ทำไมรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ “เกาะช้าง” ถึง 12 ครั้ง ประหนึ่ง Brand Ambassador

รัชกาลที่ 5 กับ คณะผู้ตามเสด็จ ที่ น้ำตกธารมะยม เกาะช้าง จังหวัดตราด
รัชกาลที่ 5 กับคณะผู้ตามเสด็จ ที่น้ำตกธารมะยม เกาะช้าง จังหวัดตราด (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เกาะช้าง จังหวัดตราด เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ “รัชกาลที่ 5” เสด็จฯ บ่อยครั้งที่สุด โดยระหว่าง พ.ศ. 2416-2444 เสด็จฯ เกาะช้าง และพื้นที่อื่นของเมืองตราด เช่น เกาะกระดาด, เกาะกูด, เกาะหมาก และเมืองตราด รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง

หากระยะทางกรุงเทพฯ-จังหวัดตราด ปัจจุบันที่เป็นถนนลาดยางเรียบร้อยประมาณ 400 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง 30 นาที ย้อนกลับไปในรัชกาลของพระองค์เมื่อ 150 ปีก่อน คงไม่สะดวกและรวดเร็วเช่นนี้

Advertisement

ทำไมพระองค์เสด็จฯ เกาะช้าง บ่อย?

รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ อธิบายเรื่องนี้ไว้ใน หนังสือ “ประวัติศาสตร์จังหวัดตราด” (นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ, เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้อำนวยการจัดทำ, 2565) ในที่นี้ขอเก็บความบางส่วนมานำเสนอ

แม้รัชกาลที่ 5 จะเสด็จฯ เกาะช้าง เมืองตราดบ่อยครั้ง หากพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่เสด็จฯ เกาะช้าง คือ รัชกาลที่ 4 โดยเรือกลไฟชื่อ “สยามอรสุมพล” ใน พ.ศ. 2400 หลังจากขึ้นครองราชย์ 6 ปี

ด้วยสถานการณ์ขณะนั้น ชาติตะวันตกเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และมีท่าทีที่จะเข้ามาแทรกแซงการเมืองของไทย การเสด็จฯ เมืองตราดของพระองค์ ทำให้เมืองตราดเริ่มเป็นที่รู้จักว่า เป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น เกาะช้าง เกาะกระดาด ฯลฯ

ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2411 หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ก็เสด็จฯ เกาะช้าง และสถานที่อื่นๆ ในเมืองตราดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชื่อเสียงของเมืองตราดที่ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแพร่หลายยิ่งขึ้น

รัชกาลที่ 5 กับจำนวนการเสด็จฯ ยังเกาะช้าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ยังเกาะช้าง ครั้งที่ 1-2 ใน พ.ศ. 2416 และ พ.ศ. 2419 โดยพื้นที่เสด็จประพาส คือเกาะช้าง เกาะกระดาด

ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินยังเมืองตราด 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2422 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ จัดตั้ง “สถานีการทหารเรือ” ขึ้นตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก และที่เมืองตราด ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า “สเตชั่นทหารเรือ” เพื่อปราบปรามโจรสลัด และรักษาพระราชอาณาเขต ป้องกันการคุกคามของต่างชาติ ซึ่งในรัชกาลของพระองค์ เวียดนามและกัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสแล้ว

ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2423 เสด็จประพาสเกาะช้าง เกาะกระดาด

ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2424 เสด็จประพาสเกาะช้าง เกาะกระดาด และเมืองตราด

ครั้งที่ 5 และ 6 พ.ศ. 2425 และ พ.ศ. 2426 เสด็จประพาสเกาะช้าง เกาะกระดาด และเกาะหมาก

ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2427 เสด็จประพาสเกาะช้าง เมืองตราด และแหลมงอบ

ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2430 เสด็จประพาสเกาะช้าง เกาะกระดาด เกาะกูด และเมืองตราด

ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2432 เสด็จประพาสเกาะช้าง เกาะกระดาด และเมืองตราด

พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 มีรับสั่งให้ย้ายการปกครองเมืองตราดจากเมืองในสังกัดกรมท่า มาเป็นเมืองในการปกครองของกระทรวงมหาดไทย ด้วยเวลานั้นฝรั่งเศสเริ่มคุกคามไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกกองทัพเข้ามาขับไล่ทหารไทยให้ถอยร่นจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และส่งเรือรบมาจอดในกรุงเทพฯ

พ.ศ. 2436 มีการแต่งตั้งให้ พลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์ (Ander du Plessis de Richelieu) เป็นผู้จัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งยังผู้ว่าราชการเมืองตราด ให้ช่วยพระยาชลยุทธโยธินทร์ จัดการทุกอย่างเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักรอีกด้วย โดยปรากฏหนังสือของพระยาชลยุทธโยธินทร์กราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ว่า

“…ที่เกาะกงจัดทหารมะรีน (ทหารเรือ) จากกรุงเทพฯ 14 คน ทหารจากเมืองตราด 24 คน ทหารจากเมืองแกลง 12 คน รวม 50 คน แจกปืนเฮนรีมาตินี 100 กระบอก กระสุนพร้อม ที่แหลมงอบจัดทหารไว้ 200 คน พร้อมที่ส่งไปช่วยทางเกาะกง ถนนระหว่างแหลมงอบกับเมืองตราด มีสภาพไม่ดีให้บ้านเมืองเร่งซ่อมถนนให้เร็วใน  เดือน พอให้เกวียนเดินได้ ที่แหลมงอบนี้จ่ายเป็น เฮนรีมาตินี 288 กระบอก กระสุนพร้อม…” (สำนักงานจังหวัดตราด, ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดตราด, พ.ศ. 2527)

ครั้งที่ 10 พ.ศ. 2443 เสด็จประพาสเกาะช้าง เกาะกระดาด และแหลมงอบ

ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2444 เสด็จประพาสเกาะช้าง

พ.ศ. 2447 ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองเมืองตราด จากนั้นรัชกาลที่ 5 จึงมิได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองตราดอีก

ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2450 เป็นปีที่ไทยได้เมืองตราดคืนมาจากฝรั่งเศส ระหว่างเสด็จประพาสยุโรปเป็นการส่วนพระองค์ ครั้นเสด็จฯ กลับมานั้น เรือพระที่นั่งมหาจักรีได้แล่นเข้ามาถึงอ่าวไทยในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 จากนั้นจึงได้เสด็จประพาสเมืองตราด เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรชาวตราด ดังปรากฏในจดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน ว่า

“…วันที่ 13 พฤศจิกายน 126 เมื่อคืนนี้เวลา 10 ทุ่ม เรือพระที่นั่งถอนสมอใช้จักรออกจากเกาะกระดาดไปเมืองตราด ระยะทาง 20 ไมล์ เวลาเช้าโมง 1 ถึงปากอ่าวเมืองตราด…”

ในวันนั้นมีพระราชดำรัสตอบประชาชนเมืองตราด ความตอนหนึ่งว่า “…ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอไปในเบื้องหน้าดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ ว่าเราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอไป ย่อมยินดีด้วยในเวลามีความสุข และจะช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์

วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 เวลา 10.00 น. เสด็จฯ เกาะช้างโดยเรือพระที่นั่งออกจากอ่าวเมืองตราดไปเกาะช้าง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่พระองค์เสด็จฯ เกาะช้าง และเมืองตราด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2566