พระแท่นมนังคศิลา กับ บัลลังก์ราชาภิเษกของอังกฤษ

อนุสาวรีย์พ่อขุนรมคำแหงประทับบน "ขดานหิน"

ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 หรือที่รู้จักกันในชื่อ “จารึกของพ่อขุนรามคำแหง” ตอนหนึ่งบอกว่า

“1214 ศกปีมะโรงพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยนี้ปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้าจึงให้ช่างฟันขดานหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้”

“1214 ศก” เป็นมหาศักราช ประมาณว่าตรงกับ พ.ศ. 1835 หรือ ค.ศ. 1292

เป็นที่ยอมรับกันอย่าวกว้างขวางมาช้านานแล้วว่า ข้อความตอนนี้ระบุปีที่สร้าง “ขดานหิน” พระแท่นมนังคสิลาบาตรเมื่อ พ.ศ. 1835 และอาจคำนวณย้อนกลับไปได้อีกว่าปีที่ปลูกต้นตาลคือ พ.ศ. 1821-1822 ซึ่งเชื่อถือกันว่าเป็นปีที่พ่อขุนรามคำแหงครองราชย์

แต่การอ่านและตีความข้อความในจารึกมักมีปัญหาขัดแย้งกันเสมอ

ข้อความในจารึกที่ยกมานั้นอาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้อีกว่า พ.ศ. 1835 พ่อขุนรามคำแหงปลูกไม้ตาล ต่อมาอีก 14 ปี คือราว พ.ศ. 1849 จึงสร้าง “ขดานหิน”

“ขดานหิน” คืออะไร? ใช้ทำอะไร?

ในจารึกบอกว่า “ขดานหินนี้ชื่อมนังคศิลาบาตร”

ถ้าเป็นวันพระก็ใช้เป็นอาสนะพระสงฆ์เทศนา “สูดธรรม” แก่อุบาสก

ถ้าไม่ใช่วันพระ “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือขดานหินให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนฝูงท่วยถือบ้านถือเมือง” ซึ่งน่าจะหมายถึงใช้เป็นบัลลังก์

ในโลกนี้มีบัลลังก์อย่าง “ขดานหิน” อยู่ที่ไหนบ้าง?

เห็นจะมีอยู่บ้างทั้งในเทพนิยายและในประวัติศาสตร์ แต่น่าจะมีน้อยเพราะพระมหากษัตริย์ย่อมโปรดประทับบนพระที่นั่งที่สง่าและหรูหรา

แต่พระราชบัลลังก์ราชาภิเษก (The Coronation Throne) ของอังกฤษในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) มีแท่งหินศักดิ์สิทธ์ประกอบอยู่ใต้แผ่นที่นั่ง

พระราชบัลลังก์องค์นี้ยังใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ พระนางเจ้าเอลิซาเบ็ธเคยประทับในวันราชาภิเษก

ส่วนหินศักดิ์สิทธิ์นั้นชื่อ 2 อย่างคือ The Stone of Destiny และ The Stone of Scone (Scone เป็นชื่อเมืองใน Scotland ซึ่งเป็นที่มาของหินแท่งนี้)

ตำนานเกี่ยวกับหินแท่งนี้อยู่ว่า แต่เดิมอยู่ตะวันออกกลางและมีความสำคัญเกี่ยวกับรรพบุรุษของชาวยิวในคัมภีร์เก่า เช่นพ่อโมเสสเคยเสกบ้าง พ่อยาค้อบเคยใช่เป็นที่นอนหรือใช้เป็นหมอน แล้วฝันเป็นนิมิตทำนายอนาคตกษัตริย์ ต่อมานักบุญรุ่นแรกๆ ในศาสนาคริสต์ได้นำมาสู่เกาะไอร์แลนด์ กษัตริย์เกาะไอร์แลนด์ได้ใช้เป็นบัลลังก์ราชาภิเษกเป็นเวลานาน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตำนานเพื่อให้ความสำคัญแก่แท่นหิน

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 8 (ราวพุทธศตวรรษที่ 13) แท่นหินได้เข้ามาในประวัติศาสตร์ที่พอเชื่อได้กล่าวคือ ชาว Scotland ได้ปล้นเกาะไอร์แลนด์และยึดแท่นหินกลับบ้านใช้เป็นบัลลังก์ราชาภิเษกของกษัตริย์ชาว Scot ที่เมือง Scone

ในที่สุด The Stone of Scone ได้เข้ามาอยู่ในประวัติศาสตร์อังกฤษ เมื่อพระเจ้า Edwad ที่ 1 ยกทัพไปปล้น Scotland และนำ The Stone of Scone กลับมาไว้ที่กรุงลอนดอน และให้ช่างนำไปประกอบไว้ใต้แผ่นที่นั่งในบัลลังก์ราชาภิเษกใหม่ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

The Stone of Scone เคยใช้เป็นบัลลังก์ราชาภิเษกของกษัตริย์ Scotland เป็นครั้งสุดท้าย (อภิเษกพระเจ้า John de Balliol) เมื่อ ค.ศ. 1292 (พ.ศ. 1835) ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1296-1297 (พ.ศ. 1839-1840) พระเจ้า Edward ที่ 1 ได้ปล้นไปไว้ที่ลอนดอน และได้ใช้เป็นบัลลังก์ราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1308 (พ.ศ. 1851) ในการราชาภิเษกพระเจ้า Edward ที่ 2 ผู้สันตติวงศ์จากพระเจ้า Edward ที่ 1

ช่างน่ามหัศจรรย์ใจเหลือกำลังเพราะ

1. กรุงสุโขทัยและกรุงลอนดอนอยู่ห่างกันครึ่งโลก แต่มี “ขดานหิน” และ The Stone of Scone เหมือนๆ กัน และอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน

2. “ขดานหิน” ได้มาจากบ้านเมืองทางทิศเหนือเช่นเดียวกัน

3. มีศักราชใกล้เคียงกัน เช่น The Stone of Scone ใช้เป็นบัลลังก์ราชาภิเษกกษัตริย์อังกฤษครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1850-1851 ใกล้เคียงกับปีที่พ่อขุนรามคำแหง “ฟันขดานหิน”

หากศึกษาในรายละเอียดและใช้เกณฑ์คำนวณศักราชให้ถูกต้องกว่าที่เสนอมานี้อาจมีเรื่องราวและศักราชตรงกันอีกหลายๆ อย่าง

ทำไม? ทำไม? และทำไม?

ใครรู้ก็ขอได้โปรดช่วยไขปัญหาด้วย

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2565