ผู้เขียน | ณัฐภิเชษฐ์ ฝึกฝน |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุใด “เจ้าฟ้าสุทัศน์” พระโอรสในพระเอกาทศรถ จึงเสวย “ยาพิษ” ปลิดชีพองค์เอง?
สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง นามว่า “เจ้าฟ้าสุทัศน์” เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ และเป็นพระมหาอุปราช ผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา แต่แล้วกลับเกิดเหตุการณ์พลิกพระชะตา เจ้าฟ้าสุทัศน์เสวย “ยาพิษ” ชิงปลิดชีพพระองค์เอง
พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกถึงเรื่องราวของ เจ้าฟ้าสุทัศน์ เอาไว้ดังนี้
“…สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตร 2 พระองค์ องค์หนึ่งทรงพระนาม เจ้าฟ้าสุทัศน์ พระอนุชาทรงพระนาม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาค ประชวรพระยอด เสียพระเนตรข้างหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงยกพระราชบุตรผู้พี่ขึ้นเป็นมหาอุปราช
อยู่มา 4 เดือนเศษ พระมหาอุปราชกราบทูลพระกรุณาว่า ขอพิจารณาคนออก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า จะเป็นขบถหรือ พระมหาอุปราชมีความกลัวสมเด็จพระราชบิดาเป็นกำลัง ออกจากที่เฝ้าเสด็จมาพระราชวังบวรสถานมงคล เพลาค่ำเสวยยาพิษเสร็จสวรรคต
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโทมนัสโสกาดูรภาพเถิงพระราชโอรสเป็นอันมาก แล้วให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพตามอย่างมหาอุปราช สมเด็จพระบาทบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ตั้งพระทัยบำเพ็ญทานการกุศลเป็นอเนกประการ…”
ประเด็นที่สำคัญของเรื่องนี้คือ “ขอพิจารณาคนออก” นั้นหมายถึงอะไร? และนั่นเป็นเหตุร้ายแรงแค่ไหน ที่ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถตรัสว่า “จะเป็นขบถหรือ” ซึ่งอาจทำให้พระองค์พิโรธพระราชโอรส จนเป็นเหตุให้เจ้าฟ้าสุทัศน์ชิงปลิดชีพพระองค์เอง ก่อนที่จะถูกลงพระราชอาญา
จาก “สาส์นสมเด็จ” (จดหมายลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2480) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์นี้เอาไว้ดังนี้
เมื่อตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ประชวรพระสติอารมณ์ฟั่นเฟือนเป็นคราว ๆ เรียกกันว่า “เดือนหงายเดือนมืด” ประจวบกับช่วงเวลานั้น พวกญี่ปุ่นมากระทำการอุกอาจอย่างหนึ่งอย่างใดในกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระเอกาทศรถกำลังประชวร เจ้าฟ้าสุทัศน์ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทรงเกิดความวิตกหวาดกลัวว่า พวกญี่ปุ่นจะตีพระนคร จึงเตรียมกำลังต่อสู้
พวกฮอลันดากล่าวว่า เจ้าฟ้าสุทัศน์รับสั่งให้เกณฑ์กำลังเมืองล้านช้างลงมาช่วย ทว่า พวกญี่ปุ่นกลับไม่ได้ก่อการร้ายใหญ่โตแต่อย่างใด เมื่อพวกญี่ปุ่นหนีไปจากพระนครแล้ว กองทัพล้านช้างก็ยกลงมาถึง และมาตั้งทัพอยู่ที่เมืองลพบุรี
เจ้าฟ้าสุทัศน์จึงรับสั่งให้ไปบอกว่าสิ้นเหตุร้ายแล้วให้พวกล้านช้างกลับไป แต่พวกล้านช้างยังไม่เลิกทัพกลับ ประจวบเวลาที่สมเด็จพระเอกาทศรถหายประชวร เมื่อนั้นจึงทรงทราบว่า พวกล้านช้างยกกองทัพลงมาถึงเมืองลพบุรีก็พิโรธ รับสั่งให้เตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จขึ้นไปรบกับพวกล้านช้าง เมื่อกองทัพหลวงยกไปถึงเมืองลพบุรี พวกล้านช้างล่าถอยไปแล้ว จึงไม่ได้รบกัน
“…เรื่องที่เจ้าฟ้าสุทัศน์เรียกกองทัพล้านช้างมานี้ น่าจะเป็นมูลเหตุข้อที่หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระเอกาทศรถตรัสเป็นพระกระทู้ถามเจ้าฟ้าสุทัศน์ว่า ‘จะเป็นขบถหรือ’ และเป็นเหตุให้เจ้าฟ้าสุทัศน์ทำลายพระชนม์ด้วยเกรงพระราชอาญา…”
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิเคราะห์ว่า เรื่อง “ขอพิจารณาคนออก” ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระเอกาทศรถตรัสถามเจ้าฟ้าสุทัศน์ว่า “จะเป็นขบถหรือ” แต่น่าจะมาจากเหตุกองทัพล้านช้างเสียมากกว่า โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่อง “ขอพิจารณาคนออก” เอาไว้ว่า
“…แต่ข้อที่ว่า ‘ทูลขอพิจารณาคนออก’ ดูเป็นเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่พบอธิบายเค้าเงื่อนที่ไหนนอกจากที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารเพียงเท่านั้น ถ้าพิจารณาแต่ตามคำที่กล่าวอาจหมายความว่า ทูลขอให้ปลดคนพ้นจากหน้าที่รับราชการแต่อายุยังน้อยกว่าประเพณีเดิม อันเป็นเหตุที่จะลดจำนวนคนประจำราชการน้อยลง
หรือมิฉะนั้น ถ้าพิจารณาประกอบกับคำมองสิเออเดอลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสพรรณนาประเพณีครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งอาจจะมีแต่ก่อนนั้นมานานแล้ว กำหนดว่าไพร่หลวงต้องมาประจำรับราชการปีละ 6 เดือน ปล่อยให้ทำมาหากินปีละ 6 เดือน…อธิบายคำที่ว่าขอพิจารณาคนออก อาจจะเป็นขอให้ลดเวลารับราชการลดให้น้อยลงกว่าปีละ 6 เดือนก็เป็นได้ ถ้าลดเช่นนั้นจำนวนคนที่มาอยู่ประจำราชการก็ต้องลดน้อยลงเป็นธรรมดา…”
อย่างไรก็ตาม กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการคาดเดาของพระองค์เอง เพราะทรงคิดวินิจฉัยไต่ถามใน “สาส์นสมเด็จ” ระหว่างพระองค์กับสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กันอย่างไม่จริงจัง
ทั้งนี้ หากเรื่อง “ขอพิจารณาคนออก” เป็นเรื่องเดียวกับ “จะเป็นขบถหรือ” ผู้เขียนวิเคราะห์ว่า การ “ขอพิจารณาคนออก” นี้ เจ้าฟ้าสุทัศน์อาจขอให้พระราชบิดาปลดขุนนางหรือเจ้าหน้าที่ทางราชการบางคนออกก่อนกำหนดตามประเพณี แต่การปลดนั้น บุคคลที่ขอให้ออกอาจเป็นพวก “ข้าหลวงเดิม” หรือคนของสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งก็คงเป็นเหตุให้พระองค์ตรัสถามพระราชโอรสว่า “จะเป็นขบถหรือ” ก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติม :
- ใครว่าสมเด็จพระนเรศไม่มีพระราชโอรส! สอบหลักฐาน-พงศาวดาร อาจมีถึง 2 พระองค์?
- ย้อนรอย “ยามาดะ” ออกญาเสนาภิมุข ซามูไรแห่งอยุธยา และจุดจบตามข้อมูลประวัติศาสตร์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2566