พระยาเทเวศรฯ มหาดเล็กสมัย ร. 5 ที่เกือบได้เป็น พันท้ายนรสิงห์คนที่ 2

ภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)

“พันท้ายนรสิงห์” ข้าราชการกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลพระเจ้าเสือ ที่ทำหน้านายท้ายเรือพระที่นั่ง ผู้ยืนยันรับโทษ “ประหารชีวิต” เพราะหัวเรือพระที่นั่งหัก เนื่องจากเส้นทางที่คดเคี้ยว

เหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นอีกครั้งสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 5 แต่ตอนจบคราวนี้ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต

Advertisement

เรื่องราวนี้ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในบทความของเขาที่ชื่อว่า “ปิยมหาราชานุสรณ์ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกบันทึก” (ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2551) พอสรุปความได้ว่า

พระยาเทเวศรฯ ที่บิดาทูลขอให้รับโทษประหารชีวิต แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษษยน 2551)

มหาดเล็กผู้หนึ่งชื่อ พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ล. วราห์ กุญชร) บุตรชายของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร) กับหม่อมเผื่อน กุญชร ณ อยุธยา

ขณะเกิดเหตุนั้นพระยาเทเวศรฯ มียศเป็นหลวงฤทธิ์นายเวร ทำหน้าที่สารถีขับรถม้าพระที่นั่ง ซึ่งเวลานั้นรัชกาลที่ 5 เสด็จทรงตรวจตราการก่อสร้างพระราชวังดุสิต เป็นประจำเกือบทุกวัน บางครั้งก็ยังเสด็จทรงตรวจงานที่วัดเบญจมบพิตรซึ่งก่อสร้างในเวลาเดียวกันอีกด้วย

ส่วนต้นเหตุของปัญหาเกิดจาก “ม้า” ที่ใช้เทียมรถพระที่นั่ง

ม้าดังกล่าว เป็นม้าเทศคู่หนึ่งที่กรมม้าได้รับมาจากสิงคโปร์ รัชกาลที่ 5 โปรดม้าคู่นั้นมาก มีพระบรมราชโองการให้ใช้เทียมรถพระที่นั่ง แต่ม้านั้นบังเอิญมีขวัญที่สีข้างซ้ายประเภทที่เรียกว่า “แร้งกระพือปีก” ซึ่งตามตำราม้าถือว่าเป็นลักษณะไม่ดี ไม่ควรใช้เทียมรถพระที่นั่ง กรมม้าจึงได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ

หากรัชกาลที่ 5 รับสั่งว่าให้ลองดู ปรากฏว่าม้าคู่นี้มีลักษณะตื่นง่ายไม่เป็นที่ไว้วางใจ รัชกาลที่ 5 รับสั่งกับพระยาเทเวศรฯ ผู้เป็นสารถีว่า “ไม่เป็นไร”

หากก็เกิดเหตุขึ้นจนได้

วันหนึ่งเวลาเย็นเสด็จฯ กลับจากการตรวจงานก่อสร้างวัดเบญจมบพิตร รถพระที่นั่งขับเลียบคลองเปรมประชากร ไปตามถนนซึ่งยังไม่เรียบร้อย มีลวดหนามกั้นริมคลองเป็นตอนๆ มาถึงทางเลี้ยวตอนหนึ่ง ขณะที่มีรถบรรทุกหญ้าสวนมากะทันหัน ม้าเทียมรถพระที่นั่งตื่นหันไปครูดกับลวดหนาม เลยตกใจมากพารถพระที่นั่งออกวิ่ง

พระยาเทเวศรฯ สารถีใช้วิธีบังคับใดๆ ก็ไม่สำเร็จ จึงหันมากราบบังคมทูลว่า ไม่สามารถจะให้ม้าลดฝีเท้าลงได้ จะต้องทำให้หยุดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

รัชกาลที่ 5 รับสั่งว่า “ทำอย่างไรก็ตามใจเอ็ง”

พระยาเทเวศรฯ จึงได้ตัดสินใจชักม้าให้ลงไปในคลองตื้นตอนหนึ่ง รถพระที่นั่งลงไปตะแคงล้อติดบนถนนข้างหนึ่งและลงไปในโคลนข้างหนึ่ง แต่ไม่มีผู้ใดบาดเจ็บ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา ที่ตามเสด็จไปด้วยก็มิได้ตกพระทัยมากมายแต่อย่างใด และได้เสด็จฯ กลับถึงพระบรมมหาราชวังโดยปกติ

เจ้าพระยาเทเวศรฯ (บิดาของพระยาเทเวศรฯ) ตำแหน่งจางวางมหาดเล็กและบังคับราชการกรมม้าด้วย เมื่อทราบข่าวก็รีบเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรเห็นเจ้าพระยาเทเวศรฯ ก็มีพระราชดำรัสว่า “เทเวศรไอ้อู๊ด [ชื่อเล่นพระยาเทวศรฯ] ขับรถไปลงคลอง”

เจ้าพระยาเทเวศรฯ กราบบังคมทูลว่า “ทำความผิดเช่นนี้ เป็นความผิดถึงประหาร”

รัชกาลที่ 5 รับสั่งว่า “ไอ้อู๊ดมันไม่ได้ทำ ม้ามันทำ” แล้วก็ทรงพระสรวล และมิให้ลงพระราชอาญาอย่างใด

พระยาเทเวศรฯ เล่าว่า ท่านบิดารู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างสุดซึ้ง แต่ก็ได้แสดงความไม่พอใจที่ผู้เป็นลูกมิได้ถูกลงพระราชอาญาอย่างใดอยู่เป็นเวลานาน

กรณีของพระยาเทเวศรฯ หากวิเคราะห์ว่าเป็นความรับผิดชอบในหน้าที่ ท่านก็คงได้เป็นพันท้ายนรสิงห์คนที่ 2 เป็นแน่ แต่เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินอย่างฉับพลันทันที ว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยและทรงโยนความผิดให้ม้าเป็นผู้รับผิดแทน พระยาเทเวศรฯ จึงรอดตัวรอดตายไปได้อย่างหวุดหวิด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2566