“หนองแวง” ชื่อบ้านนามเมืองสุดฮิตในภาคอีสาน มาจากไหน?

ป้าย สถานีรถไฟ หนองแวง ศรีสะเกษ ภาคอีสาน
ป้ายสถานีรถไฟหนองแวง อำเภอเมืองศรีสะเกษ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก : ที่นี่ ศรีสะเกษ)

“หนองแวง” เป็นคำยอดนิยมคำหนึ่งที่ใช้เป็นชื่อของหมู่บ้าน, ตำบล ใน “ภาคอีสาน” ของไทย เมื่อมี โรงเรียน, วัด, สถานีตำรวจภูธร, องค์การบริหารส่วนตำบล, เทศบาล ฯลฯ ตั้งในพื้นที่ดังกล่าวก็มักจะใช้คำว่า “หนองแวง” เป็นชื่อสถานที่, หน่วยงานนั้นด้วย

ชื่อ “หนองแวง” เป็นที่นิยมขนาดไหน?!?

เมื่อลองค้นหาในระยะเวลาสั้นๆ พบว่า จังหวัดต่างๆ ใน ภาคอีสาน มีหมู่บ้าน และตำบลชื่อ “หนองแวง” (รวมถึงบางแห่งที่มีการเติมคำอื่นๆ เช่น กลาง, ใต้, ยาวต่อท้าย “หนองแวง”) พอสรุปเป็นตัวอย่างได้ดังนี้

Advertisement

จังหวัดอุบลราชธานี

บ้านหนองแวง อำเภอสว่างวีระวงศ์, บ้านหนองแวง ตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม, บ้านหนองแวง ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน, บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอเขื่องใน, บ้านหนองแวง ตำบลค้อน้อย อำเภอสำโรง

จังหวัดอุดรธานี

บ้านหนองแวง ตำบลหนองขอนกว้าง อำเภอเมือง, บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอน้ำโสม, ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านผือ, บ้านหนองแวงยาว ตำบลหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ

ซุ้มประตูวัดบ้านหนองแวงยาว บ้านหนองแวงยาว ต.หนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี (ภาพจาก https://www.nongwuasow.go.th)

จังหวัดชัยภูมิ

บ้านหนองแวง ตำบลโอโล อำเภอภูเขียว, บ้านหนองแวง ตำบลโคกกุง อำเภอแก้งคร้อ, บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอหนองบัวแดง, บ้านหนองแวง ตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์

จังหวัดมหาสารคาม

บ้านหนองแวง ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน, บ้านหนองแวง ตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง

จังหวัดนครราชสีมา

บ้านหนองแวง ตำบลหนองค่าย อำเภอประทาย, บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอเทพารักษ์, บ้านหนองแวง ตำบลหนองตะไก้ อำเภอสูงเนิน

จังหวัดสุรินทร์

บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอศรีณรงค์, บ้านหนองแวง ตำบลหนองเทพ อำเภอโนนนารายณ์, บ้านหนองแวง ตำบลผักไหม อำเภอศีขรภูมิ

โรงเรียน บ้าน หนองแวง สุรินทร์ ภาคอีสาน
โรงเรียนบ้านหนองแวง จ.สุรินทร์ (ภาพจาก https://data.bopp-obec.info)

จังหวัดร้อยเอ็ด

บ้านหนองแวง ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย, บ้านหนองแวงยาว ตำบลสวนจิก อำเภอศรีสมเด็จ, บ้านแวง ตำบลหนองแวง อำเภอเมือง

จังหวัดศรีสะเกษ

บ้านหนองแวง ตำบลโพนเขวา อำเภอเมือง, บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอกันทรารมย์

จังหวัดขอนแก่น

บ้านหนองแวงกลาง ตำบลโคกสง่า อำเภอพล, บ้านหนองแวง ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง

จังหวัดสกลนคร

ตำบลหนองแวง ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส, บ้านหนองแวง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอเจริญศิลป์

จังหวัดหนองคาย

บ้านหนองแวง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ

จังหวัดมุกดาหาร

บ้านหนองแวง ตำบลบ้านโคก อำเภอเมือง

จังหวัดหนองบัวลำภู

บ้านหนองแวง ตำบลกุดดู่ อำเภอโนนสัง

ฯลฯ

ชื่อ “หนองแวง” ข้างต้น เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนในจังหวัดนั้นๆ อาจมีชื่อ “หนองแวง” อื่นๆ และในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย

ทำไมต้องตั้งชื่อว่าหนองแวง? หรือคำนี้มีความหมายเป็นมงคล?

เมื่อค้นในความหมายของ “แวง” ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุไว้เป็น 4 ความหมายคือ

แวง 1 (1) ว. ยาว, แถว (ข.).  (2) ว. เรียกเส้นลองจิจูด ว่า เส้นแวง. (ข.).

แวง 2 น. ดาบ.

แวง 3 (ถิ่น-อีสาน) น. ต้นปรือ. [ดู ปรือ 1 (1)].

แวง 4  ก. ล้อมวง

เมื่อดูทั้ง 4 ความหมายข้างต้น “แวง 3” ที่ระบุว่าเป็นภาษาถิ่นอีสาน คือ “ต้นปรือ” น่าจะใกล้เคียงกับที่เรื่องที่กำลังค้นหา เมื่อคลิกดูก็มีคำอธิบายว่า

“(1) [ปฺรือ] น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Scleria poaeformisRetz. ในวงศ์ Cyperaceae ขึ้นในนํ้า ใบยาวๆ ใช้มุงหลังคาและสานเสื่อเป็นต้น, อีสานเรียก แวง. (2) น. ดู กกช้าง.”

หากนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์อย่าง วีระพงศ์ มีสถาน อธิบายความเกี่ยวกับ “ต้นแวง” ว่า

ต้นแวงตามความรู้ของชาวอีสานแท้ๆ นั้นคือไม้ที่เกิดในที่ลุ่มชุ่มชื่น มีน้ำท่วมขัง แต่เมื่อถึงคราวแล้งแม้น้ำจะแห้ง ต้นแวงก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ แต่จะนำมาปลูกบนโพนเหมือนปลูกพริกไม่ได้ ใบชุมกันที่โคนต้น (เหมือนต้นหอม ต้นกระเทียม) ความกว้างของใบราว 1-1.5 เซนติเมตร ในย่านที่อุดมสมบูรณ์ ใบแวงอาจยาวเป็นวา ถ้าตัดตรงกลางใบตามแนวขวางแล้วมองด้านหน้าตัดจะพบว่ามีด้านหนึ่งเรียบตรง อีกด้านหนึ่งโค้งตุงเหมือนหลังเต่า แต่ตุงไม่มาก

ต้นแวง หรือ ต้นธูปฤาษี (ภาพจาก http://clgc.agri.kps.ku.ac.th)

ดังนั้น สภาพทั่วไปของต้นแวงจึงเป็นต้นพืชที่ใบแบนและยาว ส่วนดอกนั้น มีก้านดอกโผล่อยู่กลางกอใบช่วงปลายก้าน ดอกมีลักษณะคล้ายกับมีวัสดุมาหุ้มหรือพันรอบก้าน จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ต้นลำพัน คือ ลำของก้านดอกเหมือนถูกพันเอาไว้ (แม้กาลข้างหน้ากรุณาอย่าเขียนว่า รำพัน) ทั้งสีและลักษณะของดอกแวง ดูๆ ไปก็คล้ายธูป ชาวภาคกลางจึงเรียกต้นแวงของทางอีสานว่า ต้นธูปฤาษี

แต่เดิมนิยมนำใบแวงมาเย็บเป็นกระแบะ ทำฝาเรือน ทำหลังคา และนำมาจักเป็นริ้วๆ ทอทำเสื่อ

รูปลักษณะทั้งหมดของต้นแวง จึงต่างจาก ต้นปรือ โดยถ้วนทั่ว ต้นปรือนั้น อีสานเรียกว่า ต้นผือ [ภาคกลางเรียก กกสามเหลี่ยม] ความเป็นปฏิภาคด้านเสียงระหว่าง /ปร/ ของ ภาคกลาง กับ /ผ/ ของอีสาน มีให้เห็นอีกหลาย ตัวอย่างเช่น ปราบ=ผาบ, ผีเปรต-ผีเผต, โปรด= โผด เป็นอาทิ ถ้าตัดต้นผือตามแนวขวางแล้วมองด้านหน้าตัดจะพบว่าเป็นสามกลีบเหมือนกลีบมะเฟือง (แต่มะเฟืองมีห้ากลีบ)

เมื่อรู้จักต้นแวงแล้ว ย่อมเข้าใจความหมายที่พาดพิงได้เพิ่มขึ้น เช่น มีดาบชนิดหนึ่ง ใบดาบนั้นยาวตรง ปลายเสี้ยมเล็กน้อย ไม่เป็นท้องปลาหลดเหมือนดาบทางภาคกลางที่เราท่านคุ้นเคยกันดี ประมาณได้ว่าคล้ายใบของต้นแวง จึงเรียกดาบชนิด ดังกล่าวนี้ว่า ดาบแวง ดังนั้นคำว่า แวง (คำเดียว) จึงไม่ได้แปลว่า ดาบ

ถึง แวง จะแปลว่า ยาว, หรือแถวได้ [ดังที่พจนานุกรมอธิบายไว้ในความหมายที่ 1] และเมื่อประกอบกับคำว่า หนอง ซึ่งหมายถึงบึง หรือแอ่ง ลุ่มน้ำ เป็น หนองแวง และแปลว่า หนองยาวได้ด้วยก็ตาม

แต่ในความรู้สึกของคนที่ “ค่อนไปทางโบราณ” มักจะนึกถึงบึงน้ำที่มีต้นแวงเกิดระดะดาษดื่นอยู่รายรอบ มีผู้คนเข้าไปตั้งเป็นชุมชนแวดล้อม และใช้น้ำจากบึงดังว่านี้ร่วมกัน แล้วขนานนามหมู่บ้านของตนว่า บ้านหนองแวง” (วีระพงศ์ มีสถาน. “ตามหาหนองแวง”ใน, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2543)

สรุปชื่อ “หนองแวง” จึงเป็นการตั้งตามสภาพภูมิศาสตร์ ชื่อบ้านนามเมืองอันเป็นที่นิยมนี้เกิดขึ้นอย่างเรียบง่าย ตามสภาพแวดล้อมของชุมชน ตามภาษาท้องถิ่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2565