“รถไฟ (จะ) ไปโคราช” เส้นทางรถไฟสายแรกของไทย ที่ฝรั่งทิ้งงาน รัฐต้องรับต่อ 9 ปีถึงสร้างเสร็จ

สถานีรถไฟ ชานชะลา รถไฟ นครราชสีมา
สถานีรถไฟ นครราชสีมา (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

รถไฟ (จะ) ไปโคราช เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเปิดซองประมูลการก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2434 ซึ่ง นายยี. มูเร แกมป์เบลล์ (George Murray Campbell) ชาวอังกฤษจากสิงคโปร์ ชนะการประมูลในราคา 9.95 ล้านบาท โดยมีห้างซาดินเมเทธชั่นแห่งอังกฤษเป็นผู้ค้ำประกัน

ทว่าหลังจากก่อสร้างไปได้ไม่นาน บริษัทผู้รับสัมปทานไม่สามารถสร้างทางรถไฟได้เสร็จตามสัญญา กรมรถไฟหลวงจึงเลิกจ้าง และดำเนินการก่อสร้างเอง อย่างไรก็ตาม การสร้างทางรถไฟช่วงอยุธยาไปชุมทางบ้านภาชี สระบุรี เข้าสู่ดงพญาเย็น ปรากฏว่าคนงานและวิศวกรเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากไข้ป่า

การสร้างทางรถไฟที่กำหนดไว้ 5 ปี แต่กว่าจะเสร็จจริงใช้เวลาถึง 9 ปีเต็ม ระยะทางรวม 265 กิโลเมตร ใช้เงินก่อสร้าง 17.5 ล้านบาท สูงกว่าที่ประมูลไว้ราว 7.55 ล้านบาท มีพิธีเปิดสถานีรถไฟที่นครราชสีมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443

ส่วนทางรถไฟจากนครราชสีมาไปยังอุบลราชธานีและหนองคายยุติการก่อสร้างไป 20 ปีเศษ เนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณ มาเริ่มอีกครั้งปลายรัชกาลที่ 6 และแล้วเสร็จในต้นรัชกาลที่ 9 โดยสร้างเสร็จสมบูรณ์ที่สถานีหนองคาย ใช้เวลาถึง 65 ปี (สุวิทย์ ธีรศาศวัต. “ทางรถไฟสายอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5-7, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2550)

อีกด้านหนึ่ง “รถไฟจะไปโคราช” เป็นเพลงร้องเล่นของเด็กไทยหลายคน ที่มีเนื้อร้องว่า

รถไฟจะไปโคราช ตดดังป๊าด ถึงราชบุรี ตดอีกทีถึงบริษัท บริษัทป้ำๆ เป๋อๆ ขอเสนอรายการขำๆ จับแมวเหมียวมาเต้นระบำ จับแมวดำมา ปักเป้ายิ้งฉุบ!!

หรือบ้างก็ร้องว่า

รถไฟจะไปโคราช ตดดังป๊าด ถึงราชบุรี ตดอีกทีถึงบริษัท บริษัทป้ำๆ เป๋อๆ ขอเสนอนิยายเรื่องสั้น
ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยู่ ปู่ไปเที่ยว ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยู่ ปู่ไปเที่ยว

แล้วทำไมผู้ใหญ่ถึงสอนลูกหลานร้องเพลง “รถไฟจะไปโคราช” ข้อมูลเรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด หากสันนิษฐานว่า อาจเพราะเส้นทางรถไฟสายอีสานเป็นสายแรกของประเทศจึงรู้สึกภูมิใจ ทั้งการนั่งรถไฟใช้เวลานานคิดอะไรเรื่อยเปื่อยจนกลายเป็นเพลงร้องเล่นขึ้นมาหรือไม่ ฯลฯ

ส่วน การนั่ง “รถไฟจะไปโคราช” ในความเป็นจริงวันนี้ จากข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศไทย หากออกเดินทางจากสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึง โคราช (สถานีนครราชสีมา) ด้วยบริการรถด่วนพิเศษ และรถด่วน ระบุว่าใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง, รถเร็วใช้เวลาราว 5 ชั่วโมง รถไฟประเภทอื่นๆ คงต้องใช้เวลานานกว่านี้

แล้วถ้าวันนี้เรามีรถไฟความเร็วสูง “รถไฟ (จะ) ไปโคราช” จะใช้เวลาเท่าใด  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2566