สมัยรัชกาลที่ 5 เรือฝรั่งถึงกรุงเทพฯ โดนกองทัพยุงจู่โจม แถมไม่เห็นคนสยาม ?!?

แม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ เรือจำนวนมาก
แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าราชวรดิฐ ขณะมีพิธีสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธยเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ฯ พ.ศ. 2429

“คำถามแรกที่ผู้มาเยือน จะเอ่ยปากถามก็คือ ประเทศสยาม ตั้งอยู่ที่ไหน และชาวสยามอยู่ที่ไหน เพราะทุกแห่งหนจะแลเห็นแต่ชาวจีน ชาวมาเลย์ หรืออินเดียเท่านั้น แล้วชาวสยามล่ะ…”

ข้อความข้างต้น คือส่วนหนึ่งในบันทึกของ เซอร์ เฮนรี่ นอร์แมน เมื่อเดินทางมาสยาม

เซอร์ เฮนรี่ นอร์แมน (พ.ศ. 2401-2482) นักหนังสือพิมพ์ และนักเดินทางชาวอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5 เซอร์นอร์แมนเดินทางไปในตะวันออกไกล โดยมาถึงประเทศไทยในปี 2434 นอกจากท่องเที่ยว เขายังบันทึกประสบการณ์เดินทางถึงเหตุการณ์, วิถีชีวิตความเป็นอยู่, ผู้คน ฯลฯ ของประเทศต่างๆ ที่เขาเดินทางไปถึง

สำหรับประเทศไทย หรือสยามในเวลานั้น เซอร์นอร์แมน บันทึกภาพบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเรือแล่นมุ่งหน้าสู่ กรุงเทพฯ ว่า

“…ทัศนียภาพแรก ที่วิเศษและมหัศจรรย์แก่สายตาของคุณก็คือปากน้ำอันเวิ้งว้างกว้างไกล แลเห็นแนวเกลียวคลื่นลูกใหญ่พัดสาดซัดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีฝูงยุงแห่บินกันออกมาจากป่าทึบราวกับกองทัพแล้วกรูเข้าจู่โจมรุมล้อมขับไล่ชาวต่างชาติผู้มาเยือน…

หากมหัศจรรย์กว่า เมื่อเรือของเขาถึง กรุงเทพฯ แต่ไม่เห็นชาวสยาม ?!?

“…เรือได้เข้ามาจอดทอดสมอกลางลำน้ำที่กรุงเทพฯ เมืองหลวง ที่มีทัศนียภาพแปลกตา ผู้มาเยือนจะตระหนักได้ในทันทีว่า ที่นี่เป็นเมืองค้าขาย จากสถิติทางการค้าของสยามเปรียบเทียบกับบรรดาชาวตะวันออกด้วยกัน

สยามเป็นประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวย และจะต้องเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน สภาพป่าละเมาะที่เงียบสงบและป่าดงดิบที่สมบูรณ์ในช่วงปี พ.ศ. 2393

ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเสากระโดงเรือเสาปล่องไฟ มีเสียงร้องฮึมฮัมว่า ‘โกดัง’ ของพ่อค้าอังกฤษที่รีบเร่งล่องลอยมา ทัศนียภาพบรรดาโรงสีข้าว โรงเลื่อย ท่าเรือและอู่ต่อเรือ โรงเก็บพัสดุ ฝั่งแม่น้ำและบ้านเรือนผู้คน ตลอดจนโรงเรียน

ดูเหมือนจะแสดงถึงความตื่นตัวอย่างแข็งขันของชาวตะวันตก ผสมผสานกับความอุตสาหะของผู้คน ชาวเอเชียผิวเหลือง ซึ่งได้ช่วยเร่งเร้าชีวิตที่เฉื่อยชาของคนพื้นเมืองให้กระตือรือร้นขึ้นได้บ้าง

…เมื่อเดินทางถึงท่าเทียบเรือพาณิชย์ หากเหลียวมองไปทั่วๆ จนคุ้นตากับเมืองที่พลุกพล่านแห่งนี้แล้ว

คำถามแรกที่ผู้มาเยือน จะเอ่ยปากถามก็คือ ประเทศสยามตั้งอยู่ที่ไหน และชาวสยามอยู่ที่ไหน

เพราะทุกแห่งหนจะแลเห็นแต่ชาวจีน ชาวมาเลย์ หรืออินเดียเท่านั้น แล้วชาวสยามล่ะ พวกเขามิได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการค้าเหล่านั้นหรือคำตอบ ก็คือ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น….”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ตามรอยบันทึกชาวต่างชาติจากอ่าวสยามสู่ลำน้ำเจ้าพระยา. กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2566