ก่อน “ซีเซียม 137” ไทยเคยเผชิญ “โคบอลต์ 60” อีกหนึ่งหายนะจาก “รังสี” มรณะ 

มีนาคม ปี 2566 ข่าว “ซีเซียม 137” สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนไทยทั้งประเทศ ถึงอันตรายจากรังสีที่อาจส่งผลร้ายถึงแก่ชีวิต แต่ย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 ประเทศไทยเคยเจอกรณีที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ กรณี “โคบอลต์ 60” 

โคบอลต์ 60 (Cobalt-60) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี ที่นำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น การแพทย์-ฉายรังสีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเนื้องอก, อุตสาหกรรม-ควบคุมการผลิต วัดระดับ วัดความหนาแน่น, การเกษตร, การศึกษาวิจัย ฯลฯ

อุบัติเหตุ โคบอลต์ 60 ที่จังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2543 นับเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ

สืบเนื่องมาจากบริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด รับซื้อเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ 60 ที่หมดอายุการใช้งานจากโรงพยาบาลรามาธิบดี นำมาเก็บไว้ที่โกดัง ต่อมาในปี 2542 บริษัทได้เคลื่อนย้ายเครื่องฉายรังสีดังกล่าวไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถเก่าของบริษัท บริเวณซอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ

ทว่า บริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่จัดเก็บเครื่องฉายรังสีให้ปลอดภัย และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส. – ปัจจุบันคือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ) ต่อมา คนกลุ่มหนึ่งลักลอบนำไปขายเป็นเศษเหล็ก

โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม นายจิตรเสน จันทร์สาขา ซาเล้งเก็บของเก่าได้รับซื้อเศษเหล็กจากคนกลุ่มนี้ ในจำนวนนี้มีชิ้นส่วนของเครื่องฉายรังสี (ส่วนหัว) ซึ่งภายในมี โคบอลต์ 60 อยู่ด้วย 

ช่วงเวลาจากนั้น นายจิตรเสน เก็บรักษาเศษเหล็ก และเครื่องฉายรังสีไว้ในบริเวณบ้าน จวบจนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายจิตรเสน และคนใกล้ชิด พยายามตัดแบ่งเศษชิ้นส่วนโลหะแต่ไม่สำเร็จผล จึงนำไปขายที่ร้าน “สมจิตร” ร้านรับซื้อของเก่าของนางสมจิตร แซ่เจีย ในซอยวัดมหาวงษ์ ตำบลสำโรง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 

จากนั้นลูกจ้าง 2 คน คือ นายนิพนธ์ พันธุ์ขันธ์ และนายสุดใจ ใจเร็ว ช่วยกันตัดแยกชิ้นส่วน สามารถผ่าแท่งสเตนเลส และตะกั่ว ที่หุ้มแท่งทรงกระบอกออกได้ พบว่า มีควันสีเหลืองซึ่งมีกลิ่นเหม็นมาก และพบแท่งโลหะ 2 ชิ้นหลุดออกจากแท่งกระบอก 

ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งได้ทำการผ่าเปลือกหุ้มสเตนเลสออก โดยใช้ที่ตัดเหล็กชนิดแก๊ส ทำให้รังสีมรณะแพร่กระจายไปยังพื้นที่รอบข้าง และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดต่างได้รับผลกระทบจากรังสีไปตาม ๆ กัน

วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ ผู้สัมผัสรังสีจาก โคบอลต์ 60 ทยอยเข้ารับการรักษาตัวยังโรงพยาบาล หลังมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มือบวมพอง ปากเปื่อย ผมร่วง ฯลฯ โดยแทบทุกคนล้วนมีลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกัน แพทย์จึงสรุปความเห็นว่า น่าจะเกิดจากการได้รับรังสีอันตราย 

ต่อมา อาการของผู้ป่วยเริ่มปรากฏรุนแรงมากขึ้น เช่น ผิวหนังไหม้เกรียม แผลพุพอง นิ้วมือบวม เม็ดเลือดขาวต่ำ ฯลฯ เมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) ได้รับแจ้งเหตุก็เริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินการตามมาตรการอย่างเร่งด่วน

กระทั่ง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ค้นพบต้นกำเนิดของรังสีที่มีลักษณะเป็นแท่งโลหะทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร จำนวน 1 แท่ง จากนั้นจึงนำไปจัดเก็บในสถานที่ปลอดภัย

ขณะที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากรังสี ถูกนำตัวไปรักษา ณ โรงพยาบาลหลายสิบรายราย ในจำนวนนี้ มีหญิงคนหนึ่งที่กำลังตั้งครรภ์ได้ราว 3-4 เดือน ต้องตัดสินใจทำแท้ง เนื่องจากเป็นกังวลว่าเด็กอาจได้รับอันตรายจากรังสี

ในวันที่ 9 มีนาคม นายนิพนธ์ เสียชีวิตเป็นรายแรก เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ให้ข้อมูลกับนักข่าวในช่วงเวลานั้นว่า “สำหรับนายนิพนธ์ คนไข้ที่เสียชีวิตนั้น มีสาเหตุมาจากเม็ดเลือดขาวต่ำมาก ไขกระดูกไม่ทำงาน และเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการช็อก และไตวายในที่สุด”

ต่อมา วันที่ 18 มีนาคม นายสุดใจ ก็เสียชีวิต เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด และวันที่ 24 มีนาคม สามีของนางสมจิตร ก็เสียชีวิตเป็นรายที่ 3 ขณะที่นายจิตรเสน แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ต้องรักษาตัวในไอซียู อาการสาหัส และต้องตัดนิ้วมื้อทิ้งด้วย

ข่าว โคบอลต์ 60 ปี 2543 หนังสือพิมพ์ ข่าวสด
ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 หลังเกิดเหตุการณ์ โคบอลต์ 60 ที่จังหวัดสมุทรปราการ

นายจิตรเสน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อปี 2543 ไว้ว่า

“‘ผมไม่แน่ใจว่าเมื่อวันที่ 24 หรือ 25 มกราคม ผมขับรถซาเล้งตระเวนรับซื้อของเก่าย่านถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง อย่างที่รู้ ๆ อาชีพอย่างผม ใครขายอะไร ผมรับซื้อหมด เมื่อไปถึงสามแยกข้างโรงจอดรถมาสด้าของบริษัทกมลสุโกศลฯ เห็นชาย 4 คน ผมไม่รู้จัก ทั้งหมดสวมเสื้อคล้ายช่างเครื่องยนต์ 2 คนแรกตัดผมสั้นคล้ายแขกอิสลาม อีก 2 คนไว้ผมยาว บอกผมว่า มีแท่งเหล็กจะขายให้ ผมบอกขอดูก่อน

จากนั้นคนทั้งสี่ซึ่งสวมถุงมือหายเข้าไปในลานจอดรถมาสด้าแล้วนำเหล็กถังตะกั่วและอะลูมิเนียมจำนวนมากออกมากองข้างหน้า ผมยกขึ้นชั่งทั้งหมดรวมแล้วน้ำหนักได้ 30 กิโลกรัม ยกเว้นแท่งอะลูมิเนียมมีน้ำหนักเกินกว่าตราชั่งจะรับไหว ก็เลยใช้วิธีประเมิน คิดเงินเบ็ดเสร็จ 8,000 บาท แต่ผมมีเงินสดในกระเป๋า 4,000 บาท ก็พยายามต่อรอง แต่พวกเขาไม่ลดให้

พอดีเป็นจังหวะเดียวกันที่ นายสนธยา สระประทุม (ผู้ต้องหาในคดีเดียวกับนายจิตรเสน) ขับรถซาเล้งตามมาอีกคัน เลยเอ่ยปากขอยืมเงินจ่ายให้ไปจนครบ 8,000 บาท ผมขอยืนยันว่า ไม่เคยติดต่อล่วงหน้าว่าจะไปรับซื้อ เพียงแต่ขี่ซาเล้งผ่านไป และรับซื้อของเก่าตามปกติเท่านั้น

เมื่อผมได้แท่งเหล็กที่ว่าแล้ว เอามือไปแตะดูก็รู้สึกแสบคันมือทันที แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร แล้วผมก็ขนไปไว้ที่บ้านย่านหมู่บ้านมหาดไทย 2 แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เพื่อผ่าแยกชิ้นส่วนขายตามลักษณะของ พบเป็นแค่ถังอะลูมิเนียมมีตะกั่วอยู่ข้างในผ่าไม่ได้

เมื่อหมดหนทางจึงนำไปขายที่ร้านสมจิตร ทางร้านให้นายสุดใจ (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นคนผ่า พบฝาตะกั่ว และแท่งเหล็กขนาดเท่าถ่ายไฟฉาย 5 ก้อน ทางร้านให้ผมกลับมาส่วนหนึ่ง แต่ตลอดทางที่ขนกลับรู้สึกปวดหัว และคลื่นไส้ จึงโยนทิ้ง เพราะผมเชื่อว่า ต้องเป็นอันตรายแน่ จากนั้นผมก็รู้สึกอาเจียนต้องไปซื้อโซดามากินล้างท้อง 1 ขวด ก่อนเดินทางกลับบ้าน ตั้งแต่ป่วยมาตลอด และมือเริ่มเป็นแผลเน่าดังกล่าว 

กระทั่งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ทนไม่ไหว จึงไปหมอที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ แต่ หมอไม่รับรักษา ให้เพียงยากิน และยาทา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ผมไปหาหมออีกครั้ง และต่อมาญาติอีก 3 คน ก็ไม่สบายเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการด้วย ขอยืนยันอีกครั้งว่า ผมไม่ได้ไปขโมยมา แต่ไปซื้อมาจริง และอยากขอร้องสังคมเห็นใจพวกผมบ้าง เพราะจะตายอยู่แล้ว แต่จะต้องมารับโทษในข้อหาลักทรัพย์ทั้งที่ไม่ได้ทำ แล้วแม้จะพ้นข้อหาลักทรัพย์ ก็ต้องโดนข้อหารับซื้อของโจรแน่ ผมไม่ใช่คนผิด

ส่วนที่อยากให้ทางการช่วยเหลือ คือ ค่ารักษาพยาบาลแพงมาก เพราะป่วยมานานอยู่ในห้องไอซียู อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผมขอขอบคุณทางโรงพยาบาลสมุทรปราการช่วยเหลือด้วยดี’ จิตรเสนเอ่ยประโยคสุดท้ายด้วยน้ำตาคลอเบ้า”

ข่าว โคบอลต์ 60 ปี 2543 หนังสือพิมพ์ ข่าวสด
ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2543 หลังเกิดเหตุการณ์ โคบอลต์ 60 ที่จังหวัดสมุทรปราการ

ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ จึงรวมตัวฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ และเอกชน

สำหรับการฟ้องร้อง แยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นคดีศาลปกครอง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันฟ้องสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2544 ส่วนที่สอง เป็นคดีศาลแพ่ง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกันฟ้องต่อบริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด กับพวกรวม 5 คน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2544

ในคดีศาลปกครองถึงที่สุดเมื่อปี 2550 โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับศาลปกครองกลาง พิพากษาตัดสินให้สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ จ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงิน 5,222,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543

ในคดีศาลแพ่ง คดียื้อยาวกว่า 15 ปี ถึงที่สุดเมื่อ 8 มิถุนายน ปี 2559 ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินให้จำเลย คือ บริษัท กมลสุโกศล อิเล็คทริค จำกัด จ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงิน 529,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543

อุบัติเหตุ โคบอลต์ 60 ที่จังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2543 ไม่ใช่หายนะจาก “วัตถุอันตราย” ที่เกิดขึ้นในปีนั้นเพียงเหตุการณ์เดียว เพราะยังมีวิกฤตจากวัตถุอันตรายอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชนอีก เช่น ก๊าซคาร์บอนิลคลอไรด์รั่ว ในนิคมอุตสาหกรรมผาแดง ที่ระยอง, ก๊าซแอมโมเนียรั่ว ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น ตรัง กรุงเทพฯ, รถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำในหลายพื้นที่ รวมถึงการลักลอบทิ้งกากของเสียจากอุตสาหกรรม และการฟุ้งกระจายของแก๊สพิษ

หลายสิบปีก่อนคนไทยตระหนกกับข่าว โคบอลต์ 60 ปัจจุบันก็วิตกกับข่าว ซีเซียม 137 แล้วอนาคตคนไทยต้องเจอกับ “อุบัติเหตุ” จากสารกัมมันตรังสีตัวใดอีก?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ. “อุบัติเหตุทางรังสีที่สมุทรปราการ”. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2549.

กองบรรณาธิการ. “รู้จักโคบอลต์-60”. วารสารปรมาณูเพื่อสันติ. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1, 2563

กองบรรณาธิการ. “ลำดับเหตุการณ์อุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60 จังหวัดสมุทรปราการ”. วารสารปรมาณูเพื่อสันติ. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1, 2563

กลุ่มกฎหมาย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ. “สรุปคำพิพากษาคดีโคบอลต์-60”. วารสารปรมาณูเพื่อสันติ. ปีที่ 33 ฉบับที่ 1, 2563

มติชน. (2543, 20 กุมภาพันธ์). “กัมมันตรังสี”. มติชน, น.1, 23

เคียงข่าว. (2543, 24 กุมภาพันธ์). “‘ซาเล้ง’ เหยื่อกัมมันตรังสี แฉเส้นทางขน ‘โคบอลต์’ 60”. มติชน, น.20

อารีรัตน์ ตอนดวงแก้ว. (2543, 25 กุมภาพันธ์ ). “ชำแหละ ธาตุผี โคบอลต์-60”. มติชน, น.7-8

ข่าวสด. (2543, 11 มีนาคม). “โคบอลต์”. ข่าวสด, น. 1-2

มติชน. (2543, 11 พฤษภาคม). “ทำแท้งแล้วเหยื่อรังสี ‘โคบอลต์ 60’”. มติชน, น.19

ชุติมา นุ่นมัน. (2543, 19 สิงหาคม). “6 เดือน เหยื่อโคบอลต์-60 ภาพสะท้อนสังคม”. มติชน, น.7-8

ชุติมา นุ่นมัน. (2543, 31 ธันวาคม). “2543 ปีแห่งมหันตภัย ย่ำยี-ทำลายสิ่งแวดล้อม”. มติชน, น.10-12


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2566