การมาถึงของ “ข้าวสาลี-ข้าวบาเลย์” จุดเปลี่ยนสำคัญสู่สังคมชายเป็นใหญ่ในจีน

หญิง จีน
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพเขียนหญิงชาวจีน เขียนขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 (ภาพจาก Walters Art Museum ไฟล์ public domain)

การมาถึงของ “ข้าวสาลี-ข้าวบาเลย์” จุดเปลี่ยนสำคัญสู่สังคมชายเป็นใหญ่ในจีน

ในประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆ ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ชายมักจะมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าผู้หญิง เหมือนอย่างคำโบราณที่กล่าวว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” แต่ก็มีงานค้นคว้าหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า สถานะของผู้หญิงในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นมิได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย ก่อนที่สังคมจะเปลี่ยนโครงสร้าง และกลายเป็นผู้ชายที่สามารถยึดกุมสถานะที่เหนือกว่ามาได้จนถึงปัจจุบัน

Advertisement

ในงานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ทาง Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America ทีมนักวิจัยนำโดย ยู ตง (Yu Dong) จากสำนักประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยชานตง ในประเทศจีน ได้ทำการศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในกลุ่มวัฒนธรรมจีน โดยทำการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณสถานในยุคแรกเริ่มที่มนุษย์รู้จักการทำเกษตร ถึงช่วงก่อนเข้าสู่ยุคจักรวรรดิ พวกเขาไม่พบหลักฐานความเหลื่อมล้ำทางเพศในช่วงต้นที่เริ่มเข้าสู่สังคมแบบเกษตรกรรมแต่อย่างใด แต่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการขยายพันธุ์พืชชนิดใหม่ในช่วงก่อนยุคจักรวรรดิ

ในช่วงยุคหินใหม่ของวัฒนธรรมหยางเชา (5000-2900 ปี ก่อนคริสต์กาล) อาหารหลักๆ ของมนุษย์มาจากการเพาะปลูกธัญพืชท้องถิ่น เลี้ยงสัตว์และล่าสัตว์ เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายยุคหินใหม่ (ราว 2600-1900 ปีก่อนคริสตกาล) จึงได้มีการนำ ข้าวสาลี และ ข้าวบาเลย์ เข้ามาขยายพันธุ์ในพื้นที่แถบนี้ และอาจเป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของกลุ่มวัฒนธรรมจีน

นักวิจัยพบว่า ในยุคสัมฤทธิ์ สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก (771-221 ก่อนคริสต์กาล) ธัญพืชชนิดใหม่กลายมาเป็นอาหารหลักของผู้หญิง แปรผันกับการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ลดลงไป ต่างกับผู้ชายที่แม้จะบริโภคธัญพืชชนิดใหม่ แต่ก็ยังบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณที่สูงต่อไป นอกจากนี้พวกเขายังพบหลักฐานความผิดปกติของกระดูกในเพศหญิงที่สูงกว่าผู้ชายเป็นอย่างมาก

นักวิจัยกลุ่มนี้จึงเชื่อว่า พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างผู้หญิงและผู้ชาย คือจุดเริ่มของความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ผู้ชายกลายเป็นใหญ่ในยุคแรกๆ ของจีน และสมมติฐานของพวกเขาก็ได้รับการยืนยันจากหลักฐานอื่น อย่างเช่นส่วนต่างของส่วนสูงร่างกายระหว่างชายหญิงที่เพิ่มขึ้น และการประกอบพิธีศพของเพศชายที่หรูหรากว่ามากในสังคมสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน อาจไม่ได้เป็นเหตุและเป็นผลของกันและกันก็ได้ สแตนลีย์ เอช. แอมโบรส (Stanley H. Ambrose) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ซึ่งมิได้มีส่วนร่วมกับงานวิจัยได้ให้ความเห็นอีกมุมหนึ่งกับ Scientific American ว่า ในช่วงปลายของยุคสัมฤทธิ์ในจีนเป็นยุคของการทำสงครามระหว่างนครรัฐต่างๆ จึงเป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นนักรบมีบทบาทสูง คุณค่าของเพศชายจึงได้รับการเชิดชูให้สูงตามไปด้วย

สอดคล้องกับความเห็นของ เจน บูอิกส์ตรา (Jane Buikstra) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนาที่มองว่า ความทะเยอทะยานของราชวงศ์ต่างๆ ที่ประสงค์จะขยายดินแดน รวมไปถึงความพยายามที่จะขยายอำนาจควบคุมทรัพยากรแหล่งต่างๆ ในยุคสัมฤทธิ์ต่างมีส่วนส่งเสริมสถานะของผู้ชายในสมัยนั้นด้วยกันทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

จุดกำเนิดพ่อค้าชาว “จีน” กับธุรกิจ “โรงสีข้าว” ยุคแรกในสยาม จากความมั่งคั่งสู่การล้มละลาย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2564