“ศึกลำน้ำเฝย” น้อยชนะมาก เมื่อกำลังพลนับล้านพ่ายให้หลักหมื่น

ศึกลำน้ำเฝย

ประวัติศาสตร์จีนยุคโบราณเต็มไปด้วยสงคราม การชิงความเป็นใหญ่ และบ่อยครั้งที่บทสรุปของสงครามเปลี่ยนวิถีประวัติศาสตร์จีนไปอย่างสิ้นเชิง บางครั้งเป็นสงครามแบบ “น้อยชนะมาก” หรือการ “ล้มยักษ์” ที่พลิกให้ฝ่ายเคยเป็นต่อต้องปราชัย หนึ่งในนั้นคือ “ยุทธการเฝยสุ่ย” หรือ ศึกลำน้ำเฝย (Battle of Fei River) สงครามสมัย ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317-420) อันเป็นความพ่ายแพ้ของ “ฝูเจียน”

ศึกลำน้ำเฝย เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้แผนรวมประเทศต้องชะงักงัน และช่วงเวลาแห่งความเป็นเอกภาพของแผ่นดินจีนต้องรอต่อไปอีกหลายร้อยปี ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้นำชาวฮั่น (ราชวงศ์จิ้น) หยุดยั้งการขยายอิทธิพลลงใต้ของชนเผ่านอกด่านจากทางเหนือได้

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนและนักอ่านวรรมกรรมอมตะอย่าง “สามก๊ก” คงคุ้นเคยกับชื่อราชวงศ์จิ้นกันดี ในฐานะราชวงศ์ที่ปกครองจีนหลังยุคสามก๊กสิ้นสุดลง เพราะแผ่นดินรวมเป็นหนึ่งอีกครั้งภายใต้การปกครองของตระกูลซือหม่า หรือสุมา มี ซือหม่าหยาน (สุมาเอี๋ยน) เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ และเถลิงพระนามเป็นฮ่องเต้นามว่า จิ้นอู่ตี้

อย่างไรก็ตาม ความเป็นเอกภาพของจีนดำรงอยู่ไม่นานนัก เพียงรัชสมัยเดียวหลังพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ ราชสำนักของพระเจ้าจิ้นฮุ่ยตี้ ฮ่องเต้องค์ถัดมา เต็มไปด้วยความโกลาหล มีการช่วงชิงอำนาจภายในราชตระกูลซือหม่า เกิดสงคราม 8 อ๋อง ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อหลายปีจนทำให้บ้านเมืองระส่ำระสาย ราชวงศ์จิ้นอ่อนแอลงสุดขีด ทั้งเกิดกบฏ 5 ชนเผ่าต่อต้านราชวงศ์จิ้น ภาคกลางและภาคเหนือของจีนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เรียกว่ายุค 16 อาณาจักร เพราะราชสำนักไม่สามารถควบคุมดินแดนเหล่านี้ได้เลย

เมื่อภาคกลางกับภาคเหนือเต็มไปด้วยไฟสงคราม เหล่าขุนนาง ตระกูลใหญ่ และประชาชนพากันอพยพข้ามแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) ลงใต้เป็นจำนวนมาก คริสต์ศักราช 317 หลังจากหลิวเย่า ผู้นำเผ่าซงหนูและเจ้าผู้ครองแคว้นฮั่นพิชิตกรุงฉางอาน ราชธานีของราชวงศ์จิ้นได้สำเร็จ ซือหม่ารุ่ย ราชนิกุลราชวงศ์จิ้นจึงสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้พระองค์ใหม่ มีนครเจี้ยนคัง (ต่อมาคือหนานจิง) เมืองทางใต้ค่อนมาทางตะวันออกเป็นราชธานี นักประวัติศาสตร์เรียกยุคสมัยนี้ว่า ราชวงศ์จิ้นตะวันออก

ราชวงศ์จิ้นตะวันออก มีอำนาจอยู่เพียงภาคใต้ หรือดินแดนทางใต้ของแม่น้ำฉางเจียงเท่านั้น เป็นดินแดนที่มีประชากรและทรัพยากรน้อยกว่าที่ราบภาคกลาง ซึ่งยังคุกรุ่นไปด้วยความขัดแย้งของบรรดาเจ้าแคว้นต่าง ๆ อยู่

หลังจากสามารถสถาปนาอำนาจได้อย่างมั่นคงแล้ว ราชวงศ์จิ้นพยายามส่งกองทัพขึ้นไปปราบปรามดินแดนทางเหนืออยู่หลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องถอยร่นลงมาทางใต้เช่นเดิม ทั้งนี้ การสนับสนุนจากบรรดาขุนนางและตระกูลใหญ่ทั้งหลายที่มีต่อราชวงศ์จิ้นตะวันออก ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะทำให้พวกเขาสามารถยืนหยัดอยู่ในดินแดนทางใต้อย่างมั่นคง ในขณะที่แดนเหนือยังไร้ซึ่งเอกภาพ

กระทั่งภายหลัง “แคว้นเฉียนฉิน” รวบรวมจีนตอนเหนือเป็นหนึ่งเดียว สถานภาพของราชวงศ์จิ้นจึงเริ่มอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอีกครั้ง

ศึกลำน้ำเฝย

แคว้นเฉียนฉินนั้นสถาปนาโดย ฝูหง ผู้นำเผ่าตี เป็น 1 ใน 5 ชนเผ่าแห่งยุค 16 อาณาจักร “ฝูเจียน” หลานของฝูหง คือผู้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการทำสงครามรวบรวมอาณาจักรต่าง ๆ ทางเหนือสิบกว่าแคว้นจนอยู่ภายใต้อาณาจักรเฉียนฉินได้สำเร็จ โดยมีศูนย์กลางอำนาจที่กรุงฉางอาน ราชธานีเก่าของราชวงศ์จิ้น

การรวมดินแดนทางเหนือของแคว้นเฉียนฉิน ทำให้เกิดการคุมเชิงทางอำนาจระหว่างราชวงศ์จิ้นตะวันออกกับอาณาจักรเฉียนฉิน ฝูเจียนนั้นต้องการพิชิตราชวงศ์จิ้นอยู่แล้ว เพราะนั่นหมายถึงการรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่ง ทั้งอาณาจักรเฉียนฉิน ณ ช่วงเวลานั้นยังพรั่งพร้อมสรรพกำลังและทรัพยากรมากมายจากภาคกลางและภาคเหนือของจีน

คริสต์ศักราช 382 ฝูเจียน อ๋องแห่งอาณาจักรเฉียนฉิน หารือกับขุนนางเรื่องการกำราบราชวงศ์จิ้นตะวันออก ปรากฏว่าขุนนางส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าสถานการณ์ฝ่ายราชวงศ์จิ้นไม่เป็นใจนัก เพราะจักรพรรดิและขุนนางค่อนข้างกลมเกลียวกัน ทั้งยังมีแม่น้ำฉางเจียงเป็นปราการธรรมชาติ ขณะที่อาณาจักรเฉียนฉินเพิ่งผ่านพ้นสงครามรวมแดนเหนือ หัวเมืองและแว่นแคว้นทั้งหลายต้องการเวลาฟื้นฟูตนเอง การด่วนบุกโจมตีแดนใต้ทันทีไม่ใช่วิถีที่เหมาะสมนัก

แต่ฝูเจียนนั้นเต็มไปด้วยความปรารถนา เขาคือผู้พิชิตแดนเหนือ มีความมั่นใจและความทะเยอทะยานสูง จึงตอบโต้ข้าราชบริพารว่า “ในตอนแรกซุนฮ่าว (ซุนโฮ – ผู้นำง่อก๊กในยุคสามก๊ก) เจ้าผู้ครองแคว้นอู๋ก็มีแม่น้ำฉางเจียงเป็นสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติ แต่ก็ถูกโค่นล้มจนสูญสิ้นไปเหมือนกันไม่ใช่หรือ ตอนนี้ข้ามีกำลังพลนับล้านนาย เพียงแค่ทุกคนโยนแส้ม้าในมือลงแม่น้ำ ก็สามารถตัดขาดเส้นทางน้ำของแม่น้ำฉางเจียงได้แล้ว ยังต้องกลัวอะไรกับสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติอีก”

ฝูหรง น้องชายของฝูเจียน เป็นอีกคนที่พยายามทัดทานพี่ชายพร้อมอ้างคำเตือนของ “หวังเหมิ่ง” อดีตที่ปรึกษาคนสนิทของฝูเจียน เพราะหวังเหมิ่งเคยฝากความก่อนตายไว้ว่า กองทัพเฉียนฉินไม่ควรลงใต้ไปต่อกรกับราชวงศ์จิ้น

แต่ฝูเจียนวาดฝันถึงการเป็นจักรพรรดิของแผ่นดินจีนอย่างจริงจัง คำทักท้วงทั้งหลายจึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจ 8 เดือนหลังจากนั้น คือคริสต์ศักราช 383 อาณาจักรเฉียนฉินระดมกำลังพลจากหัวเมืองต่าง ๆ เป็นทหารราบ 600,000 นาย ทหารม้า 270,000 นาย กองทัพอวี่หลิน (หน่วยพิเศษคล้ายราชองครักษ์) 30,000 นาย

ฝูหรงถูกตั้งเป็นนายพลตำแหน่งเจิงหนาน หมู่หรงฉุย ชนชั้นสูงเผ่าเซียนเปยเป็นแม่ทัพหน้า เหยาฉาง ชนชั้นสูงเผ่าเชียงเป็นนายพลตำแหน่งหลงเซียง นำทหารจากเสฉวนทางตะวันตกเดินทัพไปทางทิศใต้ของแม่น้ำฉางเจียง มีกำลังพลเมืองโยวโจว จี้โจว และอีกหลายเมืองออกจากเมืองเผิงเฉิงลงไปสมทบ ส่วนฝูเจียนนำทัพหลักจากกรุงฉางอาน เส้นทางเดินทัพของฝ่ายเฉียนฉินจึงกึกก้องไปด้วยเสียงผู้คนและม้าศึก เรียงรายกันยาวนับร้อยลี้ และได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่มีกำลังพลนับล้านนาย

แต่จุดอ่อนของกองทัพขนาดมหึมานี้ก็มีอยู่… แม้ทัพเฉียนฉินจะยิ่งใหญ่เกรียงไกร แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยไพร่พลที่ขวัญกำลังใจไม่สู้ดีนัก เพราะส่วนใหญ่คือทหารจากแคว้นที่ฝูเจียนพิชิตได้แล้วกะเกณฑ์มาทำสงครามอย่างไม่เต็มใจ และอย่าลืมว่าอ๋องแห่งเฉียนฉินตัดสินใจทำศึกท่ามกลางกระแสคัดค้านของเหล่าเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย

เดือน 9 คริสต์ศักราช 383 กองทัพหลักของเฉียนฉินเคลื่อนลงใต้ถึงเขตแดนของราชวงศ์จิ้น เข้าตีเมืองเซียงเฉิงได้สำเร็จ ส่วนฝูหรงนำทัพเปิดฉากปิดล้อมเมืองโซ่วหยาง ซึ่งเป็นเมืองสำคัญฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเฝย ลำน้ำสาขาของแม่น้ำหวายเหอ

เมื่อกองทัพเฉียนฉินบุกประชิดพรมแดน ฝ่ายราชสำนักจิ้นตะวันออก พระเจ้าจิ้นเซี่ยวอู่ตี้ (ค.ศ. 362-396) แต่งตั้ง เซี่ยอัน เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารตำแหน่งเจิงเถาต้า เซี่ยอันเป็นเสนาบดีมากความสามารถ เขาประเมินกำลังฝ่ายเฉียนฉินแล้วดำเนินการวางหมากทำสงครามต่อต้านการรุกรานอย่างใจเย็น โดยให้ญาติพี่น้องคุมทัพไปรับศึก ได้แก่ เซี่ยสือ เป็นผู้บัญชาการกองทัพทั้งหมด มีอำนาจตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งส่วนกลาง เซี่ยเสวียน เป็นผู้บัญชาการทหารแนวหน้า เซี่ยเอี่ยน นำ “กองกำลังทหารเป่ยฝู่” ทหารอาชีพหน่วยพิเศษของราชวงศ์จิ้นที่สืบทอดทางสายเลือด

กองทัพของราชวงศ์จิ้นรวมกันแล้วมีจำนวนราว ๆ 80,000 นาย พวกเขาเดินทัพเลียบแม่น้ำหวายเหอฝั่งตะวันตก และมีนายพลหูปินนำทัพเรืออีก 5,000 นายมาสนับสนุนการรบที่เมืองโซ่วหยาง

ด้วยจำนวนดังกล่าว กองทัพราชวงศ์จิ้นมีจำนวนน้อยกว่าเฉียนฉินกว่าสิบเท่าเลยทีเดียว…

ฝูเจียนสั่งให้ฝูหรงเร่งตีหักเอาเมืองโซ่วหยาง โซ่วหยางแตกพ่ายภายในเดือน 10 ของปีนั้น หูปินถอยร่นมาตั้งทัพรอเซี่ยสืออยู่ที่เมืองเสียสือ ฝูหรงตีโอบปิดล้อมเมืองเสียสือต่อทันที พร้อมส่งทัพอีกหน่วยไปสะกัดกั้นกำลังเสริมของเซี่ยสือและเซี่ยเสวียน กองทัพจิ้นถูกตัดขาดไม่สามารถสนับสนุนกันได้ เมืองเสียสือจึงถูกโดดเดี่ยวจากความช่วยเหลือข้างนอก เสบียงอาหารร่อยหรอลงเรื่อย ๆ จากภูมิศาสตร์บริเวณนี้ เส้นทางสู่นครเจี้ยนคัง ราชธานีของราชวงศ์จิ้นตะวันออก แทบจะเปิดโล่งรอให้กองทัพเฉียนฉินไปพิชิต

ฝูเจียนทราบข่าวความขาดแคลนดังกล่าว จึงส่งตัวแทนไปชักจูงให้กองทัพจิ้นยอมแพ้ โดยผู้นำการเจรจาในครั้งนี้คือ จูสวี่ นายพลรักษาเมืองเซียงหยาง อดีตหัวเมืองของราชวงศ์จิ้นตะวันออก แต่ถูกกองทัพเฉียนฉินตีแตกไปก่อนหน้า

ผลปรากฏว่า นอกจากจูสวี่จะไม่ชักจูงให้แม่ทัพฝ่ายราชวงศ์จิ้นยอมแพ้แล้ว เขายังเปิดเผยสถานการณ์ฝ่ายกองทัพเฉียนฉินให้เซี่ยสือรับทราบอีกด้วย

คำแนะนำของจูสวี่ต่อเซี่ยสือผู้บัญชาการกองทัพจิ้นคือ กองทัพข้าศึกตรงหน้าพวกเขาไม่ใช่กำลังพลหลักของฝ่ายเฉียนฉิน ทั้งกำลังใจของทหารเหล่านี้ไม่เต็มร้อย แถมไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ควรฉวยโอกาสนี้บุกตีตอบโต้ทันที เซี่ยสือและเซี่ยเสวียนตัดสินใจอย่างเด็ดขาดด้วยการส่งกองกำลังเป่ยฝู่ 5,000 นาย นำโดยหลิงเหลาจือ โจมตีกองทัพเฉียนฉินกลางดึก

แนวหน้าฝ่ายเฉียนฉินไม่ทันตั้งตัว จึงพ่ายแพ้แล้วล่าถอยไป กองทัพจิ้นก็รุกไล่ตามไปเรื่อย ๆ กระทั่งเซี่ยสือสามารถนำทัพหลักไปตั้งค่ายบริเวณเขาปากงซาน ทางตะวันออกของแม่น้ำเฝย ประจันหน้ากับทัพหลักของเฉียนฉินที่นำโดยฝูเจียน ณ ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ

ในฐานะจอมทัพ ฝูเจียนกังวลใจไม่น้อยกับชัยชนะหนแรกของฝ่ายราชวงศ์จิ้น เขาขึ้นไปบนหอประตูกำแพงเมืองพร้อมฝูหรงเพื่อสังเกตการณ์ฝ่ายตรงข้าม พอได้เห็นขบวนรบอันสง่างามพร้อมเพรียงและธงทิวสีสันสดใส ประกอบกับช่วงเวลานั้นลมเหนือพัดมา ทำให้ต้นไม้ใบหญ้าบนเขาปากงซานกวัดแกว่งไปมา ทำให้ฝูเจียนที่จิตใจไม่สู้ดีอยู่แล้วเกิดความสับสน หวาดระแวงไปว่าเขาปากงซานเต็มไปด้วยกองทัพราชวงศ์จิ้นตะวันออก เขาจึงสั่งทุกกองทัพรักษาแนวป้องกันริมแม่น้ำเฝยไว้ให้มั่น ไม่ต้องข้ามน้ำไปโจมตีค่ายของฝ่ายราชวงศ์จิ้น

นายพลฝ่ายราชวงศ์จิ้นทราบดีถึงอานุภาพของกองทัพเฉียนฉิน ต้องอาศัยปฏิบัติการที่รวดเร็วดุจสายฟ้าจึงจะมีโอกาสคว้าชัยชนะได้ จึงออกกลอุบายที่เหนือความคาดหมาย ส่งคนไปยังค่ายเฉียนฉิน แล้วแจ้งฝูเจียนให้ช่วยย้ายที่ตั้งกองทัพของเขาถอยไปด้านหลังอีก โดยเว้นพื้นที่สำหรับให้กองทัพจิ้นข้ามแม่น้ำเฝยแล้วค่อยทำการสู้รบกันให้เด็ดขาดบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนั้น

ปรากฏว่าฝูเจียนยอมทำตามจริง ๆ แม้มีการคัดค้านจากเหล่านายพลเฉียนฉิน ฝูเจียนคิดว่าสามารถฉวยโอกาสตอนกองทัพจิ้นข้ามแม่น้ำบุกโจมตีทันทีตอนยังไม่ตั้งกระบวนทัพ ฝ่ายจิ้นย่อมเพลี่ยงพล้ำ แต่หารู้ไม่ว่ากำลังถูกขุนศึกฝ่ายราชวงศ์จิ้นตะวันออกซ้อนกลอยู่…

ฝูเจียนออกคำสั่งถอยทัพ ขวัญกำลังใจทหารเฉียนฉินที่เปราะบางอยู่แล้วก่อนถูกซ้ำเติมด้วยความพ่ายแพ้กลางดึก ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายทันทีหลังคำสั่งถอยทัพถูกแพร่ออกไป แม้จะมีคำสั่งตามมาติด ๆ ว่าให้ถอยแล้วบุกก่อนทัพจิ้นตั้งหลักได้หลังข้ามแม่น้ำ แต่สถานการณ์ภายในกองทัพเฉียนฉินกลับตาลปัตร ประหนึ่งเกิดอุปาทานหมู่ว่าฝ่ายตนยอมแพ้แล้ว เซี่ยสืออาศัยจังหวะความได้เปรียบนั้นสั่งให้เซี่ยเสวียนนำทหารม้า 8,000 นาย ชิงข้ามแม่น้ำเฝยก่อนกำหนดการเดิม แล้วยกพลขึ้นบกเปิดฉากโจมตีฝ่ายเฉียนฉินอย่างดุเดือดทันที ความโกลาหลจึงเกิดขึ้นทั่วแนวหลังของกองทัพเฉียนฉิน

ยิ่งไปกว่านั้น หนอนบ่อนไส้อย่างจูสวี่ ซึ่งยังประจำการอยู่กับฝ่ายเฉียนฉินยังช่วยสร้างสถานการณ์เพิ่มด้วยการให้พวกพ้องตะโกนป่าวประกาศไปทั่วทัพหลังว่า “กองทัพฉินแพ้แล้ว กองทัพฉินแพ้แล้ว!”

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านนั้น แนวหลังของกองทัพเฉียนฉินเต็มไปด้วยความวุ่นวายจนแยกเรื่องจริง-เท็จไม่ออก กองทัพส่วนหนึ่งที่พยายามตั้งรับการโจมตีของกองทัพจิ้นจึงแปรเปลี่ยนเป็นการหนีตาย ฝูหรงซึ่งเร่งรุดไปควบคุมสถานการณ์แนวหลังไม่ให้ถอยร่นมามากกว่าเดิมยังถูกทหารฝ่ายตนสวนมาพุ่งชนจนม้าล้มและเสียชีวิตด้วยคมดาบของฝ่ายราชวงศ์จิ้น

ฝูเจียนแม้รบมาทั้งชีวิตก็ไม่เคยพบสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน เขารู้สึกเสียขวัญอย่างยิ่ง จึงกระโดดขึ้นม้าแล้วหนีไปพร้อมกองทัพที่กำลังชุลมุนนั้น ขณะที่กองทัพจิ้นรุกไล่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยด้วยความฮึกเหิม กองทัพเฉียนฉินกลับเหยียบย่ำกันเองจนบาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ส่วนฝูเจียนโดนลูกธนูจนบาดเจ็บระหว่างการถอนทัพเช่นกัน นายพลของกองทัพเฉียนฉินล้วนสภาพจิตใจย่ำแย่ ไม่มีใครสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อีกต่อไปแล้ว

ในเดือน 11 อากาศเย็นยะเยือกมาพร้อมสายลมหนาวทำให้กองทัพเฉียนฉินที่กำลังถอยทัพทั้งหนาวเหน็บและอดอยาก หลังจากหนีมาเรื่อย ๆ จนตั้งหลักได้ที่นครลั่วหยาง ในเขตแดนของอาณาจักรเฉียนฉินเอง กองทัพแดนเหนือเสียหายย่อยยับเกินกว่าจะฟื้นฟูได้อีก จากกำลังพลนับล้านเหลือเพียงแสนกว่านายเท่านั้น และเป็นแสนกว่านายที่สภาพจิตใจอ่อนล้าเกินเยียวยา

จากเหตุการณ์ “น้อยชนะมาก” ใน ยุทธการเฝยสุ่ย เป็นอันว่าราชวงศ์จิ้นตะวันออกรอดพ้นจากหายนะได้อย่างยิ่งใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจและสังคมในภาคใต้ของจีนเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้การปกครองของชาวฮั่น ซึ่งส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ในเวลาต่อมา

ความพ่ายแพ้ใน “ศึกลำน้ำเฝย สั่นสะเทือนอาณาจักรเฉียนฉินจนสูญสิ้นอำนาจอย่างไม่อาจฟื้นคืน แคว้นทั้งหลายที่เคยถูกฝูเจียนพิชิตทยอยปลดแอกตนเอง ผู้นำชนเผ่าต่าง ๆ ประกาศตนเป็นอิสระ ดินแดนทางเหนือแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ อีกครั้ง คริสต์ศักราช 385 ฝูเจียนถูกอดีตขุนศึกของเขาเองนาม เหยาฉาง ผู้นำชนเผ่าเชียง จับเป็นเชลยก่อนลงมือสังหาร สิ้นอ๋องแห่งอาณาจักรเฉียนฉิน ผู้เกือบพิชิตราชวงศ์จิ้นตะวันออกและรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่ง ด้วยวัย 48 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน ; เขมณัฏฐ์  ทรัพย์เกษมชัย แปล. (2556). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล ใน มติชนสุดสัปดาห์. ทัพจิ้นยาตราศึกแม่น้ำเฝย. สืบค้นเมื่อ 4 กรกฎาคม 2566. จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_147692


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2566