บันทึกชาวบ้านฉบับฝรั่ง เล่าปัญหาครอบครัวที่ทำให้ พระมหาธรรมราชา เข้าหา “หงสาวดี”

เจดีย์ชเวมอดอ ศาสนาสถานสำคัญแห่งพะโค หรือกรุงหงสาวดีในอดีต ภาพถ่ายวันที่ 14 พฤศจิกายน 2012 ( AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI)

ขุนพิเรนทรเทพ หรือ พระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของพระนเรศวร ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากในการล้มอำนาจกลุ่มของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศา ทำให้พระเทียรราชาได้ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแทน

เพื่อเป็นการตอบแทนความดีความชอบ พระเทียรราชาจึงทรงตั้งขุนพิเรนทรเทพเป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก พร้อมยกพระสวัสดิราชธิดา พระธิดาของพระองค์ให้เป็นพระวิสุทธิกษัตรีย์มเหสีแห่งพิษณุโลกด้วย นับเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับหัวเมืองฝ่ายเหนือที่กรุงศรีฯ ต้องใช้กำลังภายในเยอะในการควบคุมมาโดยตลอด

Advertisement

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีฯ กับพิษณุโลกก็มิได้ราบรื่นตลอดรอดฝั่ง สาเหตุจริงๆ คงประกอบด้วยปัจจัยหลายๆ ประการทั้งเรื่องของการเมือง ความสัมพันธ์ส่วนตัว และการถ่วงดุลเพื่อรักษาฐานอำนาจให้มั่นคง เมื่อพิษณุโลกต้องถูกคุกคามจากอาณาจักรที่ใหญ่กว่าอยู่หลายครั้ง ซึ่งท้ายที่สุดพระมหาธรรมราชาก็หันไปหาฝ่ายหงสาวดีแทน

การอธิบายถึงสาเหตุที่พระมหาธรรมราชาหันไปหาหงสาวดีก็มีอยู่หลายสำนวน สำนวนหนึ่งที่น่าสนใจเป็นหลักฐานที่อาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์เรียกว่า “หลักฐานระดับราษฎร์” (ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ฉบับราชสำนัก) นั่นก็คือ “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต” ที่ได้ระบุถึงเบื้องลึกของเหตุการณ์ครั้งนั้นเอาไว้ว่า

“พระเทียรราชาได้พระราชทานพระธิดาให้อภิเษกกับออกญาพิษณุโลก (Oija Poucelouck) แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก ชีวิตสมรสจึงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยกัน ในการทะเลาะครั้งหนึ่งออกญาพิษณุโลกได้ตีพระเศียรพระธิดาแตก พระราชธิดาจึงใช้ผ้าซับพระพักตร์เช็ดพระโลหิตใส่ถ้วยทอง ส่งไปถวายพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งมีพระราชสาส์นทูลฟ้องว่าถูกพระสวามีทารุณเพียงใด ด้วยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงพิโรธพระราชบุตรเขยเป็นอย่างมาก มีรับสั่งให้ทหารยกกำลังไปฆ่าออกญาพิษณุโลก ออกญาพิษณุโลกได้ทราบข่าวก็ไม่รอให้กองทัพจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ทิ้งบ้านเมืองรีบหนีไปยังเมืองพะโค พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคทรงทราบข่าวว่าออกญาพิษณุโลกหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารก็ทรงต้อนรับอย่างดี เมื่อออกญาพิษณุโลกเห็นเช่นนั้นก็ดีใจ ขอร้องให้พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคยกทัพไปทำสงครามกับสยาม”

สงครามหงสาวดีกับอยุธยาในรอบหลังตามสำนวนเล่าของวัน วลิต จึงเริ่มต้นขึ้นจากปัญหาในครอบครัว ซึ่งอาจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บอกว่า “ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานอื่นใดยืนยันความไม่ลงรอยกัน ระหว่างพระวิสุทธิกษัตรีย์กับพระมหาธรรมราชา แต่หลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และหลักฐานพม่าก็สะท้อนถึงความแตกแยกระหว่างพระมหาธรรมราชากับบุคคลในครัวเรือนของพระวิสุทธิกษัตริย์ นับแต่สิ้นสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2106 เป็นอย่างช้าๆ”

 


อ้างอิง :

สุเนตร ชุตินธรานนท์. “ขัตติยนารีแห่งราชอาณาจักรสยามที่ถูกมองข้ามความสำคัญ,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2546): น.75-76.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2561