เครื่องหมายปริศนาบน “ศิลาแห่งชะตาลิขิต” ในพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

ศิลาแห่งชะตาลิขิต กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 อังกฤษ
(ซ้าย) บัลลังก์ที่บรรจุ "ศิลาแห่งชะตาลิขิต" (ขวา) กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อครั้งยังดำรงอิสริยยศ Prince of Wales, ภาพถ่ายปี 2015 (ภาพจาก Cornell University Library และ COP PARIS ใน flickr) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 (พ.ศ. 2566) สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่สาม หรือ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 (Charles III) ประมุขแห่งอังกฤษ จะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยการสวมมงกุฎขณะประทับอยู่บนราชบัลลังก์ที่มีการบรรจุ “Stone of Destiny” หรือ ศิลาแห่งชะตาลิขิต อยู่ภายในนั้น

ศิลาแห่งชะตาลิขิต ถือเป็น “หินศักดิ์สิทธิ์” และอาจนับเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษใน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือ หินบรมราชาภิเษก (Coronation Stone) ทั้งยังถูกเรียกขานในสมญานามอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ “the sacred Stone of Scone” หรือศิลาศักดิ์สิทธิ์แห่งสโคน สถานที่ประดิษฐานเดิมก่อนหินจะเดินทางจากสกอตแลนด์มายังอังกฤษ และ “Lia Fail” หรือศิลาเปล่งวาจา ตามตำนานโบราณของชาวสกอตที่ว่า หินจะเปล่งเสียงร้องออกมา หากผู้นั่งเหนือมันมีเชื้อสายกษัตริย์และมีความชอบธรรมที่จะสืบทอดราชบัลลังก์

ศิลาแห่งชะตาลิขิต อยู่ใต้บัลลังก์บรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษ, ภาพถ่ายราวปี 1875-1885 (ภาพจาก Cornell University Library ใน flickr / No known copyright restrictions)

ศิลาแห่งชะตาลิขิต เป็นหินทรายสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลอมชมพูขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากถึง 152 กิโลกรัม มีต้นกำเนิดอันลึกลับในสกอตแลนด์ ก่อนถูกนำมายังอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1296 หลังจากอยู่ภายในเวสต์มินสเตอร์ แอบบีย์ (Westminster Abbey) กรุงลอนดอน เป็นเวลานานถึง 700 ปี หินถูกส่งคืนให้สกอตแลนด์ในปี 1996 ไปอยู่ที่ปราสาทเอดินบะระ ศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์สจวร์ตแห่งสกอตแลนด์

หากว่ากันด้วยตำนานและเรื่องเล่า ศิลาแห่งชะตาลิขิตไม่เพียงแต่เป็นโบราณวัตถุของสกอตแลนด์เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับไอร์แลนด์ สเปน อียิปต์ และดินแดนอิสราเอล คือสืบย้อนไปอยู่ในตำนานพระคัมภีร์ไบเบิลเลยทีเดียว แต่ด้วยความที่เป็นสัญลักษณ์ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของสกอตแลนด์ ดินแดนซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง (กับอังกฤษ) ระหว่างยังอยู่ที่กรุงลอนดอน หินก้อนนี้จึงเป็นเป้าหมายของการเรียกร้องทางการเมืองตลอดจนการก่อวินาศกรรมโดยนักชาตินิยมชาวสกอตอยู่บ่อยครั้ง

ศิลาแห่งชะตาลิขิตจะได้ทำหน้าที่ของตนเองเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเวียนมาถึง หินก้อนนี้จะบรรจุเป็นส่วนหนึ่งใน “Coronation Chair” หรือบัลลังก์ในพระราชพิธี ณ เวสต์มินสเตอร์ฯ มหาวิหารที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ (Edward the Confessor) ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์และราชินีอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1066

ก่อนหินจะถูกส่งมายังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ฯ เป็นการชั่วคราว เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทีมนักวิทยาศาสตร์และโบราณคดีจาก “Historic Environment Scotland” ผู้ดูแลและศึกษาศิลาแห่งชะตาลิขิต ได้รายงานเรื่องน่าสนใจจากการค้นพบพวกเขา

มีการพบร่องรอยของโลหะและสารเคมีบางอย่างบนศิลาแห่งชะตาลิขิต ซึ่งอาจช่วยอธิบายความเป็นมาครั้งอดีตกาลของหินศักดิ์สิทธิ์นี้ได้ ที่สำคัญคือ การค้นพบเครื่องหมายปริศนาที่ไม่เคยมีการค้นพบและบันทึกมาก่อนด้วย

ร่องรอยดังกล่าวหลบซ่อนอยู่อย่างแนบเนียนทีเดียว พวกเขาต้องใช้เลเซอร์สแกนตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่า นี่คือสัญลักษณ์ที่เกิดจากความจงใจบางอย่างหรือไม่ ก่อนจะพบมันว่าเป็นสัญลักษณ์คล้ายเลขโรมัน ประกอบด้วย “X” 3 ตัว และ “V” 1 ตัว เรียงประกอบกันเป็น “XXXV” ในแนวนอน บริเวณขอบด้านบนของศิลาแห่งชะตาลิขิต ทีมศึกษาไม่ทราบความหมายของมัน และไม่มีบันทึกใดเอ่ยถึงการมีอยู่ของสัญลักษณ์นี้มาก่อนเช่นกัน

ดร. ยวน แคมป์เบลล์ (Ewan Campbell) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ให้ความเห็นว่า…

สัญลักษณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเป็นตัวเลขโรมัน แต่น่าจะเป็นเครื่องหมาย “กางเขน” ที่ทำขึ้นอย่างง่าย ๆ มากกว่า เครื่องหมายเหล่านี้มาจากการขูดหรือสลักลงเนื้อหิน หลังจากถูกขนย้ายมายังประเทศอังกฤษเมื่อปี 1296

ศิลาแห่งชะตาลิขิต
เครื่องหมายปริศนาคล้ายเลขโรมัน จากการศึกษาศิลาแห่งชะตาลิขิต (ภาพจาก Historic Environment Scotland)

จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีบนผิวศิลาแห่งชะตาลิขิตด้วยภาพเรืองแสงจากรังสีเอกซ์ (XRF) ยังแสดงให้เห็นถึงร่องรอยโลหะและปูนปลาสเตอร์ติดอยู่บนหินศักดิ์สิทธิ์ จากการตรวจสอบดังกล่าวเผยให้เห็นว่า เคยมีวัตถุทองแดงหรือโลหะผสมอย่างทองเหลืองวางเหนือหินก้อนนี้เป็นเวลานานหลายร้อยปี ณ ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ อาจเป็นได้ทั้งรูปเคารพ และภาชนะโลหะบรรจุอัฐิธาตุของเหล่านักบุญหรือบุคคลสำคัญที่ประดิษฐานไว้บนแท่นหินศักดิ์สิทธิ์นี้

นอกจากร่องรอยของโลหะแล้ว แร่ยิปซัม (ส่วนผสมของปูนปลาสเตอร์) ที่ติดอยู่บนพื้นผิวของหินยังทำให้สันนิษฐานได้ว่าอาจมีการหล่อแบบจำลองหินก้อนนี้ขึ้นในอดีต แม้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่เคยถูกพบเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ หรือการเอ่ยถึงเรื่องราวทำนองนี้เลยก็ตาม แต่ความขัดแย้งระหว่างสกอตแลนด์กับอังกฤษ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ชาวสกอตพยายามลอกเลียนหินศักดิ์สิทธิ์นี้ขึ้นมาอีกก้อนเพื่อลวงกษัตริย์อังกฤษให้นำของปลอมกลับกรุงลอนดอนตั้งแต่ยุคกลาง

ไม่ว่าเครื่องหมายปริศนาดังข้างต้นจะสื่อถึงอะไร หรือองค์ประกอบทางเคมีเหล่านั้นจะนำไปสู่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ใดได้บ้าง “ศิลาแห่งชะตาลิขิต” จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ที่อบอวลไปด้วยนัยทางการเมืองและการแสดงออกถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ในท้ายที่สุด…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

BBC NEWS ไทย. พบเครื่องหมายลึกลับบน “ศิลาแห่งชะตาลิขิต” ที่เตรียมใช้ราชาภิเษกชาร์ลส์ที่สาม. 24 เมษายน 2023. จาก https://www.bbc.com/thai/articles/c037pnxp351o

Historic Environment Scotland. Research shines new light on the Stone of Destiny. 5 April 2023. From https://www.historicenvironment.scot/about-us/news/research-shines-new-light-on-the-stone-of-destiny/

Historic Environment Scotland. 20 facts revealed about the Stone of Destiny. 29 November 2016. From https://www.historicenvironment.scot/about-us/news/20-facts-revealed-about-the-stone-of-destiny/

Lizzie Enfield, BBC. The disputed history of the Coronation Stone. 6 March 2023. From https://www.bbc.com/travel/article/20230305-the-disputed-history-of-the-coronation-stone

Lizzie May, Daily Mail Online. Roman numerals are found on the Stone of Destiny ahead of the King’s coronation after 3D-printed replica of the sacred royal relic was examined by experts. 6 April 2023. From https://www.dailymail.co.uk/news/article-11939657/Roman-numerals-Stone-Destiny-ahead-Kings-coronation.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2566