยครั้งกรุงศรีเป็นราชธานี แต่มาแต่งหนังสือในกรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรส่งหนังสือให้พระยาโบราณราชธานินทร์เมื่อครั้งยังเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยาสอบสวน โดยในหนังสือกล่าวถึงนักโทษและคุกในกรุงศรีอยุธยาว่า

“…อนึ่งมีคุกสำหรับใส่คนโทษโจรผู้ร้ายปล้นสะดมแปดคุกมีตะรางหน้าคุกสำหรับใส่ลูกเมียผู้ร้ายทุกหน้าคุก ซึ่งโทษเบาเป็นแต่โทษเบดเสฐ ใส่โซ่พวงละเก้าคนสิบคนใช้ทำราชการเมืองที่ีโทษหนักต่อวันพระห้าค่ำแปดค่ำสิบเอ็ดค่ำสิบห้าค่ำ จึงใส่พวงคอละญี่สิบสามสิบคน และเมียผู้ร้ายนั้นใส่กรวนเชือกผูกเอวต่อกันไปผูกติดท้ายพวงคอออกมาเที่ยวขอทานกิน…”

จากข้อความดังกล่าวนอกจากจะทำให้เราทราบสภาพของนักโทษในสมัยนั้นแล้ว ยังทำให้เราทราบอีกด้วยว่า คุก กับ ตะราง เมื่อก่อนนั้นมีความหมายต่างกันคือ คุกใช้สำหรับกักขังนักโทษ ส่วนตะรางใช้สำหรับขังเมียของนักโทษ

แต่ตะรางดังกล่าวคงจะไม่ได้ขังเพียงเมียของนักโทษเท่านั้น คงจะขังญาติพี่น้องของนักโทษด้วยเป็นแน่ เพราะจากหนังสือ “เรื่องกฎหมายเมืองไทย” ฉบับพิมพ์ของหมอบลัดเลใน “พระราชกำหนดเก่า” จุลศักราช 1094 (พ.ศ.2275) ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าจับ “อ้ายผู้ร้าย” ไม่ได้ก็ให้จับลูกเมีย พ่อแม่ พี่น้อง พ่อตา แม่ยาย พวกพ้องเพื่อนฝูงมาจำแทน โดยถ้าเป็นชายก็ให้ใส่คาไว้ถ้าเป็นหญิงก็ให้ใส่ขื่อไว้

อนึ่ง ในพระราชกำหนดเก่าได้บัญญัติไว้ด้วยว่า ถ้าอ้ายผู้ร้ายลักของพระหรือโจรปล้นสะดมลักช้าง ม้า รับเป็นสัตย์ให้ขังคุกไว้และจำ 5 ประการคือ คา, โซ่, ตรวน ร้อยคอและร้อยเท้าจนกว่าจะตาย เท่ากับติดคุกไม่มีวันออกนั่นเอง

นอกจากนั้นยังบัญญัติการลงโทษอีกว่า ถ้าโทษปล้นสะดมครั้งหนึ่งให้ตัดหูข้างหนึ่ง ถ้าครั้งสองให้ตัดหูอีกข้างหนึ่งถ้าครั้งที่สามให้ฆ่าเลย ส่วนโทษเบาลงก็ให้สักหน้าสักอกแล้วให้ติดพวงคือเป็น “คนพวง” จ่ายใช้ราชการในคุก นอกคุกเฉพาะเวลากลางวันส่วนกลางคืนให้จำใส่คุกไว้ แต่โทษปล้นสะดมให้จำคุกไว้ทั้งกลางวันกลางคืนคือ ห้ามไม่ให้พาออกมานอกคุกอย่างเด็ดขาด

ถ้าโทษลักพระราชทรัพย์ในพระราชวัง โดยซื้อขายกันในพระราชวังให้ตัดตีนตัดมือ ให้ตัดตรงคุ้งข้อหรือที่ข้อตีนข้อมือ ถ้าลักออกไปนอกพระราชวังให้ฆ่าทั้งโจรและนายประตู “ถ้าทรงพระกรุณาบให้ฆ่าตี…ให้ไหมโจรจัตรคูณ….”

ดังนั้น “คนพวง” ที่ทางคุกจ่ายออกมาทำงานนอกคุกบางคนจึงเป็นคนพิการ หูขาด มือขาด หลังลาย เพราะถูกทวน (ตี) ด้วยลวดหนัง และผอมโซด้วยความอดอยาก

คนพวงมีมาจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 ก็ยังมีคนพวงอยู่ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคุกใหม่ (ปัจจุบันเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร) โดยรื้อคุกเก่าที่สวนเจ้าเชตุ (ปัจจุบันเป็นกรมการรักษาดินแดน) คนพวงจึงหมดไป

สำหรับการจ่ายคนพวงออกมาทำงานนั้น ในสมัยอยุธยากรมพระนครบาลใช้ให้ทำนา ทำสวน เลี้ยงช้าง ม้า โค กระบือ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้ให้ทำงานโยธาต่าง ๆ เช่น ทำความสะอาดวัด และถนนหนทาง เป็นต้น แต่คนพวงสมัยหลังนี้มือเท้าไม่ขาดเหมือนสมัยโบราณแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ แห่งความหลัง. อักษรบัณฑิต (ไม่ได้ระบุปีพิมพ์).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2559