ภาพลักษณ์ “นักประชาธิปไตย-พ่อขุน” ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ จอมพล ป. เลือกใช้ 

ละครเวที ธงชาติ นักแสดง
ภาพละครเวทีเรื่อง “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ซึ่งแสดงให้ประชาชนรับชมในช่วงปลายปี พ.ศ. 2497 ผลงานการประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ ที่สร้างขึ้นตามความดำริของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ภาพจากนิตยสาร Thailand Illustrated เล่มที่ 25 (เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2497))

จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนึ่งในนายกรัฐมนตรีไทยที่อยู่ทน อยู่นาน ซึ่งหนึ่งในวิถีทางสร้างความมั่นคงในตำแหน่งทางการเมืองที่ จอมพล ป. เลือกใช้ก็คือการสร้างภาพลักษณ์ “จอมพล ป. นักประชาธิปไตย” ถึง “พ่อขุนจอมพล ป.” ที่หวังให้เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ 

เรื่องดังกล่าวนี้  อิทธิเดช พระเพ็ชร ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในบทความชื่อ “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง : จาก ‘จอมพล ป. นักประชาธิปไตย’ ถึง ‘พ่อขุนจอมพล ป.’ ภาพลักษณ์ทางการเมืองสุดท้ายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม” 

Advertisement
จอมพล ป. ผู้ชาย คนแก่
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำทางการเมืองสมัยใหม่คนแรก คนเดียว และคนสุดท้าย ที่นำเอาภาพลักษณ์พ่อขุนมาใช้ทางการเมืองสมัยใหม่ด้วยภาพลักษณ์แบบ “พ่อขุนจอมพล ป.”

ซอฟต์พาวเวอร์ แบบ จอมพล ป.

จอมพล ป. ใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” ดังกล่าวคือ ปลายทศวรรษ 2490 หรือก่อนการรัฐประหารปี 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ จอมพล ป. กำลังขับเคี่ยวกับผู้นำทางการเมืองในเครื่องแบบอีก 2 คน หนึ่งคือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หนึ่งคือ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์

เริ่มจากภาพลักษณ์ “นักประชาธิปไตย” เพื่อลบล้างภาพผู้นำแบบเผด็จการซึ่งเป็นที่จดจำมาในทศวรรษก่อน มีการสันนิษฐานว่า ความคิดนี้เกิดจากการเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป

เมื่อเดินทางกลับมาถึงไทย จอมพล ป. เปลี่ยนสนามหลวงให้เป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์ หรือเวที “ไฮด์ปาร์ก” เพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยเช่นในต่างประเทศ ที่พ่วงความหวังของ จอมพล ป. ที่ต้องการให้เวทีไฮด์ปาร์กเป็นกลยุทธ์ที่โจมตีคู่แข่งทางการเมืองอย่าง พลตำรวจเอก เผ่า และ จอมพล สฤษดิ์ ไปในตัวด้วย

ไฮด์ปาร์ก สนามหลวง ประชาชน ขึ้นเวที
ภาพบรรยากาศการไฮด์ปาร์ก ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยด้วยการเปลี่ยนสนามหลวงให้เป็นเวที “ไฮด์ปาร์ก”

ขณะเดียวกัน เวทีไฮด์ปาร์กก็มีแรงสะท้อนกลับมายัง จอมพล ป. เองเช่นกัน เมื่อ พลตำรวจเอก เผ่า ก็ใช้เวทีไฮด์ปาร์กโจมตีคู่แข่งในคณะรัฐมนตรี, กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายใช้เป็นเวทีในการโจมตีรัฐบาล จอมพล ป. พลตำรวจเอก เผ่า และสหรัฐอเมริกา สุดท้ายกลุ่มรอยัลลิสต์ที่ใช้เป็นเวทีโจมตีรัฐบาล จอมพล ป.

กิจกรรมการเมืองอย่าง “ไฮด์ปาร์ก” ในไทย ยังก่อให้เกิดกลุ่ม “นักไฮด์ปาร์ก” จนพัฒนากลายเป็นพรรคการเมืองในนาม “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” ที่มี นายเพทาย โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรค, นายชวน รัตนวราหะ เป็นเลขาธิการพรรค และมี นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ นายพีร์ บุนนาค ฯลฯ เป็นแกนนำสำคัญ

ไฮด์ปาร์กจึงกลายเป็น “หนามยอกอก” จอมพล ป. พิบูลสงคราม 

เมื่อ นายทองอยู่-นักไฮด์ปาร์กเรียกร้องให้ จอมพล ป. ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้งเพื่อเป็นฐานเสียงของรัฐบาลในสภาฯ จนนำไปสู่การประท้วง “อดข้าว” จอมพล ป. พยายามแก้เผ็ดกลุ่มผู้ประท้วงด้วยการจัดอาหารอย่างดีไปให้

แต่นักไฮด์ปาร์กแก้เผ็ดกลับ จอมพล ป. ด้วยการนำอาหารดังกล่าวไปให้หมาแม่ลูกอ่อนในพื้นที่ และกล่าวโจมตีว่า “ผมมาอดข้าว จอมพล ป. กลับเอาข้าวมาวางบนโต๊ะอย่างนี้ เป็นการยั่วพวกผมโดยตรง นี่เป็นการแสดงสปิริตของจอมพล ป. แล้วหรือยังครับว่า จอมพล ป. นั้นจะเป็นประชาธิปไตยกับเขาได้หรือไม่?”

“พ่อขุน” แบบ จอมพล ป.

ขณะที่ภาพลักษณ์ “พ่อขุนจอมพล ป.”พยายามดึงศรัทธามหาชนด้วยการอ้างอิงกับความเชื่อทางประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยตีความการปกครองแบบ “พ่อขุน”

พ่อขุนที่ว่า คือ พ่อขุนรามคำแหง ที่ในศิลาจารึกของพระองค์มีบันทึกสิทธิเสรีภาพของประชาชน ว่าด้วยเสรีภาพในการค้าขาย สิทธิในการร้องทุกข์ขอความยุติธรรม ที่นักเขียนบางคนเชื่อว่านี่คือธรรมนูญการปกครองของไทยที่มีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายร้อยปี

จอมพล ป. นำเอาแนวคิด “พ่อขุน” มาสร้างเป็นภาพลักษณ์ “พ่อขุนจอมพล ป.” ในรูปแบบของละครเวทีเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่แสดงในช่วงปลาย พ.ศ. 2497 นิตยสาร Thailand Illustrated สิ่งพิมพ์ของรัฐบาล ได้กล่าวถึงการแสดงละครเวทีเรื่องนี้ว่า

“ละครเรื่อง ‘อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง’ หลวงวิจิตรวาทการ อัครราชทูตไทยประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรียได้เป็นผู้สร้างขึ้นตามความดำริของ พณท่าน นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวไทยในสมัยเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เริ่มเมื่อ พ.ศ. 1820 (คือเมื่อ 677 ปีมาแล้ว) และสิ้นสุดรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 1860 ขณะนี้ละครเรื่องนี้กำลังแสดงอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม ทุกวันเสาร์เวลา 14.00 น. และ 20.00 น. และวันอาทิตย์เวลา 10.00 น. มีประชาชนเข้าชมเต็มทุกที่นั่งทุกๆ รอบ”

ภาพจากบทความที่กล่าวถึงเนื้อเรื่องและภาพการแสดงละครเรื่อง “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” ในนิตยสาร Thailand Illustrated เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498 ได้มีการนำเอาภาพ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะที่กำลังเยี่ยมชมโบราณสถาน ณ เมืองสุโขทัย มาลงประกอบไว้ โดยมีข้อความตัวใหญ่อยู่ใต้ภาพของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่า “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” (ภาพจากนิตยสาร Thailand Illustrated เล่มที่ 33 (เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498))

นอกจากละครเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่ จอมพล ป. พยายามทำให้ประชาชนคิดว่าตนเป็นพ่อขุนรามคำแหงแล้ว นิตยสาร Thailand Illustrated เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2498 ยังนำภาพ จอมพล ป. ขณะเยี่ยมชมโบราณสถานมาลงประกอบไว้ภายในหน้าเดียวกัน โดยมีข้อความตัวใหญ่อยู่ใต้ภาพของ จอมพล ป. ว่า “อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง” เพื่อย้ำน้ำหนักให้คิดได้ไปในทิศทางดังกล่าว

นอกจากการสร้างภาพลักษณ์ “นักประชาธิปไตย” และ “พ่อขุนจอมพล ป.” ยังมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการกับสื่อทุกสัปดาห์ ที่เรียกว่า “เพรสคอนเฟอเรนซ์, การเชื่อมโยงตัวเองกับชาตินิยม, ศาสนา ฯลฯ ที่ จอมพล ป. เลือกใช้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2566