สิ้น “อิงเง่ ซาร์เจนท์” มหาเทวีองค์สุดท้ายแห่งสีป่อ เจ้าของผลงาน “สิ้นแสงฉาน” อันลือลั่น

เจ้าจาแสง กับ อิงเง่ ซาร์เจนท์ (ภาพจาก https://www.facebook.com/tssai13/photos/a.378529215543627/905804649482745/)

อิงเง่ ซาร์เจนท์ หรือนามสกุลเดิม อีเบอร์ฮาร์ด มหาเทวีแห่งสีป่อ ผู้เขียนหนังสือ สิ้นแสงฉาน เป็นชาวออสเตรีย เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี 1932 (พ.ศ. 2475) เธอพบ “เจ้าจาแสง” ครั้งแรก ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ขณะทั้งคู่ศึกษาในมหาวิทยาลัยช่วงต้นทศวรรษ 1950 ระหว่างคบหากัน อิงเง่ไม่เคยรู้เลยว่าชายคนรักเป็นเจ้าฟ้าหลวงแห่งสีป่อ และเมื่อความรักสุกงอม ทั้งคู่ก็แต่งงานกันเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ปี 1953 ที่เมืองเดนเวอร์

ความจริงมาเปิดเผยเอาเมื่อเจ้าจาแสงซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ พาอิงเง่เดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่เมืองสีป่อ เมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่พม่า อิงเง่สงสัยว่าทำไมถึงมีผู้คนมาต้อนรับมากมายขนาดนั้น เจ้าจาแสงจึงบอกว่าพระองค์คือผู้ปกครองนครรัฐสีป่อในรัฐฉาน

แม้ตกใจ แต่ด้วยความรักก็ทำให้ในระยะเวลาไม่นาน อิงเง่สามารถเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทใหญ่ได้อย่างกลมกลืน เธอได้รับชื่อใหม่ว่า “สุจันทรี” และได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาเทวีแห่งสีป่ออย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 1957

เจ้าจาแสงและมหาเทวีแห่งสีป่อ ได้ชื่อว่าเป็นคู่รักราชนิกุลที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดานครรัฐไทใหญ่ 30 กว่าแห่ง ส่วนหนึ่งอาจเพราะเจ้าจาแสงเรียนจบจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และมุ่งมั่นนำความรู้กลับมาพัฒนาสีป่อ อีกส่วนอาจเป็นเพราะมหาเทวีเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งชาวสีป่อและชาวไทใหญ่ในนครรัฐอื่น ๆ ไม่คุ้นตานัก

“ทีแรกนั้นชาวบ้านตื่นตระหนกกับการมีเจ้านายฝ่ายหญิงเป็นสตรีชาวยุโรป ในช่วงแรก ๆ หลายคนถึงกับตั้งแง่ แต่แล้วไม่นานกำแพงดังกล่าวก็ถูกทลายลง ทุกวันนี้มหาเทวีเป็นที่รักและชื่นชมของคนทั้งสีป่อซึ่งยอมรับเธอเป็นพวกเดียวกับพวกเขา” โอกู ครารุพ-นีลเซน นักเขียนชาวเดนมาร์กผู้เคยไปเยือนสีป่อช่วงปลายทศวรรษ 1950 บอกไว้ในหนังสือของเขาชื่อ “The Land of the Golden Pagodas”

เจ้าจาแสงและสุจันทรีร่วมกันพัฒนานครรัฐสีป่อ ทั้งด้านการเกษตรกรรม สาธารณสุข การศึกษา เพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่แล้วทุกอย่างก็หยุดชะงัก เพราะในวันที่ 2 มีนาคม ปี 1962 นายพลเนวินนำกำลังทหารยึดอำนาจของรัฐบาลอูนุที่มาจากการเลือกตั้ง ล้มล้างรัฐธรรมนูญ

หนึ่งวันก่อนนายพลเนวินทำรัฐประหาร เจ้าจาแสงทรงเดินทางด้วยเครื่องบินไปเข้าประชุมรัฐสภาที่กรุงย่างกุ้ง จากนั้นกลับไปที่ตองจี เพื่อเยี่ยมไข้พระพี่นางซึ่งประชวรหนัก เจ้าจาแสงจึงยังไม่ทราบถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และเสด็จออกตั้งแต่เช้า เพื่อขึ้นเครื่องบินไปยังสนามบินล่าเสี้ยวประจำสีป่อ แต่เมื่อมาถึงประตูเมืองตองจีบนทางหลวงสู่เมืองเฮโฮ ทหารที่ตั้งด่านอยู่ก่อนแล้วก็เรียกให้รถยนต์พระที่นั่งของเจ้าจาแสงจอด มีคนพบเห็นพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายว่าถูกทหารอาวุธครบมือควบคุมตัวไป

สุจันทรีซึ่งอยู่ที่สีป่อ พยายามสืบหาว่านายพลเนวินนำตัวเจ้าจาแสงไปไว้ที่ไหน แต่ก็ถูกทหารจับตามองแทบไม่คลาดสายตา ทั้งยังไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัดว่าตกลงแล้วเจ้าจาแสงยังทรงมีพระชนมชีพอยู่หรือจากไปแล้ว จนวันหนึ่ง สุจันทรีตัดสินใจพาพระธิดาคือมายรีและเกนรีเดินทางเข้าไปพำนักที่กรุงย่างกุ้ง เพื่อจะได้สืบข่าวอย่างละเอียดได้มากขึ้น

แม้สุจันทรีจะพยายามทวงถามความยุติธรรมถึงชีวิตของเจ้าจาแสงจากนายพลเนวินเท่าใด แต่นายพลเนวินและบรรดาทหารก็ไม่เคยให้คำตอบที่มากไปกว่า “เจ้าจาแสงสบายดี” และถูกกักตัวไว้ในที่ปลอดภัยแห่งหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ทหารระดับใหญ่โตบางรายกลับบอกว่า “เจ้าจาแสงไม่เคยถูกควบคุมตัว” ด้วยซ้ำ ส่วน “โบเสตจะ” อดีตนักการเมืองพม่า เล่าให้สุจันทรีทราบถึงข่าวร้ายว่า เจ้าจาแสงถูกทหารปลงพระชนม์แล้ว ที่ค่ายทหารบาตูเมี้ยวทางเหนือของตองจี ไม่นานหลังถูกควบคุมตัว

เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ท้ายสุด สุจันทรีจึงต้องพามายรีและเกนรีออกจากพม่ากลับไปยังออสเตรีย จากนั้นทำงานที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย อยู่สักพัก ระหว่างนั้น “อิงเง่” ได้รู้จักและคุ้นเคยกับครอบครัวของ โสภาค สุวรรณ นักเขียนชื่อดังของไทย เนื่องจากบิดาของโสภาครับราชการในสถานเอกอัครราชทูตที่นั่น เป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง “เกนรี มายรี” ของโสภาค

ปี 1966 อิงเง่และทายาททั้งสอง เดินทางไปตั้งรกรากที่สหรัฐอเมริกา เธอแต่งงานกับ โฮวาร์ด “แทด” ซาร์เจนท์ ในปี 1968 แม้ชีวิตที่นครรัฐสีป่อจะจบลง แต่อิงเง่ยังคงผูกพันกับชาวสีป่อ เธอเขียนหนังสือ “Twilight Over Burma: My Life as a Shan Princess” (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “สิ้นแสงฉาน”) บอกเล่าชีวิตของเธอและเจ้าจาแสง ควบคู่กับการตีแผ่ความโหดร้ายของเผด็จการทหารยุคนายพลเนวิน

อิงเง่ ซาร์เจนท์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ในวัย 91 ปี ทิ้งเรื่องราวยุครุ่งเรืองของนครรัฐสีป่อแห่งรัฐฉาน ไว้ให้ผู้คนทั่วโลกได้จดจำและนึกถึง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ซาร์เจนท์, อิงเง่. สิ้นแสงฉาน. พิมพ์ครั้งที่ 19. กรุงเทพฯ: มติชน. 2564.

“สิ้นแสงฉาน ‘พระนางสุจันทรี’ มหาเทวีองค์สุดท้าย รัฐฉาน สิ้นแล้ว อายุ 91 ปี” https://www.matichon.co.th/foreign/news_3810570


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566