ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวบ้าน “บางระจัน” ผู้รวมตัวกันต่อสู้กับกองทัพพม่า ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ กรุงศรีอยุธยา กำลังประสบปัญหารุมเร้าทางการเมือง และอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลาย คนเหล่านี้จับดาบและอาวุธเท่าที่หาได้ลุกขึ้นต่อสู้กับศัตรู เพื่อปกป้องมาตุภูมิด้วยความหาญกล้า ทำให้ได้รับการยกย่องว่า นี่คือ “วีรกรรม” ปกป้องชาติบ้านเมือง ที่มีเกียรติและน่าภาคภูมิใจ
บางระจัน
คำถามคือ สิ่งที่ชาวบ้านบางระจันกำลังปกป้องคืออะไรกันแน่ พวกเขาเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าว่า “ชาติ” จริงหรือ หรือกำลังทำเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินตนเองเท่านั้น?
“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ “สมฤทธิ์ ลือชัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภูมิภาคอุษาคเนย์ ชวนตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์กับทุกประเด็นที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ตั้งข้อสงสัย โดยเลือกหยิบยกวีรกรรมของบรรพชนไทยในอดีต อย่างประเด็นเรื่อง “‘บางระจัน’ วาทกรรมประดิษฐ์เรื่อง ‘ชาตินิยม’” มาวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา ไขความกระจ่าง ตีแผ่ความจริง พร้อมการถ่ายทอดอย่างน่าสนใจ ชวนติดตาม และย่อยง่าย
อาจารย์สมฤทธิ์ อธิบายว่า แท้จริงแล้วหมู่บ้านบางระจัน ไม่ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเพื่อ “ชาติ” แต่เกิดมาเพื่อความอยู่รอดของตนเอง และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมความคิด “ชาตินิยม” ในช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
“การรวมกลุ่มกันอย่างนี้ไม่ใช่เฉพาะที่ ‘บางระจัน’ ผมไปค้นในเอกสารแล้วก็ไปสำรวจตรวจสอบมา ในเส้นทางเดินออกจากนครศรีอยุธยาของพระเจ้ากรุงธนบุรี ท่านหนีออกจากอยุธยา เจอทัพพม่าแค่ 3 ครั้ง แต่เจอกลุ่ม-ก๊ก ของพวกเรากันเองถึง 7 ก๊ก…
ถ้าเรามองอย่างนี้ จะมีก๊กแบบบ้านบางระจันเต็มไปหมด พูดง่าย ๆ คือ ถ้าคุณไม่รวมกลุ่มกัน มันมีทางรอดอยู่ 2 ทาง คือ ไปเข้ากับพม่า หรือหนีเข้าป่า อาจเป็นกลุ่มเล็ก ๆ พอจะรอดได้ แต่ถ้าอยู่นาน ๆ จะเอาที่ไหนมากิน ลำบากอีก แต่ถ้าจะอยู่ ต้องรวมกลุ่มกันเหมือนบ้านบางระจัน …”
สำหรับพระเจ้าตากฯ ณ เวลานั้นไม่ใช่แค่พม่าที่เป็นศัตรู แต่ก๊กของคนไทยเองก็เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะมีหลายกลุ่มก๊กตามรายทางที่พระองค์ต้องจัดการ เช่น ขุนรามหมื่นซ่องที่บ้านประแสร์, พระยาจันทบุรี, จีนเจียม นายสำเภาใหญ่ที่ทุ่งใหญ่ เมืองตราด ล้วนอยู่นอกบทเรียนเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งระบุว่า มีก๊กเจ้าพระฝาง ก๊กพิษณุโลก ก๊กพิมาย ก๊กเมืองนครศรีธรรมราช แต่เหล่านี้คือกลุ่มท้าย ๆ ที่ไม่ยอมสลายตัวหรือสวามิภักดิ์กับพระเจ้าตากฯ
อาจารย์สมฤทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า “ก่อนอยุธยาจะแตก บ้านเมืองระส่ำระสาย… บ้านบางระจันที่เขารวมกลุ่มกัน เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของเขาเอง นี่คือเป้าหมายใหญ่มาก ทำไมเขาถึงมีความมั่นใจ? เพราะเขาได้ขวัญและกำลังใจจากพระอาจารย์ธรรมโชติ ศาสนามารับใช้สังคมตรงนี้…”
การรวมกลุ่มเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านบางระจันนั้น จะหนักแน่นขึ้นเมื่อเราเทียบกับข้อมูลที่ว่า แท้จริงแล้วความคิด ชาตินิยม ยังไม่เกิดขึ้นในสมัย กรุงศรีอยุธยา คือยังไม่มี “ชาติ” นั่นแหละ และในเมื่อไม่มีชาติ พวกเขาจะต่อสู้เพื่อชาติได้อย่างไร เพราะชาติเพิ่งเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ก่อนจะเข้มแข็งเป็นแนวคิดชาตินิยมในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม
เช่นนั้นความวิจิตรพิสดารของ วีรกรรม “บ้านบางระจัน” ถูกผลิตซ้ำเพราะอะไร? มีเหตุผลหรือเป้าหมายใดซุกซ่อนอยู่ในการนำเสนออันทรงพลังเหล่านี้…
ติดตามได้ใน PODCAST นี้ :
อ่านเพิ่มเติม :
- สอบหลักฐานไทย-พม่า ชาวบ้าน ‘บางระจัน’ สู้เพื่อใคร?
- “ลิลิตดั้นสดุดีบ้านบางระจัน” เปลี่ยนขนบวรรณกรรม จากสดุดีกษัตริย์ มาสดุดีสามัญชน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2566