ผู้เขียน | นารีรัตน์ จำปาเฟื่อง |
---|---|
เผยแพร่ |
“เจ๊ะเห” ภาษาถิ่นตากใบ ที่ (อาจ) เลือนหายไปกับกาลเวลา เช่นเดียวกับอีกหลายภาษาในโลก?
หากจะกล่าวว่า หลายภาษาในโลกมีแนวโน้มที่จะสูญพันธ์ุในอนาคตอันใกล้ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องผิด หลายภาษาไม่ได้ใช้และถูกแทนที่ด้วยภาษาอื่นในภูมิภาค พื้นที่ หรือประเทศต่าง ๆ ทั้งแนวโน้มปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป เด็กยุคใหม่ไม่ได้มีการรักษาวัฒนธรรมภาษาในท้องถิ่นเดิมของตนเอาไว้ เมื่อผู้ใหญ่ที่ใช้ภาษานั้นเสียชีวิตไป ภาษาท้องถิ่นเหล่านั้นก็สูญหายไปด้วยเช่นเดียวกับ “เจ๊ะเห” หรือ “ภาษาตากใบ” ก็เป็นหนึ่งในภาษาที่คนเก่าคนแก่ในพื้นที่ห่วงว่ามีแนวโน้มที่จะหายไป
ทำความรู้จักภาษาถิ่นตากใบ (เจ๊ะเห)
ภาษาถิ่นตากใบ (ไทยตากใบ) หรือภาษาเจ๊ะเห เป็นอีกกลุ่มภาษาหนึ่ง ที่คนในจังหวัดนราธิวาสใช้สื่อสารกัน ส่วนใหญ่ใช้พูดกันในหมู่คนที่อยู่บริเวณอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ภาษาไทยตากใบนี้เจ้าของจะเรียกตัวเองว่า ‘ภาษาเจ๊ะเห’ โดยเหตุที่ภาษานี้พูดกันโดยคนส่วนใหญ่ที่อยู่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส นักภาษาจึงเรียกชื่อภาษานี้ตามชื่ออำเภอว่า ภาษาไทยตากใบ
ภาษาถิ่นตากใบ มีระบบเสียงและระบบคำที่ค่อนข้างจะเป็นเอกลักษณ์ของตนเองมากที่สุด ซึ่งไม่เหมือนกับภาษาถิ่นใต้ คือ มีหน่วยเสียงพยัญชนะ 22 เสียง มีหน่วยเสียงสระเดี่ยว 18 เสียง หน่วยเสียงสระประสม 3 เสียง และหน่วยเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียง เนื่องจากภาษาถิ่นตากใบอยู่ใกล้ชิดกับภาษามลายูถิ่น และภาษาใต้ ภาษาตากใบเป็นภาษาหลายพยางค์ ส่วนภาษาไทยถิ่นใต้เป็นภาษาพยางค์เดียว
ภาษาถิ่นใต้อำเภอตากใบ เป็นภาษาที่มีท่วงทำนองไพเราะ นุ่มนวล ไม่แข็งกระด้างเหมือนภาษาไทยถิ่นโดยทั่วไป นักภาษาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภาษาไทยถิ่นใต้ในอำเภอตากใบในปัจจุบันน่าจะพัฒนามาจากภาษาไทยที่ใช้ในจังหวัดสุโขทัยในอดีต ทั้งนี้ เพราะการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันของชาวตากใบยังมีคำเก่าปะปนอยู่ เช่น สรง หมายถึง อาบน้ำ เสด็จ หมายถึง ไป กลด หมายถึง ร่ม เป็นต้น (กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย, 2545)
ในปัจจุบันผู้พูดภาษาตากใบมีจำนวนประมาณ 60,000-70,000 คน กระจายตัวอยู่ในจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่บางส่วนในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังพบกลุ่มภาษานี้ในจังหวัดนครศรีธรรมราชบางส่วน (Suwilai Premsrirat et al., 2001)
เจ๊ะเห ถูกใช้น้อยลงทุกวัน คนท้องถิ่นห่วง ‘จะสูญหายไป’
จากการศึกษาสถานการณ์การใช้ภาษาในปัจจุบันพบว่า แม้ว่าภาษานี้ยังมีความแข็งแรงและพูดกันอย่างแพร่หลาย แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่าผู้พูดรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะใช้ภาษาถิ่นของตนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ (ภัสร์ธีรา, 2559)
ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยกับคนในท้องถิ่น (อำเภอตากใบ) ที่ยังคงใช้ภาษาเจ๊ะเหอยู่ นามสมมุติว่า ภู เขากล่าวว่า “ยุคนี้เป็นยุคของสื่อ คนในท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลของสื่อก็เริ่มหันไปใช้สำเนียงกลางที่เป็นสำเนียงภาษาราชการแทน พ่อแม่เมื่อจะส่งลูกไปในโรงเรียนที่ใช้ภาษากลางเป็นภาษาที่ใช้กันในโรงเรียน พ่อแม่ก็กลัวว่าลูกจะไปออกสำเนียงแปร่ง ๆ (สำเนียงท้องถิ่น) จึงไม่สอนลูกใช้ภาษาถิ่น กลายเป็นว่าพ่อแม่พูดกันเอง แต่ลูกกลับใช้ภาษากลาง ลูกทำได้แค่ฟัง แต่ไม่สามารถพูดได้”
ภู ยังกล่าวว่า “นี่น่าจะเป็นปัจจัยหลัก ๆ เลยที่ทำให้ภาษาเจ๊ะเหเริ่มหายไป อีกปัจจัยหนึ่งคือเมื่อคนยุคใหม่เข้ามาในเมืองหลวง การย้ายถิ่นฐาน (ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก) ทำให้ประชากรรอบนอกในท้องถิ่นที่มีอยู่หนาแน่นกลับลดน้อยลง ซึ่งคนที่ใช้ภาษาถิ่นเหล่านั้น (คนรุ่นใหม่) หันเข้ามาอยู่ในเมือง ยิ่งทำให้เขาเหล่านั้นใช้ภาษาถิ่นน้อยลงไปเรื่อย ๆ คนท้องถิ่นที่เหลือตามต่างจังหวัดก็จะเหลือเพียงแต่ผู้มีอายุ คนสูงวัยที่ยังใช้กันอยู่ แต่กลับไม่มีผู้ศึกษาหรือสืบสานต่อ” (ถอดบทสัมภาษณ์จากคนในท้องถิ่น)
การเลือนหายของภาษาถิ่นมีความสำคัญต่อชุมชนอย่างไร?
เมื่อชุมชนสูญเสียภาษา สิ่งที่มักสูญเสียควบคู่กันเป็นอย่างมากคือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันนั้น แม้ว่าการสูญเสียอาจเป็นไปโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันบางอย่างที่เป็นการรู้สึกว่าเสียเอกลักษณ์ทางสังคม กลุ่มสังคมก็เลือนลางไปเมื่อภาษาหายไป
ภาษาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงพลังถึงอัตลักษณ์ของการเป็นกลุ่มคน ชีวิตส่วนใหญ่ทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณ และสติปัญญาของผู้คนได้รับประสบการณ์ผ่านภาษา ไม่ว่าจะเป็นบทสวดมนต์ นิทานปรัมปรา พิธี กวีนิพนธ์ คำปราศรัย คำศัพท์ทางเทคนิค คำทักทายในชีวิตประจำวัน การจากลา รูปแบบการสนทนา อารมณ์ วิธีการพูดคุยกับคนอื่น เกี่ยวกับนิสัย พฤติกรรม ไปจนถึงเรื่องของอารมณ์ เมื่อภาษาใดสูญหายไป ทั้งหมดนี้จะต้องได้รับการปรับปรุงใหม่ในภาษาใหม่ โดยมีคำ เสียง และไวยากรณ์ที่แตกต่างกัน เหนือสิ่งอื่นใด ภาษาของชุมชนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต และสำคัญมากสำหรับผู้อาวุโสหรือผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นถิ่นนั้นมาอย่างยาวนาน
คนยุคใหม่ที่เป็นคนท้องถิ่นควรหันกลับมาให้ความสำคัญ
การจะอนุรักษ์หรือคงไว้ซึ่งภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ บนโลกนั้น คนพื้นถิ่นคือตัวการที่จะทำให้สำเร็จมากที่สุด แต่ละครอบครัวไม่ควรปิดกั้นการใช้ภาษาถิ่นกับลูกหลาน โดยการให้เหตุผลว่ากลัวลูกหลานตนจะสื่อสารกับคนอื่น ๆ ในสังคมเมืองไม่ได้ เนื่องด้วยความเป็นมนุษย์นั้นสามารถที่จะเรียนรู้ได้หลากหลายภาษา และสามารถปรับตัวในแวดล้อมต่าง ๆ ได้ อีกทั้งการปล่อยให้สื่อเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป ยิ่งจะทำให้คนยุคใหม่หันหลังให้วัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมของตนเอง
คนยุคใหม่ควรปรับชุดความคิดใหม่ว่าการอนุรักษ์หรือรักษาวัฒนธรรมเดิมของตนไว้ไม่ใช่สิ่งน่าอาย แต่กลับเป็นสิ่งดีเสียอีก อีกทั้งผู้อาวุโสในชุมชนจะได้หมดกังวลในเรื่องการเลือนหายของวัฒนธรรมภาษาเมื่อตนจากไป หากคนยุคใหม่นั้นยังนำกลับมาใช้อยู่
อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์วัฒนธรรมภาษา มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นการแสดงออกของวัฒนธรรมและประเพณีเฉพาะของกลุ่มคน เพราะหากคนตายไป วัฒนธรรมภาษาก็อาจตายตามไปด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “นราธิวาส” เดิมเรียกเป็นภาษามลายูว่า “เมอนารา” หรือ “เมอนารอ”
- ค้นหา “บาเตาะ” คนกินเนื้อคน เรื่องเล่าหรือความจริงในผืนป่าฮาลา บาลา ที่นราธิวาส?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนราธิวาส. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, (2545), 63-64.
ภัสร์ธีรา ฉลองเดช และ Pasteera Chalongdet. (2559). สถานการณ์และทัศนคติการใช้ภาษาตากใบในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Premsrirat, S., et al. (2001). Ethnolinguistic maps of Thailand. Ministry of Culture and Mahidol University.
Srisuwitthanon, W. (1985). Classification by vocabularies: The Tai Tak Bai language group. M.A. thesis, Mahidol University.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2566