การประหารชีวิตนักโทษ สมัยรัชกาลที่ 5 ในบันทึกต่างชาติ

ภาพนักโทษฉกรรจ์สมัยต้นศตวรรษที่ 20 จากหนังสือ The Country and People of Siam โดย Karl Döhring

บทความนี้คัดย่อบางส่วนจาก “ท้องถิ่นสยาม ยุคพระพุทธเจ้าหลวง” (สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2543)
ที่เสฐียร พันธรังษี และอัมพร ทีขะระ แปลจาก “Temples and elephants” ของคาร์ บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ เข้ามาสำรวจภูมิศาสตร์ของไทย เมื่อ พ.ศ. 2424 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 5 ผลงานชิ้นนี้ของบ็อคได้รับการชมเชย และการเชื่อถือจากสมาคมวิชาการของประเทศต่างๆ ในยุโรป และอเมริกา

เนื้อหาในเล่มนอกจากเรื่องราวทางภูมิศาสตร์ บ็อคยังกล่าวถึงสภาพบ้านเมือง สังคม และวัฒนธรรม ฯลฯ ที่เขาพบเห็น ส่วนเนื้อหาที่คัดย่อมานี้เป็นเรื่อง “การประหารชีวิตนักโทษ” ในย่านชุมชนของกรุงเทพฯ ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

Advertisement

 

วันที่ 15 ตุลาคม เมื่อข้าพเจ้ากลับจากรับประทานอาหารกลางวันกับมิสเตอร์ทอร์เรย์แห่งสถานทูตอเมริกันและภรรยาผู้อารีของเขา มิสเตอร์โซโลมอนก็มาเคาะที่ประตูและบอกว่า “มิสเตอร์บ็อค วันนี้จะมีการประหารชีวิตนักโทษ เร็วๆ เข้าเถิด ผมมีรถรออยู่แล้ว เรารีบไปดูกันเดี๋ยวนี้เถอะ”

เรื่องนี้มีอยู่ว่า เมื่อราว 2 สัปดาห์ที่แล้วมา ในกรุงเทพฯ ตื่นเต้นตกใจกันมากเพราะเกิดฆาตกรรมอันน่าสยดสยองขึ้นรายหนึ่ง ผู้ต้องหาเป็นภรรยาของชายผู้มีตระกูลคนหนึ่ง ได้กระทำฆาตกรรมคนใช้ของตนเอง

รายละเอียดของการฆาตกรรมและวิธีที่ใช้ฆาตกรรมนั้นสยดสยองน่ารังเกียจจนข้าพเจ้าไม่สามารถนำมาเล่าเป็นลายลักษณ์อักษรได้ แต่ก็มีหลักฐานอยู่พร้อมมูลว่าความหึงหวงเป็นสาเหตุ และผลที่เกิดขึ้นก็คือการฆาตกรรมอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรมที่สุดครั้งนี้ในที่สุด ได้มีการพิจารณาคดีกันจนเรียบร้อยและพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งปกติไม่ค่อยเต็มพระทัยในการลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งประหารชีวิตนัก ก็มิได้ทรงรีรอเลยสำหรับคดีรายนี้

ตามธรรมเนียมการประหารชีวิต จะต้องนำหญิงนักโทษจำโซ่ตรวนไปเดินร้องประจานความชั่วร้ายและโทษทัณฑ์ของตนเสียก่อนที่จะถึงวันประหาร 3 วัน มีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เกิดข่าวลือว่าจะไม่มีการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาล แต่วันนี้ก็ถึงวันประหารแล้ว และเจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติการตามกฎหมาย ดังนั้น เราจึงรีบขับรถไปวัดโคก (วัดพลับพลาไชย) วัดซึ่งใช้เป็นที่ประหาร ถนนสายนั้นมีคนแน่นไปทั้งผู้ชายผู้หญิงและเด็กพากันตื่นมาดูการประหารชีวิตซึ่งจะได้กระทำกันในเวลาบ่ายสามโมง

ในตรอกแคบๆ ระหว่างถนนใหญ่กับลานประหาร คนยิ่งเบียดกันแน่นขึ้นมา มีทั้งไทย จีน มลายู และชาวยุโรปอีกสองสามคน พยายามจะแหวกทางเข้าไปด้วยหวังจะดูหญิงใจอำมหิตคนนั้นให้ได้ ได้ยินเสียงถามกันอยู่ขรมทั่วไปว่า “นักโทษอยู่ที่ไหนกันนะ” “บางทีจะอยู่ที่ศาลาโน้นกระมัง” มิสเตอร์โซโลมอนบอกกับข้าพเจ้า “ผมเห็นมีทหารหมู่หนึ่งมารักษาการณ์อยู่ทางโน้น”

ด้วยเหตุนี้ เราจึงจะต้องพยายามหาทางเบียดคนแหวกทางเข้าไปให้ได้ และผู้คนก็แน่นขนัดอย่างข้าพเจ้าไม่เคยเห็นมาก่อนเลย มุงกันอยู่รอบศาลาซึ่งเป็นที่พักแหล่งสุดท้ายของหญิงนักโทษประหาร ที่นั่นมีทหารมายืนรักษาระเบียบอย่างกวดขันอยู่หลายคน แต่ไม่มีระเบียบข้อบังคับอะไรให้รักษาเลย และถึงจะออกระเบียบข้อบังคับไปอย่างไร ก็ไม่มีใครเชื่อฟังอยู่นั่นเอง

ผู้คนหลีกทางให้นิดหนึ่งเมื่อมิสเตอร์โซโลมอนซึ่งแต่งเครื่องแบบผู้กำกับการตำรวจเต็มที่แหวกผู้คนเข้าไป มีตัวข้าพเจ้าตามหลังไปติดให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราขึ้นไปบนศาลาที่นักโทษประหารนั่งอยู่กับพื้น ที่คอมีไม้ท่อนยาวๆ ผูกกระหนาบอยู่ทั้งสองข้าง และยังมีท่อนไม้สั้นสอดขวางระหว่างไม้สองท่อนนี้อีกทีหนึ่งอยู่ที่ใต้คางท่อนหนึ่งจนยื่นศีรษะออกมาไม่ได้ ปลายไม้นั้นยาวจดถึงพื้นแล้วยังมีไม้มาขัดไว้อย่างเดียวกันอีก ที่ข้อมือนักโทษก็ใส่กุญแจเหล็ก และข้อเท้าก็ตีตรวนล่ามโซ่หนักๆ ไว้ ข้าพเจ้าเข้าไปอยู่ใกล้ๆ ห่างกันเพียง 2 ฟุต

แต่นักโทษนั่งก้มหน้าดูพื้น มีครั้งหนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้นที่เหลียวไปมองรอบๆ ดูคล้ายกับจะมีการให้ยาระงับประสาทอย่างแรงแก่นักโทษด้วย เพราะดูนักโทษซบเซาแทบจะไม่รู้สึกตัวเอาเลย มีเพื่อนหญิง 3 คนนั่งอยู่รอบข้างคอยพูดปลอบโยนไม่ให้ตกใจกลัว และบอกว่าอีกไม่ช้าก็จะได้เป็นสุขแล้ว

นอกจากนั้นมีพระองค์หนึ่งเทศน์อยู่ตรงหน้า แต่นักโทษไม่สนใจฟังเลยแม้แต่น้อย ส่วนที่น่าสงสารที่สุดของนักโทษก็คือหลัง เพราะหล่อนถูกเฆี่ยนอย่างแรงที่สุดด้วยเชือก 3 ยกมาแล้ว เป็นจำนวน 30 ที ซึ่งนับว่าเป็นการลงโทษอย่างหนักที่สุดที่เคยมีมา และเป็นการลงโทษขนาดหนักที่หลายคนถึงกับไม่รอด

เมื่อได้ดูจนทั่วมากกว่าที่เราต้องการแล้ว เราก็เลยไปดูสถานที่ประหารชีวิตกันต่อไป ตอนนี้ผู้คนซึ่งเบียดเสียดกันอยู่ที่ศาลายิงแน่นมากขึ้นจนมิสเตอร์โซโลมอนและข้าพเจ้าต้องเบียดแทรกออกมาด้วยความลำบากยากเย็นกว่าขาเข้าหลายเท่านัก อย่างไรก็ตาม พอเราเดินไปถึงกลางทุ่งพลันได้ยินเสียงโครมใหญ่ดังอยู่ข้างหลัง พื้นศาลาด้านหนึ่งพังลงมา คนกลุ่มหนึ่งล้มกลิ้งทับกันลงมาด้วย แต่เคราะห์ดีที่ไม่มีใครเป็นอันตราย และเมื่อหายตื่นเต้นกับอุบัติเหตุแล้วก็ถึงเวลาประหาร

ผู้คุมนักโทษมีทหารคุ้มกันอีกชั้นหนึ่งนำนักโทษออกมาจากศาลาเมื่อเวลา 3 โมงตรง ทหารต้องเข้าไปยืนกันคนให้มีที่ว่างไว้ตรงกลางเพื่อให้เป็นที่นั่งของนักโทษ เจ้าหน้าที่ถอดขื่อคาที่สวมคอนักโทษออกให้หันศีรษะได้สะดวก แล้วออกคำสั่งให้นักโทษนั่งลงกับพื้นหันหลังให้เสาไม้เล็กๆ สองต้น

เพชฌฆาตคนหนึ่งตรงเข้ามัดตัวและแขนนักโทษติดไว้กับเสาสองต้นนั้น มีเพชฌฆาตทำหน้าที่ประหารถึง 6 คน ด้วยกัน ทุกคนสวมเสื้อแดงติดลูกไม้ทองที่ชายเสื้อและใส่หมวกแดงที่หน้าผากเจิมด้วยฝุ่นหรือดินสอพองสีขาว ซึ่งข้าพเจ้าไม่รู้เหมือนกันว่ามีความหมายอย่างไร เพชฌฆาตแต่ละคนมีดาบญี่ปุ่นคมปลาบติดมาในมือด้วย

ข้าพเจ้าถามเขาว่าทำไมจึงต้องมีเพชฌฆาตหลายคนนัก มิสเตอร์โซโลมอนได้อธิบายให้ฟังว่าเอามาสำรองไว้ ถ้าเพชฌฆาตที่หนึ่งหรือเพชฌฆาตที่สองเกิดฟันพลาดขึ้น ข้าพเจ้าพยายามเบียดเข้าไปอยู่ในหมู่ผู้ดูแถวหน้าซึ่งเป็นพวกข้าราชการและดูอยู่ติดๆ กับพระอนุชาองค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้เห็นเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

เมื่อเพชฌฆาตคนแรกผูกนักโทษติดกับเสาแล้วก็เตรียมตัดศีรษะโดยการตัดผมยาวของหญิงนักโทษออกเสียก่อน เพื่อให้มองเห็นคอได้ถนัด ต่อจากนั้นก็หยิบดินเหนียวมาคลึงกับฝ่ามือแล้วแบ่งออกเป็นก้อน ส่วนหนึ่งเอาอุดหูนักโทษไว้เพื่อที่จะให้ไม่ได้ยินเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น อีกส่วนเอาอุดจมูกนักโทษ เพชฌฆาตก็เอาดินเหนียวอีกก้อนหนึ่ง แปะไว้ตรงตำแหน่งที่จะลงดาบ ตลอดเวลาที่เตรียมการอยู่นี้หญิงนักโทษ ก็ตะโกนร้องอยู่ว่า “ฆ่าฉันเสียเร็วๆ ฆ่าฉันเสียเร็วๆ”

ต่อจากนั้นก็มีการรำดาบก่อนประหาร พวกเพชรฆาตพากันเดินไปอยู่ไม่ไกลจากนักโทษ แกว่งดาบอยู่ไปมาแล้วว่าดาบถอยหน้าถอยหลังราวครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง แล้วเพชฌฆาตที่หนึ่งก็วิ่งเข้ามาฟันอย่างแรงทีเดียว จนศีรษะขาดเลือดพุ่งออกมาจากร่างที่ไม่มีหัวราวกับน้ำพุ ส่วนหัวก็กลิ้งตามพื้นดินมาหยุดอยู่ตรงหน้าเราพอดี แทบจะมาโดนเท้าของพวกเราเสียด้วยซ้ำ

ผู้คนเริ่มทยอยออกไปกันช้าๆ มีเสียง พูดกันพึมพำว่า “มันได้รับผลกรรมของมันแล้ว” ไม่มีคำพูดแสดงความสงสารหญิงคนนั้นสักคำเดียว แม้แต่ในหมู่ญาติพี่น้องของหล่อนเองก็ไม่มี

พวกเพชฌฆาตได้จัดการทำธุระให้เสร็จต่อไป แทนที่จะถอดโซ่ตรวนรอบข้อเท้าหญิงผู้ตายออก เขากลับตัดข้อเท้าออก โซ่ตรวนก็หลุดลงมาเอง แล้วจึงตัดร่างออกเป็นชิ้นๆ แล่เนื้อออกจากกระดูก เช่นเดียวกับศพคนเข็ญใจที่วัดสระเกศที่ข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังแล้ว ตับไตไส้พุงก็ทิ้งไว้ให้เป็นทานแก่ฝูงแร้งฝูงกา แต่ศีรษะผู้ตายนั้นเอาไปเสียบไม้ไผ่ลำยาวปักประจานไว้ให้มองเห็นได้ไกลๆ ตามที่เคยปฏิบัติกันมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 28 พฤศจิกายน 2565