ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” ของแท้! พบหลักฐานการฝังร่างมนุษย์เพื่อรักษาปราสาทใน “เกาหลี”
เรื่อง ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ การหาคนมาพลีชีพ (ทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ?) ไว้คอยเฝ้าระวังทรัพย์สมบัติ ดูจะเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในหลายประเทศ อย่างในประเทศไทยที่มีเรื่องเล่าในหลายพื้นที่ เป็นตำนานพื้นถิ่นที่ถ่ายทอดกันมาถึงปัจจุบัน
ชาวเกาหลีโบราณก็มีตำนานความเชื่อเรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์ในทำนองนี้เช่นกัน แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัด จนกระทั่งนักโบราณคดีพบหลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่า การบูชายัญมนุษย์เพื่อไว้ปกปักรักษาทรัพย์สมบัติหรือบ้านเมืองนั้นมีอยู่จริง!
หลักฐานที่นักโบราณคดีค้นพบก็คือ โครงกระดูก 2 ร่าง ของมนุษย์ที่มีชีวิตในช่วงราวศตวรรษที่ 5 ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้กำแพง “ปราสาทแห่งดวงจันทร์” (Wolseong – Moon Castle) ในเมือง Gyeongju ของเกาหลีใต้ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรชิลลา
“นี่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ช่วยยืนยันได้ว่า ตำนานพื้นบ้านที่เล่ากันว่ามีการสังเวยชีวิตมนุษย์เพื่อเป็นรากฐานของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งเขื่อนกั้นน้ำ และกำแพงเป็นเรื่องจริง” ชอย มุน-จุง (Choi Moon-Jung) จากสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลี บอกถึงการค้นพบครั้งนี้
การฝังร่างคนทั้งเป็นพร้อมกับกษัตริย์ เพื่อเป็นผู้รับใช้ในโลกหลังความตาย เป็นความเชื่อที่รู้จักกันดีในวัฒนธรรมเกาหลีโบราณ แต่เหยื่อที่ปราสาทแห่งดวงจันทร์นี้จะถูกฝังในลักษณะใดยังไม่เป็นที่แน่ชัด
“หากดูจากข้อเท็จจริง ซึ่งไม่พบลักษณะที่จะบอกได้ว่ามีการต่อต้านขัดขืนขณะถูกฝัง พวกเขาจึงน่าจะถูกฝังเมื่อตอนที่หมดสติ หรือไม่ก็เสียชีวิตไปแล้ว” ปาร์ก ยุน-จุง (Park Yoon-Jung) นักวิจัยอาวุโส สันนิษฐาน
ตำนานพื้นบ้าน เกาหลี มีระบุไว้ว่า การสังเวยชีวิตมนุษย์ ก็เพื่อทำให้เทพยดาฟ้าดินพอใจ และเพื่อวิงวอนให้สิ่งก่อสร้างที่พวกเขาสร้างขึ้นมีความคงทนยั่งยืนนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” กับเรื่องเล่า “คนที่ขุดก็เป็นบ้า ร้านทองที่รับซื้อไว้ก็เจ๊งไปตามกัน”
- จริงหรือ!? โจรขุดกรุวัดราชบูรณะ โดนอาถรรพณ์-เป็นบ้า ถือพระแสงขรรค์ไปรำที่ตลาดหัวรอ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2560