ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
มินามาตะ (โรคพิษจากสารปรอท) คือโรคที่เป็นผลจากการก่อตั้งโรงงานเพื่อผลิตปุ๋ยเคมีของบริษัท “ชิสโสะ” กลุ่มทุนใหญ่ในอุตสาหกรรมเคมี ในปี 2451 ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองมินามาตะ จังหวัดคุมาโมโตะ ทางตอนเหนือของภูมิภาคคิวชู
ปี 2468 กิจการประมงใน “มินามาตะ” เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียของโรงงาน ทำให้สัตว์น้ำมีจำนวนลดลง รายได้ของชาวประมงก็ลดลงตาม
ปี 2492 บริษัทขยายธุรกิจ มีการตั้งโรงงานผลิตสารเคมีต่างๆ เช่น อะซิทัลดีไฮด์, ไพลีโพรพีลีน ฯลฯ รวมถึงการละเลยปัญหาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม มีการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้สัตว์น้ำลอยตายจำนวนมาก ผู้คนเริ่มมีอาการเจ็บป่วย
1 พฤษภาคม 2499 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชิสโสะ (โรงพยาบาลประจำโรงงานของบริษัทชิสโสะ) ทำรายงานถึงสำนักงานสาธารณสุขเมืองมินามาตะว่า “เกิดโรคระบาดที่ไม่ทราบชื่อขึ้นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการต่อระบบประสาทส่วนกลาง” มีการระดมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จากสำนักงานสาธารณสุขมินามาตะ, โรงพยาบาลชิสโสะ, โรงพยาบาลประจำเมือง ฯลฯ ตั้งคณะแพทย์เฉพาะกิจขึ้นทำงานนี้ ช่วงนั้นคณะแพทย์ที่ลงพื้นที่พบว่าผู้ป่วยล้วนเป็นเด็กเล็ก แต่ในเวลาไม่นานก็ค้นพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย
เดือนมิถุนายน 2499 คณะแพทย์พบผู้ป่วยอีกหลายราย และตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจเป็น “โรคติดต่อร้ายแรง” จากเดิมที่เรียกว่า “โรคประหลาด” ทำให้คนจำนวนมากพากันรังเกียจและกลัวเด็กทั้งหมดที่ป่วยขณะนั้น
ในเบื้องต้นแพทย์สันนิษฐานว่า โรคที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากน้ำเสียจากโรงงานของบริษัทชิสโสะ การตรวจวิเคราะห์น้ำเสียและกากตะกอนที่เก็บจากจุดระบายและในอ่าวมินามาตะ พบโลหะหนักหลายชนิด แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปชัดได้ว่า สารพิษตัวไหนคือต้นเหตุของโรค เพราะโรงงานชิสโสะก็ปิดข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับสุดยอด
เมื่อย้อนดูอาการผู้ป่วย “มินามาตะ” เมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า ซึ่งเสียชีวิตไปโดยไม่ทราบสาเหตุของโรค พบว่าพวกเขามีอาการแบบเดียวกัน คือ อาการผิดปกติที่ระบบประสาทส่วนกลาง แขนและขาสูญเสียความรู้สึก ปวดศีรษะ พูดและเดินได้ยากลำบาก มีอาการกระตุกแข็งทั้งตัวเป็นบางครั้ง
นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงอย่าง “แมว” จำนวนมากในพื้นที่ ก็เกิดอาการคลุ้มคลั่งโดยไม่ทราบสาเหตุ บางตัวน้ำลายไหลเยิ้มออกจากปาก มักวิ่งชนประตูหรือผนังอยู่เรื่อยๆ บางตัวที่อาการรุนแรงจะชักและตายในที่สุด
ปี 2499–2507 ตั้งแต่พบผู้ป่วยเป็นครั้งแรก และโรงงานบริษัทชิสโสะยังคงปล่อยนํ้าเสียอยู่ พบสัตว์นํ้าในอ่าวมินามาตะที่ปนเปื้อนสารปรอทในปริมาณที่สูงมาก เช่น ปลาสากใหญ่ (barracuda) มีสารปรอทสูงถึง 58 มก./กก. รัฐบาลท้องถิ่นขอให้ประชาชนงดบริโภคปลาและสัตว์นํ้าที่จับจากอ่าวมินามาตะ และสมาคมผู้ประกอบการประมงมินามาตะ ก็รณรงค์ให้ชาวประมงงดจับสัตว์น้ำในพื้นที่
ปี 2511 รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับอย่างเป็นทางการว่า โรค “มินามาตะ” เกิดจากมลพิษจากสารปรอท และสั่งห้ามโรงงานของชิสโสะปล่อยน้ำเสีย
14 มิถุนายน 2512 ผู้ป่วยโรคมินามาตะ 112 คน ยื่นคำร้องต่อศาลท้องถิ่นประจำจังหวัด ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็น 642 ล้านเยน
30 มีนาคม 2516 ศาลแขวงคุมาโมโตะ ตัดสินให้ผู้ป่วยเป็นฝ่ายชนะคดี และให้บริษัทชิสโสะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ป่วยเป็นเงินทั้งหมด 930 ล้านเยน ในปีนี้ยังมีการตรวจวัดสารปรอทในสัตว์น้ำที่จับจากอ่าวมินามาตะ และแถลงว่ายังไม่ปลอดภัยที่จะบริโภค เพราะอาจทำให้เกิดโรคมินามาตะขึ้นได้ หากบริโภคสัตว์น้ำในปริมาณมาก
ปี 2517 จังหวัดคุมาโมโตะติดตั้งตาข่ายที่บริเวณปากแม่นํ้าในอ่าวมินามาตะ เพื่อแยกปลาที่ปนเปื้อน และห้ามจับปลาในบริเวณที่มีการกั้นตาข่าย หลังพบว่าปลาในบริเวณนั้นยังคงมีสารปรอทอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัย
ปี 2520 รัฐบาลจัดทำโครงการป้องกันมลพิษและฟื้นฟูอ่าวมินามาตะ เพื่อจัดการทำความสะอาดตะกอนที่ปนเปื้อนสารปรอทในอ่าวมินามาตะ โดยใช้แผ่นเหล็กกล้าขนาดใหญ่กำหนดแนวเขตการถมอ่าว ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 360 ไร่ ตะกอนบริเวณนี้มีสารปรอทสูงกว่า 100 มก./กก. จากนั้นจึงดูดตะกอนที่มีสารปรอทสูงกว่า 25 มก./กก. ในพื้นที่อื่นใกล้เคียง ฝังในพื้นที่ดังกล่าว และทับด้านบนด้วยดินที่มาจากภูเขาในบริเวณใกล้เคียง ใช้เวลาดำเนินการ 13 ปี ใช้งบประมาณ 48,500 ล้านเยน จากบริษัทชิสโสะ 30,500 ล้านเยน ส่วนที่เหลือจากรัฐบาลและท้องถิ่น
ปี 2540 หลังการตรวจสอบพบว่า ปลาในอ่าวมินามาตะอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ตาข่ายที่ติดตั้งอยู่นาน 23 ปี (ตั้งแต่ ปี 2517) ก็รื้อออกมาได้ บริษัทชิสโสะจ่ายเงินชดเชยให้กับสมาคมผู้ประกอบการประมงมินามาตะที่ไม่สามารถจับปลากว่า 20 ปี (พ.ศ. 2517-2540)
สรุป มูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คงพอประเมินได้จากจำนวนเงินและระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟู มูลค่าการสูญเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจ ทว่าเรื่องของผู้คนที่เสียชีวิตและพิการอย่างถาวรกว่า 100 ราย ประเมินค่ายากยิ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
ข้อมูลจาก :
ดร.เสมอแข จงธรรมานุขันธ์. “ประสบการณ์จากการเข้าร่วมหลักสูตร การสร้างขีดความสามารถในการใช้สัตยาบันต่อ สนธิสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท” ใน, วารสารเทคโนโลยีวัสดุ ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2558.
กวินธร เสถียร และธนภัทร วงศ์ประทุม. “มินามาตะ โศกนาฏกรรมและการต่อสู้สู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม” ใน, วารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม ปีที่ 15 ฉบับที่ 1/2562
เกษม พลายแก้ว. “ปรอท : สารเคมีใกล้ตัวที่ควรรู้จัก” ใน, วารสาร มฉก.วิชาการ ปีที่ 8 ฉบับที่ 16 มกราคม-มิถุนายน 2548.
เพ็ญโฉม ตั้ง. “มินามาตะเรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย [1]” เว็บไซต์ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี. (http://www.chemtrack.org/)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566