ภัยพิบัติ “ซีเซียม 137” หลายประเทศหลุดสู่สาธารณะ อันตราย ป่วยถึงตาย!!!

ซีเซียม 137 หายจากโรงไฟฟ้า ปราจีนบุรี
ภาพประกอบเนื้อหา - (ในวงกลม) ซีเซียม 137 หายจากโรงไฟฟ้า ที่ปราจีนบุรี

ซีเซียม 137 (Cs-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุ ซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชัน ที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน 

ซีเซียม 137 นำมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความชื้น และความหนาแน่น ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง, เครื่องวัดระดับ เพื่อตรวจวัดการไหลของของเหลว ในท่อ และแทงก์, เครื่องวัดความหนา สำหรับวัดความหนาของแผ่นโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และอื่น ๆ, เครื่องหยั่งธรณี ในอุตสาหกรรมขุดเจาะ เพื่อช่วยบอกลักษณะเฉพาะของชั้นหินต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยใช้บำบัดมะเร็ง ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมา ฯลฯ

เนื่องจาก ซีเซียม 137 มีความแรงรังสีในระดับสูง หากปล่อยให้หลุดสู่พื้นที่สาธารณะ หรือธรรมชาติ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง เช่น เหตุการณ์ที่ บราซิล ยูเครน และสเปน เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท ผลกระทบส่งผลร้ายตามมาอย่างรุนแรง

บราซิล – ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1987 ซีเซียม 137 ถูกนำออกจากเครื่องบำบัดมะเร็งที่ถูกทิ้งร้างในบราซิล ส่งผลให้ผู้คนหลายร้อยได้รับพิษจากรังสี 

โดย 2 ปี ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์นี้ เมื่อ ค.ศ. 1985 สถาบันรังสีแห่งเมือง Goiania (อยู่ทางใต้ของกรุงบราซิเลีย เมืองหลวงของบราซิล ราว 200 กิโลเมตร)  ได้ย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ แต่ไม่ได้ดำเนินการกับเครื่องบำบัดรังสีอย่างถูกต้อง ซึ่งอุปกรณ์ที่ล้าสมัยชนิดนี้ ยังคงตกค้างอยู่ในสำนักงานร้าง

ในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1987 ชาย 2 คน ลอบเข้ามาเก็บขยะที่สถาบันรังสี แล้วนำชิ้นส่วนอันตรายไปขายต่อให้กับร้านขายของเก่า (scrapyard – ซึ่งรวบรวมยานพาหนะ และเครื่องจักรเก่า ซึ่งจะถูกนำไปขายต่อ หรือเตรียมนำไปรีไซเคิล) กระทั่งอีก 5 วันต่อมา คนงานในร้านขายของเก่าได้รื้ออุปกรณ์ออก นั่นจึงนำไปสู่การปลดปล่อยรังสีอันตราย

กล่าวกันว่า เมื่อเห็นเป็นก้อนหินสีฟ้าเรืองแสง และไม่รู้ถึงอันตรายของมันเลย พวกเขาจึงแจกจ่ายชิ้นส่วนนี้ให้กับเพื่อน ญาติ และเพื่อนบ้าน ซึ่งนั่นกลับทำให้รังสีอันตรายแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดการปนเปื้อนรังสีไปไกลมากกว่า 100 ไมล์

น้องชายของร้านขายของเก่า นำชิ้นส่วนนั้นกลับไปที่บ้าน ลูกสาววัย 6 ขวบของเขาเล่นมันเพราะเห็นว่าเป็นของเล่น นั่นทำให้หนูน้อยคือ 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิต

วันต่อมา ภรรยาของเจ้าของร้านขายของเก่า สังเกตเห็นอาการเจ็บป่วยของบุคคลรอบข้าง จึงขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ ทำให้แพทย์พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ กำลังทุกข์ทรมานจากพิษของรังสีอย่างเฉียบพลัน ในที่สุดมีผู้เสียชีวิต 4 คน คือ เด็กหญิงวัย 6 ขวบ ป้าของเด็กหญิง และอีก 2 คน คือ คนงานในร้านขายของเก่า ส่วนชายเก็บขยะ 2 คน รอดชีวิต คนหนึ่งได้รับรังสีรุนแรงจนต้องตัดแขน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยอีกจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 250 คนได้รับการปนเปื้อนรังสี และผู้คนกว่า 100,000 คนในเมือง ต้องเฝ้าระวังการปนเปื้อน

บ้านเรือนมากกว่า 40 หลังในเมืองมีการปนเปื้อนรังสีในระดับสูง และต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ผลที่ตามมาก็ร้ายแรงเช่นกัน คือ ประชาชนจำนวนมากได้รับความทุกข์ทรมานทางจิตใจ และภาวะตื่นตระหนก จากความกลัวการปนเปื้อนจากรังสี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความหวาดกลัวกลับแผ่ขยายออกไปจนถึงเมืองอื่น ๆ และพากันรังเกียจผู้คน และผลิตภัณฑ์ของเมือง Goiania หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว

แม้จะมีผู้เสียชีวิตเฉียบพลัน 4 คน แต่การปนเปื้อนรังสีจะส่งผลต่อสุขภาพ และอาจทำให้มีอาการเจ็บป่วยในภายหลัง ทั้งนี้ แพทย์ 3 คนจากสถาบันรังสี ถูกตั้งข้อหาทางอาญา เนื่องจากประมาทเลินเล่อ ที่ทิ้งอุปกรณ์อันตรายไว้เบื้องหลัง โดยไม่ดำเนินการจัดการให้ปลอดภัย

ยูเครน – ทศวรรษ 1980 ในสหภาพโซเวียต ที่เมือง Kramatorsk (ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน) มีการก่อสร้างอะพาร์ตเมนต์ขึ้นจำนวนมาก สำหรับผู้อยู่อาศัยนี่เหมือนฝันที่เป็นจริง พวกเขามีเครื่องทำน้ำอุ่น ลิฟต์หรูหรา และดูหรูหรากว่าอาคารอะพาร์ตเมนต์หลังอื่น ๆ ในยุคนั้นอย่างเห็นได้ชัด ทว่า โศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้นไม่นานกับครอบครัวที่อาศัยในอะพาร์ตเมนต์แห่งนี้

บุตรสาววัย 18 ปี คนหนึ่ง ล้มป่วยด้วย “โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว” และเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น มันเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับครอบครัวนี้ แต่พวกเขาก็คิดว่า มันเกิดขึ้นโดยเหตุบังเอิญ อย่างไรก็ตาม เพียงหนึ่งปีต่อมา บุตรชายวัย 16 ปีจากครอบครัวเดียวกัน กลับเสียชีวิตด้วยโรคเดียวกัน ต่อมา แม่ของพวกเขาก็เสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน

ข่าวลือหนาหูเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ หรือโชคลาง แพร่สะพัดในหมู่คนที่รู้จักครอบครัวนี้ กล่าวกันว่า อะพาร์ตเมนต์แห่งนี้ไม่ดีสักเท่าไร แต่เรื่องราวดังกล่าวไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะในวงกว้าง และแม้แต่แพทย์ก็ยังระบุว่า สาเหตุจากการเสียชีวิต มาจากโรคหรือความบกพร่องทางพันธุกรรม

หลังจากเหตุการณ์อันน่าเศร้าของเจ้าของคนก่อน ครอบครัวใหม่ก็ย้ายเข้ามาอาศัยแทน อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. 1987 ครอบครัวใหม่ก็ต้องเผชิญกับเรื่องเศร้า บุตรชายคนหนึ่งเสียชีวิต ขณะที่บุตรชายคนเล็กอีกคนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยทั้งคู่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคเดียวกัน นั่นคือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

คุณพ่อจากครอบครัวใหม่นี้ เล็งเห็นความผิดปกติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบ กระทั่งใน ค.ศ. 1989 ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบอะพาร์ตเมนต์ พวกเขาค้นพบระดับรังสีที่สูงมาก ซึ่งมากเกินพอที่จะส่งรังสีแกมมาในปริมาณที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จากนั้น ได้มีการรื้อห้องออก และรื้อผนังส่วนหนึ่งส่งไปยังสถาบันการวิจัยทางนิวเคลียร์ในกรุงเคียฟ เมื่อทำการตรวจสอบ พวกเขาก็พบขวดเล็ก ๆ ขวดหนึ่ง ซึ่งเป็นขวดที่หายไปในเหมืองหินเมื่อหลายปีก่อน

ขวดหรือกระบอกเล็ก ๆ ชิ้นนั้น คือ ซีเซียม 137 อันเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ที่ใช้วัดความหนาแน่นในเหมืองหิน เจ้าหน้าที่ในเหมืองประมาท ทำชิ้นส่วนนั้นหายไป และในที่สุดมันก็ปะปนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผนังอะพาร์ตเมนต์ และน่าเศร้าที่ชิ้นส่วนนั้น มันฝังอยู่ในผนังใกล้กับเตียงของเด็ก ๆ จึงทำให้เกิดโศกนาฏกรรม

อุบัติเหตุทางรังสีของเมือง Kramatorsk จึงเป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของกฎระเบียบด้านความปลอดภัย ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุกัมมันตภาพรังสี และความสำคัญของการสืบสวนโรคอย่างทันท่วงที ต้องใช้เวลา 9 ปี กว่าที่จะสืบหาความจริงของโศกนาฏกรรมนี้ได้ แลกมากับ 4 ชีวิต จากมะเร็งเม็ดเลือดขาว และอีก 17 ชีวิต ได้รับการปนเปื้อนรังสีในระดับต่างกัน เวลา 9 ปีนั้น ยาวนานเกินไป…

สเปน – ปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1998 หลายประเทศในยุโรปตรวจพบ ปริมาณ ซีเซียม 137 ที่สูงขึ้นผิดปกติ จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1998 โรงงานเหล็กที่มีชื่อว่า “Acerinox” ในเมือง Algeciras ประเทศสเปน แจ้งต่อหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของสเปนว่า ก๊าซกัมมันตภาพรังสีหลุดออกจากเตาหลอมแห่งหนึ่งของโรงงาน 

อุบัติเหตุที่โรงงาน Acerinox ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ จนหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของสเปนประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1998

โดยต้นตอมาจาก ซีเซียม 137 ที่ปะปนกับเศษเหล็ก ซึ่งถูกป้อนเข้าเตาหลอมของโรงงาน ก๊าซที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศทำให้เกิดการปนเปื้อนของรังสี ในรูปของ “radioactive cloud” หรือเมฆกัมมันตรังสี รวมทั้งเศษเหล็กที่เกิดจากกระบวนการหลอมโลหะก็มีการปนเปื้อนรังสีด้วย

ต่อมา ทางการสเปนเร่งดำเนินการตามมาตรการด้านรังสีนิวเคลียร์อย่างเร่งด่วน เจ้าหน้าที่สเปนยืนยันว่า คนงานในโรงงานไม่ได้สัมผัสรังสี อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงการจัดการของโรงงาน และมาตรการของรัฐบาลสเปนที่ล้าช้าเกินไป ซึ่งอาจนำมาสู่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ในยุโรปได้

3 เหตุการณ์ข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่วัตถุอันตรายหลุดสู่สาธารณะ หรือธรรมชาติ จนนำมาซึ่งวิกฤตด้านรังสี สิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายถึงชีวิต หากไม่ใช่ชีวิตของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือชีวิตของมนุษยชาติทั้งมวล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.nst.or.th/article/article54/article54-004.html

https://www.history.com/this-day-in-history/accidental-poisoning-in-brazil

https://www.britannica.com/topic/Goiania-accident

https://www.iflscience.com/the-devastating-kramatorsk-radiological-accident-almost-killed-an-entire-apartment-block-67384 

https://www.europarl.europa.eu/doceo/document/P-4-1998-2051_EN.html?redirect 

https://web.archive.org/web/20080905135613/http://www.earthislandprojects.org/eijournal/winter99/wr_winter99cesium.html#


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2566