เมื่ออำนาจฮองเฮาเหนือบัลลังก์มังกร สู่ “กบฏ 8 อ๋อง” เค้าลางหายนะราชวงศ์จิ้น

ภาพ พระเจ้าจิ้นอู่ตี้
พระเจ้าจิ้นอู่ตี้ (Emperor Wu of Jin, Sima Yan)

ภายหลังสิ้นสุดยุคสามก๊ก จีนปกครองโดยราชวงศ์จิ้น แม้ผ่านยุคแห่งความแตกแยกมาได้ และสามารถรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ยุคสมัยแห่งความมั่นคงนัก ตระกูลสือหม่า หรือ สุมา ยุติช่วงเวลาแห่งความแตกแยกได้ก็จริงแต่ก็เพียงช่วงสั้น ๆ

นับตั้งแต่การวางรากฐานอำนาจจากรุ่นปู่คือ สือหม่าอี้ (สุมาอี้) และสะสมอำนาจจนสถาปนาราชวงศ์ใหม่ปกครองจีนสำเร็จในรุ่นหลานคือ สือหม่าเหยียน (สุมาเอี๋ยน) หรือพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ ถือว่าประวัติศาสตร์จีนไม่อาจหนีสภาพจลาจลกับการช่วงชิงอำนาจได้ ไม่ช้าก็เกิดเหตุการณ์กบฏ 8 อ๋อง โดยตระกูลสุมาด้วยกัน สงครามที่ลุกลามนี้เองทำให้ราชวงศ์จิ้นอ่อนแอจนแทบสูญสิ้นความเป็นเอกภาพ

เส้นทางอำนาจบรรดาอ๋อง

จิ้นอู่ตี้ ปฐมฮ่องเต้ของราชวงศ์จิ้น ปกครองบ้านเมืองโดยพยายามจำกัดอำนาจขุนนางไม่ให้เป็นภัยต่อราชสำนักเหมือนที่ตระกูลสุมาของพระองค์เคยกระทำต่อราชวงศ์เว่ยในอดีต พระองค์ไม่ส่งขุนนางไปปกครองหัวเมืองต่าง ๆ แต่จะส่งเชื้อพระวงศ์ไปปกครองหัวเมืองเหล่านั้นแทน เชื้อพระวงศ์หลายคนมีศักดิ์เป็นถึง “หวาง” (อ๋อง) หรือเทียบเท่าเจ้าชาย (Prince) ที่มีอำนาจรองจากฮ่องเต้เท่านั้น นั่นจึงทำให้เชื้อพระวงศ์หลายคนมีอำนาจมากยิ่งขึ้น

หลังจิ้นอู่ตี้สวรรคต พระราชโอรสของพระองค์คือ สุมาจง ได้สืบราชสมบัติเป็น “พระเจ้าจิ้นฮุ่ยตี้” (Emperor Hui of Jin) ซึ่งในรัชสมัยนี้เกิดเหตุการณ์ กบฏ 8 อ๋อง ระหว่างปี 291–306 โดยผู้มีส่วนในสงครามนี้ได้แก่ บุตรในอนุภรรยาของสุมาอี้ 2 คน ซึ่งถือเป็นอาของจิ้นอู่ตี้ คือ สุมาเหลียง กับสุมาหลุน, พระอนุชาในจิ้นฮุ่ยตี้ 3 คน ได้แก่ สุมาเว่ย สุมาอาย และสุมาอิ่ง, ลูกพี่ลูกน้องของจิ้นฮุ่ยตี้ นับศักดิ์เป็นหลานอา คือ สุมาเจียง และเชื้อพระวงศ์รุ่นหลานของพี่น้องร่วมสายเลือดสุมาอี้ ที่ถือเป็นลูกพี่ลูกน้องกับจิ้นอู่ตี้อีก 2 คน ได้แก่ สุมาหยง กับสุมาเยว่ รวมทั้งหมด 8 คน

แต่ต้นเหตุสำคัญผู้ชักนำอ๋องทั้ง 8 สู่เกมอำนาจเชื่อมโยงกับบทบาทของสตรีนางหนึ่ง คือ “เจี่ยหนานเฟิง” หรือ “เจี่ยฮองเฮา” (Empress Jia Nanfeng) มเหสีของจิ้นฮุ่ยตี้นั่นเอง

ฮองเฮาเหนือบัลลังก์มังกร

เจี่ยฮองเฮา เป็นบุตรีของ “เจี่ยชง” ขุนนางผู้มีบทบาทในการช่วยพระเจ้าจิ้นอู่ตี้ขึ้นสู่อำนาจ การสมรสระหว่างพระนางกับจิ้นฮุ่ยตี้ (ขณะยังเป็นองค์รัชทายาท) จึงเป็นเรื่องทางการเมือง เมื่อเจี่ยฮองเฮารู้ว่าตนเป็นหมัน จึงตามปองร้ายอนุภรรยาทุกคนที่ตั้งครรภ์ให้รัชทายาท ภายหลังรัชทายาทครองราชย์เป็นฮ่องเต้แล้วนั้น จิ้นฮุ่ยตี้กลับเป็นคนขลาดเขลา ขณะที่เจี่ยฮองเฮาโหดเหี้ยมและเจ้าเล่ห์ เป็นที่เคารพหวั่นเกรงของพระสวามี

เจี่ยฮองเฮาเริ่มแทรกแซงการเมืองโดยหาวิธีกำจัดขั้วอำนาจฝ่าย “หยางไทเฮา” และ “หยางจวิ้น” บิดาไทเฮา ซึ่งกุมอำนาจบริหารในฐานะราชครู (ไท่ฟู่) และมีอำนาจบารมีมากมาย โดยพระนางใช้วิธียุยงปล่อยข่าวว่า บิดาของไทเฮาวางแผนกบฏ เจี่ยฮองเฮาส่งคนไปหา “สุมาเว่ย” (Sima Wei) อ๋องแคว้นฉู่ พระอนุชาของฮ่องเต้และผู้บัญชาการทหารในมณฑลจิงโจว สุมาเว่ยนั้นเป็นนักการทหารเลือดร้อน เขาประกาศระดมพลนำทัพมุ่งสู่เมืองหลวงลั่วหยางทันที เมื่อคริสต์ศักราช 291

เจี่ยฮองเฮาให้จิ้นฮุ่ยตี้ออกพระราชโองการปราบกบฏตระกูลหยางเพื่อสนับสนุนสุมาเว่ย ทัพปราบกบฏเข้าเมืองหลวงกระทำการเข่นฆ่าตระกูลหยางและพรรคพวกนับพัน หยางไทเฮาถูกปลดจากฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชน และบิดา-มารดาถูกสังหารสิ้น เจี่ยฮองเฮาจัดการมอบตำแหน่งแก่เครือญาติของพระนาง แต่มีขุนนางอาวุโสผู้หนึ่ง ซึ่งพระนางไม่อาจควบคุมได้ คือ “สุมาเหลียง” (Sima Liang) อ๋องแห่งหรู่หนาน และอุยก๋วนอีกคนหนึ่ง

ทั้งสองล้วนหวาดระแวงความดุร้ายของสุมาเว่ยจึงเกิดความตรึงเครียดอยู่ภายใน เจี่ยฮองเฮาจึงถือโอกาสปลอมพระราชโองการให้สุมาเว่ยกำจัดสุมาเหลียงและอุยก๋วนในข้อหากบฏ จากนั้นก็ยัดข้อหาแอบอ้างคำสั่งฮ่องเต้ให้สุมาเว่ยไปฆ่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เมื่อทุกอย่างลุล่วง สุมาเว่ยฆ่าล้างตระกูลอุยก๋วนพร้อมสุมาเหลียง แต่ไม่นานเขาเองกลับถูกจับกุมในข้อหากบฏและถูกประหารชีวิต นั่นจึงทำให้เจี่ยฮองเฮารวบอำนาจในพระราชสำนักได้สำเร็จ

คริสต์ศักราช 229 เจี่ยฮองเฮาเสวยอำนาจอยู่หลายปีก็เริ่มแผนร้ายทำลายรัชทายาท “สุมาอวี้” พระราชโอรสจิ้นฮุ่ยตี้กับพระสนมสกุลเซี่ย สุมาอวี้ถูกปลดตำแหน่งกลายเป็นสามัญชนก่อนสวรรคตในคุก ความสามารถส่อแววนักปกครองที่ดีของรัชทายาททำให้ขุนนาง-เชื้อพระวงศ์ทั้งหลายคับแค้นใจต่อชะตากรรมขององค์รัชทายาทซึ่งคนทั้งปวงรู้ดีว่าเจี่ยฮองเฮาบงการให้รัชทายาทสวรรคต ระหว่างนั้นจึงเกิดกบฏต่อต้านพระนาง คริสต์ศักราช 300 หนึ่งเดือนหลังการสวรรคตขององค์รัชทายาท “สุมาหลุน” (Sima Lun) อ๋องแห่งแคว้นจ้าว บุตรคนสุดท้องของสุมาอี้ ก่อกบฏบุกเข้าเมืองลั่วหยางจับกุมเจี่ยฮองเฮา กวาดล้างอิทธิพลของพระนางพร้อมบังคับให้ดื่มยาพิษ ปิดฉากละครจักรพรรดิผู้โง่เขลาและฮองเฮาผู้โฉดชั่ว

กบฏ 8 อ๋อง

อย่างไรก็ตาม สุมาหลุนเคยสนับสนุนแผนทำลายองค์รัชทายาทของเจี่ยฮองเฮาเพื่ออ้างเหตุโค่นล้มพระนาง นี่จึงเป็นแผนสนองความใฝ่สูงของสุมาหลุนเอง หลังเป็นผู้สำเร็จราชการไม่นาน สุมาหลุนปลดจิ้นฮุ่ยตี้ไปกักตัวไว้แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้เสียเอง จึงเกิดความไม่พอใจของเชื้อพระวงศ์และบรรดาอ๋องในหัวเมืองต่าง ๆ ความขัดแย้งระหว่างอ๋องได้กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบนับจากนั้น

เมื่อขึ้นเป็นฮ่องเต้ สุมาหลุนจำเป็นต้องอวยยศและมอบทรัพย์สินให้แก่เชื้อพระวงศ์และขุนนางจำนวนมากเพื่อเอาอกเอาใจ แต่ยังมีกลุ่มอำนาจที่ต่อต้านเขาอยู่ คือ “สุมาเจียง” (Sima Jiong) อ๋องแคว้นฉี ที่ได้คุมกองทัพขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองสวี่จาง สุมาเจียงตั้งใจฟื้นฟูอำนาจคืนแก่จิ้นฮุ่ยตี้ เขาจึงตัดสินใจก่อกบฏยกกองทัพมากำราบสุมาหลุน โดยมีอ๋องอีก 3 คนเข้าร่วมด้วยคือ “สุมาอิ่ง” (Sima Ying) อ๋องแห่งเฉิงตู และ “สุมาอ้าย” (Sima Ai) อ๋องแห่งฉางซา (ทั้งคู่เป็นพระอนุชาของจิ้นฮุ่ยตี้) และ “สุมาหยง” (Sima Yong) อ๋องแห่งเหอเจียน

เนื่องด้วยกองทัพต่อต้านสุมาหลุนนี้มีมากกว่าหลายเท่า ประกอบกับสุมาหลุนพึ่งครองอำนาจได้ไม่นานจึงไม่อาจสร้างความภักดีในหมู่ทหารวังหลวงได้ เขาจึงถูกราชองครักษ์สังหาร ทายาทและคนของเขาล้วนถูกฆ่าล้าง จิ้นฮุ่ยตี้ถูกเชิญกลับมาครองพระราชบัลลังค์อีกครั้ง

กองทัพของสุมาเจียงและสุมาอิ่งถือเป็นกำลังหลักในสงคราม ฮ่องเต้จึงอวยยศให้ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการร่วมกัน สุมาเจียงซึ่งเป็นผู้นำมีบทบาทมากขึ้น ขณะที่สุมาอิ่งเริ่มหวั่นเกรงในตัวพระญาติผู้นี้จึงมอบงานบริหารแก่สุมาเจียง ส่วนเขาแยกไปบัญชาการกองทัพในเหอเป่ย สุมาเจียงแต่งตั้งผู้มีความสามารถหลายคนไปช่วยงานในพระราชสำนัก และเริ่มกุมอำนาจในพระราชสำนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขั้นแทรกแซงการตั้งรัชทายาท

ขณะเดียวกันจึงเกิดความหวาดระแวงระหว่างสุมาเจียงกับสุมาหยง เพราะในสงครามปราบสุมาหลุนคราวนั้น สุมาหยงเกือบให้การสนับสนุนสุมาหลุน แต่ผันตัวมาร่วมต่อต้านจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของฝ่ายสุมาหลุนเอง ดังนั้น สถานการณ์หลังสุมาเจียงลุแก่อำนาจทำให้สุมาหยงชิงก่อการก่อนที่ตัวเขาจะถูกกำจัด

สุมาหยงยกทัพจากกวนจงชักชวนสุมาอิ่งและสุมาอ้ายมาเข้าร่วมอีกครั้ง สุมาเจียงทราบข่าวจึงตั้งใจเร่งยกกองทัพมากำราบกลุ่มสุมาอ้ายก่อน แต่สุมาอ้ายเป็นผู้มีความสามารถด้านการทหาร จนมีชัยชนะเหนือสุมาเจียงซึ่งสิ้นชีพในสนามรบ จิ้นฮุ่ยตี้จึงแต่งตั้งสุมาอ้ายเป็นผู้สำเร็จราชการและมอบอำนาจการปฏิรูปการปกครองแก่เขา ไม่นานจากนั้น สุมาอ้ายปฏิบัติราชการได้อย่างดีจนสร้างความไม่พอใจแก่สุมาหยงที่ตั้งใจนำการกบฏเพื่อปลดจิ้นฮุ่ยตี้แล้วแต่งตั้งสุมาอิ่งเป็นฮ่องเต้ ส่วนตนถือตำแหน่งสมุหนายก เมื่อผลไม่เป็นไปตามความมุ่งหวังเขาและสุมาอิ่งจึงผนึกกำลังก่อกบฏอีกครั้งหวังจัดการสุมาอ้าย แต่ต้องปราชัยครั้งแล้วครั้งเล่า

ปิดฉากกบฏ

สงครามปิดล้อมลั่วหยางโดยทัพกบฏที่ยืดเยื้อทำให้ “สุมาเยว่” (Sima Yue) อ๋องแคว้นตงไห่ซึ่งขณะนั้นอยู่ในลั่วหยางได้วางแผนร่วมกับราชองครักษ์กลุ่มหนึ่งจับกุมและสังหารสุมาอ้ายสำเร็จ หลังเหตุการณ์นั้นสุมาอิ่งรับตำแหน่งรัชทายาทแต่เจ้าตัวกลับไปอยู่ที่เมืองเย่เฉิงซึ่งเป็นฐานอิทธิพลของตน สุมาเยว่จึงได้ก่อกบฏขึ้นในลั่วหยางโดยมีจิ้นฮุ่ยตี้หนุนหลัง

แม้สุมาอิ่งปราบกบฏสุมาเยว่สำเร็จ แต่เขาเดินเกมผิดพลาดคุมตัวจิ้นฮุ่ยตี้มาไว้เย่เฉิงจึงสร้างความไม่พอใจแก่ทั้งสุมาหยงและเหล่าแม่ทัพมณฑลเหอเป่ย สุมาเยว่ซึ่งรอดชีวิตมาได้จึงชี้นำแม่ทัพทั้งหลายให้ต่อต้านและโจมตีเย่เฉิงจนสุดท้ายสุมาอิ่งปราชัย ต้องพาฮ่องเต้ลี้ภัยไปหาสุมาหยงที่เมืองลั่วหยางก่อนจะมุ่งหน้าไปตั้งหลักที่ฉางอานทางตะวันตก

ระหว่างที่สุมาอิ่งและสุมาหยงเริ่มไม่ลงรอยกัน สุมาเยว่จัดการเผด็จศึกสั่งระดมพลจากซานตงบุกกวาดล้างกลุ่มอำนาจของสุมาหยงในคริสต์ศักราช 306 จากนั้นสังหารทั้งสุมาหยงและสุมาอิ่ง ก่อนเชิญจิ้นฮุ่ยตี้กลับมาประทับลั่วหยาง เขากุมอำนาจบริหารทั้งหมดและเผยความมักใหญ่ใฝ่สูงอีกคน สุมาเยว่ปลงพระชนม์จิ้นฮุ่ยตี้ด้วยยาพิษก่อนตั้งสุมาฉีเป็นฮ่องเต้หุ่นเชิดของตน ถึงตอนนี้ถือว่าอำนาจกลุ่มขุนศึกหรืออ๋องทั้งหลายล้วนอ่อนแรงและสลายตัวจนสิ้น สุมาเยว่จึงเป็นผู้ปิดฉาก กบฏ 8 อ๋อง อันยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง กบฏ 8 อ๋อง เป็นห้วงเวลาที่สับสนวุ่นวายพอสมควร ประชาชนจำนวนมากอดยากล้มตาย การผลิตโดยเฉพาะกสิกรรมที่หล่อเลี้ยงแผ่นดินจีนเสื่อมโทรม ชาวฮั่นซึ่งเป็นประชากรกลุ่มหลักถูกบั่นทอนกำลังขณะที่ชนกลุ่มน้อยลุกฮือก่อกบฏ สุมาเยว่ยุติสงครามกบฏ 8 อ๋องได้แต่ไม่อาจหยุดยั้งกลุ่มชนนอกด่านทางเหนือที่ฉวยโอกาสความวุ่นวายภายในราชวงศ์จิ้นนี้อพยพเข้ามามากขึ้นและทำลายเสถียรภาพของราชวงศ์จิ้น จนต้องโยกย้ายศูนย์การปกครองลงไปทางใต้แม่น้ำฉางเจียง นำไปสู่ยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน. (2556). ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. เขมณัฏฐ์ ทรัพย์ชัยเกษม, ผู้แปล. กรุงเทพฯ : มติชน.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2561). จักรวรรดิในกำแพง : จิ้นตะวันออก “ตั้งอยู่-ดับไป”, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_143871

Wikipedia. (2019). War of the Eight Princes, from https://en.wikipedia.org/wiki/War_of_the_Eight_Princes


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 กรกฎาคม 2562