ผู้เขียน | ผิน ทุ่งคา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ขุนรองปลัดชู” ตามตำนานที่เชื่อถือกันมานั้นว่ากันว่า ท่านเป็นครูดาบผู้มีฤทธิ์เดช และเป็นชาว “วิเศษชัยชาญ” คือเป็นนายหมู่บ้านแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตจังหวัดอ่างทอง)
เมื่อกรุงศรีอยุธยาผลัดแผ่นดินได้ไม่นานสู่แผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์อังวะก็ส่งทัพมารุกรานกรุงศรีฯ ขุนรองปลัดชูจึงอาสานำทัพชาวบ้านร่วมทัพไปกับพระยารัตนาธิเบศ เพื่อสกัดทัพอังวะทางภาคใต้ ไกลถึงเมืองกุยบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
ด้วยความที่กำลังของท่านมีเพียงไม่กี่ร้อยนาย ย่อมไม่อาจต้านทานทัพพม่าที่มีหลายพัน (ไปจนถึงหลายหมื่นแล้วแต่ว่าจะยึดพงศาวดารฉบับไหน) จึงต้องแตกพ่ายไป
เรื่องราวของขุนรองปลัดชู จึงนับได้ว่าเป็นตำนานของวีรชนผู้กล้าหาญโดยแท้ แม้ท่านจะมีกำลังเพียงน้อยนิดก็หาได้หวาดเกรงกำลังของศัตรูที่เหนือกว่าไม่ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า ท่านเป็นคนมีของ ถึงพ่ายแพ้ก็ไม่ตายแต่ถูกพม่าจับตัวไป แต่ฉบับอื่นส่วนใหญ่นอกจากจะบอกว่าทัพของท่านแพ้แล้วก็ไม่กล่าวถึงอีก
นั่นเป็นเรื่องราวของตำนานที่มีการขัดเกลาให้เข้ากับอุดมคติตามยุคสมัย แต่ถ้าลองมองในมุมของประวัติศาสตร์ และว่ากันตามหลักฐานแล้ว เรื่องราวของ “ขุนรองปลัดชู” น่าจะต่างไปจากความรับรู้ของคนทั่วไปเยอะทีเดียว
จากการขุดคุ้ยหลักฐานโดย ปรามินทร์ เครือทอง พบว่า ขุนรองปลัดชูจริงๆ แล้วแต่เดิมน่าจะไม่ใช่คน “วิเศษชัยชาญ” อย่างที่หลายคนเชื่อกันด้วยซ้ำ! แต่ควรจะเป็น “คนกุยบุรี” มีศักดิ์เป็นถึงเจ้าเมืองมากกว่า
เหตุที่ปรามินทร์ตั้งข้อสงสัยนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า สมัยนั้นมีข่าวว่า อังวะจะยกทัพเข้าตีอยุธยาถึง 3 ทาง คือทางมะริด ท่ากระดาน และเชียงใหม่ ถ้าขุนรองปลัดชูมี “สำนึกรักบ้านเกิด” จริง ก็น่าจะรอรับศึกที่บ้านเกิดดีกว่า หรือจะร่วมทัพไปกับกองทัพที่ไปตั้งรับที่ท่ากระดาน ก็ยังสมเหตุสมผลมากกว่าจะยกกำลังไปถึงกุยบุรี
แถมพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียมก็ยังได้กล่าวถึงทัพที่ตั้งรับพม่าที่กุยบุรีเอาไว้ว่า “ด้วยมิได้มีวิจารณ์พระเชาวญาณ ก็พาลเขลาทรงเชื่อเอาทั้ง ๓ ทาง [ผู้แต่งพงศาวดารตั้งใจวิจารณ์พระเจ้าเอกทัศน์ว่าไม่มีพระปรีชาสามารถไม่รู้กลศึกข้างอังวะ ที่จริงๆ ตั้งใจจะยกทัพมาเพียงข้างมะริดทางเดียว] จึ่งดำรัสสั่งให้พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู พระจุฬา หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรคัณฑ์ ๕ คน คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทานข้างมะริดก่อน”
เห็นได้ว่า ตัวเลขตรงนี้ก็เยอะอยู่ ต่างจากตำนานที่ถือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เป็นเกณฑ์ที่มักจะบอกว่าปลัดชูมีกำลังราวๆ 400 นายเท่านั้น
เช่นเดียวกับฉบับพระพนรัตน์ ที่บอกว่าทัพ พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อ “ปลัดชู” ได้ไปตั้งทัพรอฝ่ายพม่าที่จะยกมาทางมะริดอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้มาเกณฑ์ชาวบ้านวิเศษชัยชาญไปร่วมทัพของพระยารัตนาธิเบศตามมาทีหลัง เหมือนอย่างที่ฉบับพระราชหัตถเลขาระบุไว้ (ซึ่งกลายมาเป็นเรื่องเล่ากระแสหลักไปแล้ว)
ปรามินทร์กล่าวต่อไปว่า “ปลัดชู” ที่กล่าวถึงในพงศาวดารแต่ละฉบับนี้ ก็น่าจะเป็นคนเดียวกันแน่ เพราะอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันทุกฉบับ แต่ปลัดชูตัวจริงเป็นใครกัน? ตรงนี้ปรามินทร์ได้ยก “พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง” ในกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาอ้างอิง โดยตำรานี้ได้ระบุถึงตำแหน่งของ “พระพิชัยสงคราม” เอาไว้สองท่าน ท่านหนึ่งคือ “พระพิไชยสงคราม เจ้ากรมอาษาซ้ายตราพาลี ถือพระขรรค นา ๕,๐๐๐” เป็นตำแหน่งคู่กับพะรามคำแหง เจ้ากรมอาษาขวา สังกัดสมุหพระกลาโหม
แต่ตำแหน่งที่ปรามินทร์มองว่า น่าจะเข้าเค้ามากกว่าคือ “ออกพระพิไชยภักดีศรีวิสุทธิสงคราม เมืองกุย ขึ้นประแดงอินปัญาซ้าย” พูดง่ายๆ ว่า ขุนรองปลัดชูที่เรียกๆ กันนั้น เดิมน่าจะเป็นเจ้าเมืองกุยบุรี ที่รวมกำลังมาปกป้องบ้านเมืองตัวเอง มากกว่าจะเป็นผู้นำชาวบ้านวิเศษชัยชาญ ที่ยกทัพอาสามาไกลจากอ่างทอง
แล้วจาก “เจ้าเมืองกุยบุรี” กลายมาเป็น “ขุนรองปลัดชู” ได้อย่างไร?
ตรงนี้หากพิจารณาจากผลการพ่ายศึกในสมรภูมิหว้าขาว ที่กุยบุรี จะเห็นว่า แม่ทัพนายกองหลายท่านทีเดียวที่ต้องรับโทษ ที่มีออกชื่อในพงศาวดารก็คือ พระยาอภัยราชา พระยายมราช และพระยาเพชรบุรี แต่หลักฐานโดยตรงถึง “พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู” นั้นไม่มี ปรามินทร์จึงกล่าวว่า เป็นไปได้ที่ท่านจะถูกพม่าจับไป อย่างที่พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาว่าไว้ หรือไม่ก็ถูกจองจำอยู่เมืองหลวงเหมือนแม่ทัพนายกองอีกหลายคน
และหลังจากเสร็จศึกที่กุยบุรีได้ 16 ปี ก็ได้เกิด “ศึกอะแซหวุ่นกี้” ขึ้นในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งคราวนี้ ชื่อของขุนรองปลัดชูก็กลับมาอีกครั้ง ในฐานะ “กองอาทมาต” ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารสยาม ฉบับบริติชมิวเซียมว่า
“ณ วันเสาร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๓
ยกกระบัตรเมืองชัยนาทมากราบทูลว่า หลวงพลขุนรองปลัดชู ไปสืบข่าวราชการ ณ เมืองกำแพงเพชรเห็นค่ายพม่า ณ บ้านโนนศาลา ๒ ค่าย บ้านถลกบาดค่ายหนึ่ง”
ถ้าหากว่า “พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู” เป็นคนเดียวกันกับ “ขุนรองปลัดชู” แห่งกองอาทมาตจริง ไม่ว่าจะสังกัดชัยนาท หรือ วิเศษชัยชาญ ก็เท่ากับว่า ปลัดชูได้ถูกย้ายจากตำแหน่งเจ้าเมืองกุยบุรี ศักดินา 3,000 มากินตำแหน่งรองปลัดเมือง ศักดินา 300 แทน ซึ่งหากปลัดชูจะกลายไปเป็นคนวิเศษชัยชาญก็คงจะเกิดขึ้นหลังจากนี้
ปรามินทร์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า เมื่อมีการชำระพระราชพงศาวดารในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ซึ่งเกิดขึ้นหลังศึกอะแซหวุ่นกี้ไม่กี่ปี จึงเป็นไปได้ที่ผู้ชำระได้หยิบเอาตำแหน่งสุดท้ายของ “ปลัดชู” มาอ้างถึง เพื่อให้คนร่วมสมัยได้เข้าใจตรงกัน
เรื่องที่ชาวบ้านวิเศษชัยชาญตามขุนรองปลัดชูมารบทัพอังวะถึงเมืองกุยบุรี จึงน่าจะไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเมื่อสอบเทียบกันแล้ว มีเพียงพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ชำระขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ที่ระบุว่าท่านเป็น “กรมการเมืองวิเศษชัยชาญ” ในขณะที่เกิดศึก ต่างจากพงศาวดารฉบับอื่นที่กล่าวถึง “ปลัดชู” ในฐานะพระยาพิชัยสงคราม ซึ่งน่าจะมีฐานะเป็นเจ้าเมืองกุยบุรีมากกว่า แต่ภายหลังท่านอาจจะถูกส่งไปอยู่วิเศษชัยชาญจริงก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติม :
- หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ไทยเปลี่ยนแปลงอะไร? ที่ทำให้มีแต้มเหนือพม่า
- ตามรอย “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ
- มกุฎราชกุมารพม่าที่พระมารดาเป็นคนไทยจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปรามินทร์ เครือทอง. “สงสัย : ขุนรองปลัดชู ไม่ใช่คนวิเศษชัยชาญ ไม่ตายในสนามรบ แต่ถูกขัง ถูกย้าย ลดยศ?!?”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2554)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2560