ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หมอชีวกโกมารภัจจ์ คือ ผู้มีความสามารถด้านการแพทย์ในสมัยพุทธกาล นอกจากความรู้ทางการแพทย์ที่สั่งสม จนได้รับตำแหน่งแพทย์ของพระเจ้าพิมพิสาร และหมอประจำของพระพุทธเจ้า “หมอชีวกโกมารภัจจ์” ยังอุทิศตัวเพื่อพุทธศาสนา โดยหนึ่งในหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับหมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ก็คือ พระธรรมวินัยว่าด้วยเรื่องโรคอันตราย 5 ประการ ที่ไม่สามารถบวชได้ อันได้แก่ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ (โรคหลอดลมพอง) และ โรคลมบ้าหมู
หมอชีวกโกมารภัจจ์ เกี่ยวข้องอันใดกับเรื่องนี้?
ก่อนเฉลย ขอเกริ่นถึงประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์เสียก่อน ใน “พระไตรปิฎก” กล่าวไว้ว่า ชีวกกุมารเป็นบุตรของนางสาลวดี หรือหญิงงามเมืองประจำนครราชคฤห์ ที่มีค่าตัวถึงคืนละ 100 กษาปณ์ เชี่ยวชาญ และเก่งกาจ ด้านการฟ้อนรำ ขับร้อง รวมไปถึงบรรเลงเครื่องดนตรี
ทว่าวันหนึ่ง นางสาลวดีเกิดตั้งครรภ์ขึ้น พอคลอดออกมา และทราบว่าเป็นเพศชาย ก็ไม่ต้องการเลี้ยงดู เพราะบุตรชายนั้น ไม่มีประโยชน์อันใดต่ออาชีพของนาง ก่อนจะสั่งให้หญิงคนใช้เอาเด็กไปทิ้งกองขยะ
โชคยังเป็นของเด็กชาย เมื่อพระอภัยราชกุมารผ่านมาพบเข้า จึงทรงสั่งให้คนไปดูทารก ระหว่างนั้น ทรงร้องถามว่ายังมีชีวิตหรือไม่ คนที่ไปดูทูลตอบว่ายังมีชีวิตอยู่ เป็นที่มาของนาม “ชีวก” ซึ่งแปลว่า ชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ พระอภัยราชกุมารทรงเลี้ยงดูชีวกกุมาร ในฐานะพระโอรสบุญธรรมด้วยความรักใคร่เอ็นดู ก่อนจะประทานชื่อให้เพิ่มเติมว่า “โกมารภัจจ์” หมายถึง ผู้ที่พระราชกุมารเลี้ยง จนกลายมาเป็น “ชีวกโกมารภัจจ์”
อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ปรากฏในหนังสือบาลี-สันสกฤต ชื่อ “คัมภีร์มูลสรวาสติวาทวินยวัสต” กลับอธิบายประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์แตกต่างออกไป โดยกล่าวว่า ชีวกกุมารเป็นบุตรของหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง ที่พระเจ้าพิมพิสารลักลอบมีสัมพันธ์ลับ ๆ ในเวลาที่สามีของนางออกไปทำงานต่างเมือง เมื่อตั้งครรภ์นางจึงรีบกราบทูลให้พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบทันที พระองค์ได้พระราชทานแหวนให้หนึ่งวง และทรงสัญญากับหญิงนั้นว่า คลอดแล้วให้วางทารกไว้บริเวณหน้าพระราชวัง
ขณะที่พระเจ้าพิมพิสารประทับอยู่กับพระอภัยราชกุมาร ข้าราชบริพารได้กราบทูลว่า พบตะกร้าหน้าประตูพระราชวัง เมื่อเจ้าชายทรงได้ยินเรื่องตะกร้า จึงกราบทูลพระราชาว่า สิ่งที่มีอยู่ในนั้นควรมอบให้แก่หม่อมฉัน พอทราบว่าภายในเป็นเด็กทารก พระราชาก็ตรัสถามว่า ทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ก่อนจะทรงทราบว่ายังมีชีวิตอยู่
เมื่อพระองค์ทรงเห็นแหวนที่เคยมอบให้หญิงชาวบ้านคนนั้น ทำให้ทรงทราบโดยนัยว่า ทารกคือใคร จึงพระราชทานทารกให้กับพระอภัยราชกุมาร ต่อมาเจ้าชายได้ให้พระนามว่า “ชีวกกุมารภฤตะ” เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารเคยตรัสถามว่า “มีชีวิตอยู่หรือไม่?” และได้รับการเลี้ยงดูจากพระอภัยราชกุมาร
แม้ไม่ทราบว่า ชาติกำเนิดแท้จริงเป็นเช่นไร แต่ต่อมาชีวกโกมารภัจจ์ได้เติบโตเป็นหมอผู้มีชื่อเสียง จากการรักษาชาวบ้านให้หายจากโรคภัย ไม่เกี่ยงว่าเป็นคนรวย หรือจน
ความเก่งกาจของหมอชีวกโกมารภัจจ์ระบือไกลไปทั่วเมือง ได้ถวายการรักษาพระเจ้าพิมพิสาร และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก ก่อนจะกลายเป็นแพทย์ประจำของพระพุทธเจ้า และถวายตัวให้กับพระพุทธศาสนา รวมถึงช่วยรักษาพระสงฆ์ที่เจ็บป่วย
วันหนึ่ง แคว้นมคธเกิดโรคระบาด ผู้คนมากมายต่างล้มป่วยด้วย 5 โรคร้าย ได้แก่ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ และ โรคลมบ้าหมู ทุกคนต่างหวังพึ่งพาหมอชีวกโกมารภัจจ์ แต่หมอเองก็มีคนป่วยที่ต้องดูแลรักษาอยู่ล้นมือ ทำให้ต้องปฏิเสธชาวบ้านเหล่านั้นไป แม้ว่าชาวบ้านจะยอมจ่ายทรัพย์สินจำนวนมาก หรือยอมเป็นทาสเพื่อให้หมอรักษาก็ตาม
ด้วยความกลัวตาย ชาวบ้านที่เป็นชายจึงบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เนื่องจากทราบว่า ชีวิตของพระสงฆ์นั้น เต็มไปด้วยความสบาย ทั้งหมอชีวกโกมารภัจจ์ยังรักษาพระสงฆ์ที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอย่างดี แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด หมอชีวกโกมารภัจจ์รักษาพวกเขา
เมื่อหายจากโรคร้าย ร่างกายกลับมาแข็งแรง ชาวบ้านก็ลาสิกขาทันที แม้หมอชีวกโกมารภัจจ์สงสัย แต่ก็ไม่ได้ถามถึงสาเหตุการลาสึก จนวันหนึ่ง ได้เอ่ยปากถามชาวบ้านที่เคยบวชพระ และได้คำตอบว่า เหตุผลที่เข้ามาในร่มกาสาวพัสตร์ ก็เพราะต้องการให้หมอชีวกโกมารภัจจ์รักษาโรคให้เท่านั้นเอง ไม่ได้บวชประสงค์รู้ใด ๆ ทั้งสิ้น
เมื่อรู้เหตุผลที่แท้จริง หมอผู้มีฝีมือในสมัยพุทธกาลท่านนี้ จึงทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ ดังปรากฏในบทความ “บทบาทหมอชีวกโกมารภัจจ์ต่อพระพุทธศาสนา” ของพระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย หัวหน้าภาควิชาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่า
“…หมอชีวกได้ฟังดังนั้นกล่าวตำหนิไปต่าง ๆ แล้วนำความไปกราบทูลพระพุทธองค์ถึงผลกระทบจากการที่มีคนเข้ามาบวชในลักษณะดังกล่าว จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่หมู่พระสงฆ์เป็นอย่างมาก นำพาความเดือดร้อนวุ่นวายมาให้ในภายหลัง
ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนแก้ จึงกราบทูลพระพุทธองค์ขอให้ทรงมีพระบัญญัติห้ามไม่ให้บวชคนที่เป็นโรคติดต่อ ประกอบไปด้วยโรคที่ผู้คนในแคว้นมคธเป็นกันอยู่ในขณะนั้น 5 ชนิดคือ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคไข้มองคร่อ โรคลมบ้าหมู ซึ่งเน้นหนักไปที่โรคผิวหนังที่สามารถติดต่อกันได้ ที่ไม่สามารถติดต่อกันได้แต่ก็ทำให้ผิวไม่น่าดูเป็นที่น่ารังเกียจ ดังนั้น จึงไม่ควรให้บวช”
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีการระบุเรื่องโรคอันตราย 5 ประการ ที่รับรู้กันในปัจจุบัน
หมายเหตุ : จัดย่อหน้าและเน้นคำในเครื่องหมายคำพูดโดยผู้เขียน
อ่านเพิ่มเติม :
- รากฐานการแพทย์-สาธารณสุขไทย จากยุคกรมหมอหลวง สู่โรงพยาบาลที่ราษฎรเข้าถึง
- ขยายบริการแพทย์สู่ภูมิภาค งานแรกๆ ของคณะราษฎรหลัง 2475
- หมอแมคฟาร์แลนด์ “อิฐก้อนแรกของศิริราช” บันทึกเล่าการแพทย์(สมัยใหม่)ยุคบุกเบิกในไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระมหาฉัตรชัย สุฉตฺตชโย. “บทบาทหมอชีวกโกมารภัจจ์ต่อพระพุทธศาสนา.” วารสาร “ศึกษาศาสตร์” มหาวิทยาลัยมหามงกุฏราชวิทยาลัย 5, ฉ. 1 (มกราคม-มิถุนายน, 2560): 61-75.
วินัย อินเสมียน และพระมหามิตร ฐิตปญฺโญ. “หมอชีวกกับการรักษาโรคในพุทธศาสนา.” วารสารสถาบันวิจัยพิมลธรรม 8, ฉ. 1 (มกราคม-มิถุนายน, 2564): 128-136.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก. “หมอชีวกโกมารภัจจ์ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก.” สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 https://www.matichon.co.th/columnists/news_1072128.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2566