ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
อาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic) หรือเรือไททานิค เรือยักษ์ที่โด่งดังไปทั่วโลกด้วยขนาดอันใหญ่โตและเรื่องราวชวนตื่นตะลึง ไททานิคกลายเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทันทีที่ถูกปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ปี 1911 ก่อนจะเหลือเพียงตำนานและซากเรือที่จมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกในวันที่ 15 เมษายน 1912 หลังชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งจนอับปางระหว่างการเดินทางจากอังกฤษไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ทราบหรือไม่ว่าเรือที่ครั้งหนึ่งถูกขนานนามว่า “เรือที่ไม่มีวันจม” ลำนี้ ยังมีแฝดพี่เป็นเรือเดินสมุทรขนาดมหึมาอยู่ด้วย นั่นคือ อาร์เอ็มเอส โอลิมปิค (RMS Olympic) หรือ เรือโอลิมปิค
อาร์เอ็มเอส โอลิมปิค (RMS Olympic) หรือ เรือโอลิมปิค
ทั้งเรือโอลิมปิคและไททานิคต่างเป็นเรือเดินสมุทรในสังกัดของ บริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ (White Star Line) เช่นเดียวกัน แต่เรือโอลิมปิคเป็นเรือลำแรกในโครงการ “Olympic class ships” ของบริษัท ซึ่งสร้างเสร็จตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม ปี 1910 ณ เมืองเบลฟาสท์ ไอร์แลนด์ ก่อนเรือไททานิคจะสร้างเสร็จตามมาในภายหลัง โดยเรือโอลิมปิคครองตำแหน่งเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ช่วงสั้น ๆ กระทั่งเสียตำแหน่งให้แฝดน้องอย่างเรือไททานิคที่มีขนาดขนาดเท่ากันแต่มีระวางบรรทุกรวมมากกว่า
เรือโอลิมปิคกลับมาครองตำแหน่งช่วงสั้น ๆ (อีกครั้ง) เมื่อเรือไททานิคลงไปนอนอยู่ก้นสมุทรตั้งแต่การให้บริการครั้งแรกในปี 1912 แต่เมื่อเรือ เอสเอส อิมเพอเรเตอร์ (SS Imperator) ของเยอรมมนี เข้าประจำการในเดือนมิถุนายน ปี 1913 เรือโอลิมปิคได้เสียตำแหน่งเรือยักษ์อันดับหนึ่งของโลกไปอย่างถาวร
อันที่จริง เรือโอลิมปิคยังครองตำแหน่งเรือโดยสารสำหรับเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สุดของอังกฤษเรื่อยมาจนกระทั่งเรือ อาร์เอ็มเอส ควีน แมรี (RMS Queen Mary) เปิดตัวในปี 1934 แม้จะถูกแย่งตำแหน่งอยู่ช่วงหนึ่งจากเรือไททานิคและเรือบริทานนิค เรือแฝดน้องอีกลำในโครงการ Olympic class ships และเป็นน้องเล็กสุด แต่เรือบริทานนิคจมไปในปี 1916 ระหว่างปฏิบัติภารกิจพิเศษในสงครามโลกครั้งที่ 1
ที่อู่ต่อเรือ Harland & Wolff เมืองเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์ กระดูกงูของเรือโอลิมปิคถูกติดตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1908 และอยู่ใกล้กันกับแฝดน้อง หรือเรือไททานิค แต่ความคืบหน้าในการต่อเรือไททานิคนั้นล่าช้ากว่าเรือแฝดพี่ไปหลายเดือน ด้วยเหตุนี้ วินาทีที่เรือโอลิมปิคเปิดตัวอย่างเป็นทางการ (20 ตุลาคม 1910) เรือลำนี้จึงกลายเป็นวัตถุเคลื่อนที่ได้ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทันที
เรือโอลิมปิคเป็นเรือเดินสมุทรที่ขับเคลื่อนด้วย 3 ใบจักร 2 เครื่องยนต์กระบอกสูบ 1 เครื่องยนต์เทอร์ไบน์ เสากระโดงเรือ 2 -3 เสา 4 ปล่องไฟ มาพร้อมน้ำหนัก 45,324 ตัน (เบากว่าไททานิค 1,000 ตัน) ยาว 269 เมตร 16 ห้องเครื่อง 29 ชุดหม้อน้ำ ความเร็วสูงสุดคือ 24 น็อต หรือ 44.45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถจุผู้โดยสารได้ 2,435 คน
หลังจากเริ่มให้บริการ เรือโอลิมปิคให้บริการผู้โดยสารระหว่างนครนิวยอร์ค-เซาท์แธมตัน (อังกฤษ) ได้ 4 รอบ แต่รอบที่ 5 เรือต้องถูกส่งกลับไปซ่อมที่เบลฟาสต์เป็นเวลา 6 เดือน เพราะไปเฉี่ยวชนกับเรือ HMS Hawke เรือลาดตระเวนของกองทัพอังกฤษ ระหว่างขาออกจากท่าเรือเซาท์แธมตันไปยังนครนิวยอร์ค เนื่องจากเรือฮอว์คที่แล่นขนานมาถูกกระแสน้ำดูดจากขนาดอันใหญ่โตและความเร็วของเรือโอลิมปิคจนเกิดการปะทะ
เหตุการณ์นั้นส่งผลให้เรือทั้งคู่เสียหาย หัวเรือของเรือฮอว์คหักไปซีกหนึ่ง ขณะที่ท้องเรือโอลิมปิคถูกเจาะเกิดเป็นช่องโหว่น้ำรั่วเข้าท้องเรือ กัปตันเรือโอลิมปิคในเหตุการณ์นั้นไม่ใช่ใครอื่น เขาคือ เอ็ดเวิร์ด เจ. สมิท (Edward J. Smith) ผู้ต่อมาคือกัปตันเรือไททานิกในเหตุการณ์ช็อคโลกนั่นเอง…
การเดินทางข้ามสมุทรรอบนี้ของของเรือโอลิมปิคจึงถูกยกเลิก เพราะต้องถูกส่งกลับไปซ่อมที่เบลฟาสต์เสียก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาประจำการอีกครั้ง เรือยักษ์ลำนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ายังคงเป็นเรือที่แข็งแกร่งและไว้ใจได้ แต่หลังการอับปางของเรือไททานิก เรือโอลิมปิคถูกปรับปรุงต่อเติมขนาดใหญ่เพื่อยกระดับความปลอดภัยอีกครั้ง โดยเฉพาะการเพิ่มความแข็งแรงส่วนท้องเรือและเพิ่มเรือชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสารและลูกเรือทุกคนหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
4 สิงหาคม ปี 1914 กว่า 2 ปี หลังเรือไททานิคอับปาง อังกฤษเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ช่วง แรก ๆ เรือโอลิมปิคจะยังถูกใช้งานเพื่อโดยสารและการพาณิชย์ภายใต้กัปตัน เฮอร์เบิร์ต เจมส์ แฮดด็อค (Herbert James Haddock) แต่เรือถูกปรับปรุงให้ด้วยมาตรการระหว่างสงครามของอังกฤษ มีการทาสีโทนสีเทา ปิดช่องหน้าต่างเรือและไฟบนดาดฟ้าเพื่อลดการมองเห็นจากระยะไกลจากเรือคู่สงคราม กำหนดการเทียบท่าฝั่งอังกฤษของเรือถูกปรับเปลี่ยนอย่างกระทันหันจากเซาแธมป์ตันเป็นลิเวอร์พูล และต่อมาเป็นกลาสโกว์ รวมถึงการเปลี่ยนชื่อเรือเป็น เอชเอ็มที โอลิมปิค (HMT Olympic)
การเดินทาง 2-3 ครั้งแรกในช่วงสงคราม ผู้โดยสารของเรือจากฝั่งอังกฤษมักเต็มไปด้วยชาวอเมริกันที่ติดอยู่ในยุโรปและกระตือรือร้นที่จะกลับบ้าน ส่วนการเดินทางเที่ยวกับจากฝั่งอเมริกามายังยุโรปมีผู้โดยสารเพียงไม่กี่คน ลูกค้าของเรือโอลิมปิคลดลงอย่างมากเพราะภัยคุกคามจากเรืออู (U-boats) ของเยอรมันที่เริ่มอาละวาดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในน่านน้ำยุโรป บริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ จึงตัดสินใจยุติการบริการเชิงพาณิชย์ของเรือโอลิมปิค
ถึงอย่างนั้น ไม่น่าเชื่อว่าในขณะรุ่นน้องซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอย่างเรือบริทานนิคที่จมเพราะทุ่นระเบิดใต้น้ำในสงคราม หรือแม้แต่เรือไททานิคซึ่งจมไปตั้งแต่เดินเรือครั้งแรก เรือโอลิมปิคทั้งในฐานะเรือพาณิชย์และเรือปฏิบัติการพิเศษระหว่างสงครามกลับอยู่รอดจนสงครามยุติลง แถมกลับมาเป็นเรือโดยสารอีกครั้งในปี 1920 มีการปรับแต่งเรือขนานใหญ่อีกครั้งที่อู่ Harland & Wolff รวมถึงการยกเครื่องเรือให้ใช้พลังงานจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมันเป็นหลัก ก่อนกลับไปให้บริการอีกครั้ง
ตลอดทศวรรษที่ 1920 เรือโอลิมปิคพิสูจน์ตนเองว่ายังคงเป็นเรือที่มั่นคงและเชื่อถือได้ แต่เพราะการถือกำเนิดของสายการบิน การเดินทางด้วยเครื่องบินทั้งดูใหม่และทันสมัยกว่าการเดินทางด้วยเรือเดินสมุทรที่ดูล้าสมัย การโดยสารทางเรือจึงค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลง พร้อมกับที่เรือโดยสารรุ่นเก่า ๆ ที่ถูกปลดระวางไป
ในที่สุด เรือโอลิมปิคก็ถูกขายให้กับเซอร์จอห์น จาร์วิส (Sir John Jarvis) สมาชิกรัฐสภา ในราคา 97,500 ปอนด์ วันที่ 11 ตุลาคม 1935 เรือออกจากเซาแธมป์ตันเป็นครั้งสุดท้าย อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในเรือถูกประมูลขาย การรื้อถอนดำเนินไประหว่างปี 1935 – 1937 หัวหน้าวิศวกรของเรือให้ความเห็นว่า “ฉันเข้าใจความจำเป็นหาก ‘หญิงชรา’ จะเสื่อมประสิทธิภาพ แต่เครื่องยนต์เธอยังดังเหมือนเดิม”
ตั้งแต่เริ่มออกเดินเรือจนถึงวันเกษียณอายุ เรือโอลิมปิค เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปทั้งสิ้น 257 รอบ ขนส่งผู้โดยสารเป็นจำนวนกว่า 430,000 คนในการเดินทางเชิงพาณิชย์ คิดเป็นระยะเดินทาง 1.8 ล้านไมล์ และถือว่าเป็นเรือเพียงลำเดียวจากเรือคู่แฝด 3 ลำที่จบอาชีพเกษียณอายุตนเองอย่างงดงามบนบก
อาจกล่าวได้ว่า “เรือที่ไม่มีวันจม” ที่แท้จริง คือเรือ อาร์เอ็มเอส โอลิมปิค นี่แหละ…
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดปม 6 ชาวจีนผู้รอดชีวิตจากไททานิก สู่หนังสารคดี The Six ไฉนพวกเขาไม่ค่อยถูกพูดถึง
- “มาร์กาเร็ต บราวน์” ตำนานสตรีผู้รอดจากไททานิก เผยวิถีชีวิตที่ดิ้นรนจนกลายเป็นเศรษฐินี
- ตามหา “เรืออาร์ค” ของ “โนอาห์” ในตำนานน้ำท่วมโลกด้วยหลักวิทยาศาสตร์
อ้างอิง :
Rare Historical Photos. The Photographic History of RMS Olympic (Titanic’s Sister Ship), 1911-1935. Retrieved May 19, 2023. From https://rarehistoricalphotos.com/rms-olympic-old-photos/
Web.archive.org. RMS Olympic; Old Reliable. Retrieved May 19, 2023. From https://web.archive.org/web/19981202151628/http://members.aol.com/WakkoW5/olympic.html
Cruise Travel – Cruise Ships. White Star Line RMS Titanic. Retrieved May 19, 2023. From http://www.cruiseserver.net/travelpage/ships/ws_titanic.asp
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566