เว็บเกย์อ้าง “ฮ่องเต้ฮั่น” ส่วนใหญ่เคยผ่านประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน

ฮ่องเต้ ราชวงศ์ฮั่น ตำนานรัก ตัดแขนเสื้อ
ภาพเขียนตำนานรักตัดแขนเสื้อ โดย Chen Hong Shou, 1651

เว็บ pride.com เว็บไซต์ที่เน้นเรื่องราวข่าวสารของกลุ่ม LGBT (เลสเบียน, เกย์, ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ) ได้เผยแพร่บทความที่ชื่อ “A Brief History of Homosexuality and Bisexuality in Ancient China” (ประวัติศาสตร์โดยสังเขปของคนรักเพศเดียวกัน และไบเซ็กชวลในจีนยุคโบราณ) โดย ซาการี เซน (Zachary Zane) บทความซึ่งฉายภาพในแง่มุมเกี่ยวกับสัมพันธ์ทางเพศในสังคมโบราณของจีน ที่บางช่วงเวลาเชื่อกันว่า ความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติ ต่างจากทัศนคติของชาวจีนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ ฮ่องเต้ ราชวงศ์ฮั่น หลายคนเคยมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันมาแล้วหลายคน

ฮ่องเต้ ราชวงศ์ฮั่น ตำนานรัก ตัดแขนเสื้อ
ภาพเขียนตำนานรักตัดแขนเสื้อ โดย Chen Hong Shou, 1651 A.D. (Wikimedia Commons)

ตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นอ้างคือความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องเต้อ้ายแห่งราชวงศ์ฮั่น (Emperor Ai of Han Dynasty) กับ ตงเสียน (Dong Xian) คู่รักเพศเดียวกันของพระองค์ ที่กลายเป็นตำนานรัก “ตัดแขนเสื้อ”

มีที่มาจากเรื่องเล่าที่ว่า เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ตงเสียนยังคงหลับใหลโดยได้นอนทับแขนเสื้อของฮ่องเต้อยู่นั้น ฮ่องเต้ ราชวงศ์ฮั่น จำต้องลุกจากที่บรรทม แต่ไม่ต้องการรบกวนการนอนของคู่รัก จึงยอมตัดแขนเสื้อของพระองค์ทิ้งแทน เพื่อให้ตงเสียนนอนหลับต่อไป

เซน ผู้เขียนบทความชิ้นนี้อ้างว่า ฮ่องเต้อ้าย มิใช่ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวที่มีสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลเพศเดียวกัน แต่ ฮ่องเต้ ราชวงศ์ฮั่น จำนวน 10 จาก 13 พระองค์ (เป็นการนับที่ไม่รวมราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) ล้วนแล้วแต่เคยมีสัมพันธ์ทางเพศกับชายด้วยกัน นอกเหนือไปจากชายาและมเหสีของพระองค์ และหลังสิ้นราชวงศ์ฮั่น เซน อ้างว่า สังคมจีนยิ่งให้การยอมรับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะสัมพันธ์ดังกล่าวมิได้เป็นอุปสรรคต่อการแต่งงานและการมีครอบครัว

ภาพ หญิงสาว แอบมอง สองหนุ่ม ระหว่างพรอดรักกัน ศิลปะ สมัยราชวงศ์ชิง
ภาพหญิงสาวแอบมองสองหนุ่มระหว่างพรอดรักกัน ศิลปะสมัยราชวงศ์ชิง จาก Chinese Sexual Culture Museum, Shanghai, via Wikimedia Commons

ส่วนการที่สังคมจีนในปัจจุบันได้หันมามีทัศนคติในเชิงลบต่อชาวเกย์นั้น เซน กล่าวว่า นักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่าเป็นผลมาจากการรับเอาแนวคิดของตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่มองการร่วมเพศของคนเพศเดียวกันว่าเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย

ทั้งนี้ รายงานของเดอะการ์เดียนกล่าวว่า หลังการปฏิวัติจีนในปี 1912 ขบวนการชาตินิยมจีนสมัยนั้นมองว่า พฤติกรรมรักเพศเดียวกันถือเป็นวิถีปฏิบัติอันเสื่อมทรามของราชสำนัก

ขณะที่งานศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยซัสเกตเชวัน (University of Saskatchewan) ในแคนาดา ระบุว่าหลังการปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1949 การเป็นเกย์แม้จะไม่ถูกจัดให้เป็นอาชญากรรมโดยชัดแจ้ง แต่ความผิดฐานมีพฤติกรรมเป็นอันธพาลก็ถูกตีความครอบคลุมไปถึงพฤติกรรมที่รัฐเห็นว่าไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการเป็นเกย์ด้วย ทำให้ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมชาวเกย์จึงถูกเล่นงานอย่างรุนแรง

ภาพวาด การร่วมรัก ของ คนรักเพศเดียวกัน ศิลปะ สมัยราชวงศ์ชิง บนผืนผ้าไหม
ภาพการร่วมรักของคนรักเพศเดียวกัน ศิลปะสมัยราชวงศ์ชิงบนผืนผ้าไหม จาก Kinsey Institute, Bloomington, Indiana, via Wikimedia Commons

กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปในปี 1997 เปิดช่องให้ชาวเกย์แสดงตัวตนได้มากขึ้น ต่อมาในปี 2001 สมาคมจิตแพทย์จีนได้ตัดพฤติกรรมรักเพศเดียวกันออกจากการจัดให้เป็นอาการผิดปกติทางจิต (The Diplomat)

อย่างไรก็ดี ถึงปัจจุบันแบบเรียนหลายเล่มของจีนยังคงระบุว่า การรักเพศเดียวกันเป็น “อาการผิดปกติ” บ้างก็แนะนำให้ใช้การบำบัดด้วยการ “ช็อค” เพื่อรักษา บางเล่มถึงกับระบุว่า ความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้เมื่อปลายปี 2015)นักศึกษาจีนรายหนึ่งตัดสินใจยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการจีนต่อศาล เพื่อให้มีการปรับปรุงเนื้อหา และยกเลิกการใช้ภาษาที่เป็นอคติต่อชาวเกย์ในแบบเรียนของทางการ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับข้อเรียกร้องของเธอไว้พิจารณาแล้ว (The Washington Post)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

A Brief History of Homosexuality and Bisexuality in Ancient China โดย Zachary Zane (pride.com)

China drops homosexuality from list of psychiatric disorders โดย John Gittings (The Guardian)

Policy issues concerning sexual orientation in China, Canada, and the United States โดย Don Cochrane (University of Saskatchewan)

Gay Activist Sues the Chinese Government for Defamation โดย J.T. Quigley (The Diplomat)

Chinese textbooks are wildly homophobic. One student is fighting back โดย Emily Rauhala (The Washington Post)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2559