ขะนุย ขะมอย ตำนาน “โยนีปีศาจ”

ขะนุย ขะมอย โยนีปีศาจ ภูเขาไฟเขากระโดง บุรีรัมย์
โยนีปีศาจ (ภาพจากwww.matichonacademy.com)

ขะนุย ขะมอย ตำนาน “โยนีปีศาจ” ขนานนามตามรูปลักษณ์ มีปรากฏที่ “ภูเขาไฟเขากระโดง” บุรีรัมย์

จังหวัดบุรีรัมย์ มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทวาลัยพนมรุ้ง มหาเทวาลัย ปราสาทเมืองต่ำ แหล่งหินตัด เตาเผาบ้านกรวด และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งมีฝูงนกน้ำนกป่านานาชนิดนับหมื่นตัว รวมทั้งยังมี ภูเขาไฟเขากระโดง ซึ่งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีธรรมชาติที่เงียบสงบ อยู่ริมทางหลวงหมายเลข 219 ห่างจากตัวเมืองเพียง 6 กิโลเมตร บนถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย มีพื้นที่ประมาณ 120 ตารางกิโลเมตร

ภูเขานี้เป็นซากภูเขาไฟ ที่แสดงให้เห็นร่องรอยของการปลดปล่อยพลังงาน และการเคลื่อนย้ายของมวลหินละลายจากภายในโลกมาสู่ผิวโลก ตลอดจนวิวัฒนาการของภูมิประเทศบนผิวพิภพในปัจจุบัน ภูเขาไฟเขากระโดงส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่มีสัณฐานของช่องปะทุระเบิดชัดเจน ก่อตัวเป็นภูเขาไฟรูปกรวยเป็นเนินภูเขา พื้นที่ปากปล่องปะทุระเบิดประมาณ 1.3 ตารางกิโลเมตร แล้วต่อมากลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่

ปัจจุบัน ภูเขาไฟเขากระโดง ได้รับการปรับปรุงและพัฒนารอบๆ บริเวณ แล้วตั้งเป็นวนอุทายานเขากระโดง มีพันธุ์ไม้พื้นเมืองน่าศึกษาหลายชนิด และที่ยอดเขากระโดงยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระสุภัทราบพิตร” พระพุทธรูปองค์ใหญ่ และปรางค์กู่โบราณ ภายในมีรอยพระบาทจำลอง เป็นที่เคารพนับถือของชาวบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียง

ยอดเขาแห่งนี้ที่ บุรีรัมย์ ยังมีพันธุ์ไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่งที่กล่าวขานในเรื่องความแปลกประหลาด และเรื่องราวแห่งตำนานที่เล่าต่อๆ กันมา คือ ขะนุย ขะมอย หรือ โยนีปีศาจ

ขะนุย ขะมอย เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่ง เปลือกหนา ดูดอาหารเก่ง ชอบขึ้นตามดินแถบภูเขา มีความมหัศจรรย์ แตกต่างจากพันธุ์ไม้อื่นๆ ทั่วไป ซึ่งหาดูได้ยากเต็มที ด้วยลักษณะของผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 5×3 เซนติเมตร แล้วเกิดปริแตกออกคล้ายกับโยนี จึงมีตั้งชื่อต้นไม้ชนิดนี้ว่า “โยนีปีศาจ” หรือ “ขะนุย ขะมอย” หรือ “มะกอกโคก” ตามภาษาท้องถิ่นไทยเขมร ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกัน

ตำนานที่เล่าขานถึงพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ว่ากันว่า ท้าวปาจิต ลูกของเจ้าเมืองเขมรได้เดินทางเสาะแสวงหามเหสี จนกระทั่งพบ นางอรพิม สตรีผู้งดงาม จึงมีจิตผูกพัน และได้พานางอรพิมกลับบ้านเมืองตน ขณะมาถึงฝั่งแม่น้ำใหญ่ ก็มาพบกับเณรเจ้าของเรือข้ามฟาก เณรจึงให้ท้าวปาจิตรอที่ฝั่ง และลงเรือข้ามฟากไปพร้อมกับนางอรพิม

ขณะลงเรือข้ามฟาก นางอรพิมทราบว่าเณรคิดไม่ซื่อกับตน จึงออกอุบายหลอกให้เณรพาไปยังเกาะกลางลำน้ำ แล้วให้เณรปีนต้นไม้เพื่อเก็บผลไม้ เมื่อเณรขึ้นไปแล้ว นางจึงเอาหนามวางไว้รอบต้นไม้ แล้วพายเรือจะกลับมารับท้าวปาจิต แต่เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวและแม่น้ำกว้างใหญ่ ทำให้พลัดหลงกัน นางอรพิมเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในการตามหาท้าวปาจิต เนื่องจากนางเป็นสตรี นางจึงอธิษฐานกลางป่าว่าขอให้อวัยวะบางส่วนที่เป็นผู้หญิงหลุดหายไป นางได้เอานมของนางฝากไว้กับต้นงิ้วป่า ฝากโยนีไว้กับมะกอกโคก แล้วกลายร่างเป็นชาย เดินทางตามหาท้าวปาจิตต่อไป

ผลของต้นไม้ชนิดนี้ เมื่อแก่เต็มที่แล้วผลจะอ้าเผยอเปลือกคล้าย “โยนี” ผู้คนจึงนำผลมาห้อยคอเด็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องรางอย่างหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2565