“บ้านหงาว” อดีตเมืองท่าดีบุก

เพียงได้ยินฉายา “เมืองฝนแปดแดดสี่” คงมีไม่กี่คนที่เตรียมจะไปเที่ยวเมืองนี้ช่วงฤดูฝน

ท้องฟ้าใสสลับมืดครึ้มขมุกขมัวก่อนฝนตก คือฉากหลังของแนวเทือกเขาตะนาวศรีที่ปรากฏให้เราเห็นตลอดเส้นทางคดโค้งของถนนเพชรเกษมหมายเลข 4 ที่ตัดข้ามเนินแล้วเนินเล่า เลียบเลาะไปตามชายฝั่งทะเลอันดามัน

ใครชื่นชอบการขับขี่ทางไกลบนไหล่เขา ไม่ควรพลาดประสบการณ์บนทางหลวงสายนี้

เพียงไม่กี่ชั่วโมงบนถนนสายเก่า เราก็มาถึงเมืองท่าการค้าชายแดนสำคัญฝั่งตะวันตกของประเทศ ที่นี่สำคัญมาแต่ไหนแต่ไรในฐานะแหล่งอากรรายได้ของรัฐส่วนกลางตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี เมืองอุตสาหกรรมเหมืองแร่ยุคแรก ๆ ที่เคยส่งออกสินแร่ดีบุกคุณภาพไปยังประเทศอังกฤษ ผลิตได้ปริมาณมากไม่แพ้ที่จังซีลอน (เกาะภูเก็ต) และคาบสมุทรมลายู ชื่อเสียงโด่งดังออกไปไกลจนดึงดูดทัพนักลงทุนสัญชาติฝรั่งตะวันตก แขกอินเดียและปากีสถาน รวมทั้งคลื่นแรงงานชาวจีนที่ตัดสินใจเสี่ยงเดินทางฝ่าพายุฝน ข้ามน้ำข้ามทะเล หวังมาเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ที่เมืองท่าแห่งนี้

คนงานเหมือง โรตี และหมี่ฮกเกี้ยน

เราเดินทางมาถึงเทศบาล “หงาว” ในเขตอำเภอเมืองระนองปัจจุบันพร้อมกับสายฝน และตรงดิ่งไปยังที่พักซึ่งเมื่อกว่าร้อยปีก่อน พื้นที่ราว 30 ไร่ บริเวณนี้เคยเป็นที่พำนักและสโมสรคนงานเหมืองเรือขุดของบริษัท ไซมีส ติน ซินดิเคด จำกัด (Siamese Tin Syndicate) มีนายฝรั่งสัญชาติอังกฤษ มร.เฮนรี ยี. สก็อต (Mr.Henry G. Scott) อดีตเจ้ากรมราชโลหกิจสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเจ้าของ

ห้องพักของเราเป็นอาคารสร้างใหม่อยู่ลึกเข้าไปด้านใน แต่อาคารเก่าหลายหลังได้รับการบูรณะปรับปรุงเป็นอาคารรับรอง ห้องอาหาร และห้องพัก ซึ่งคงตำแหน่งที่ตั้งเดิม แต่ภายในรั้วเดียวกัน เรายังพบอาคารเก่าที่ถูกทิ้งร้าง รวมทั้งต้นไม้ใหญ่อีกหลายชนิด ทั้งกันเกรา ทุเรียน ลั่นทม (ลีลาวดี) เงาะปีนัง โดยเฉพาะต้นประดู่คู่ใหญ่กลางบริเวณที่พัก ซึ่งคู่นี้น่าจะเติบโตมาพร้อมกับอายุของกลุ่มอาคารชำรุด ขณะที่สระว่ายน้ำและสนามเทนนิส ไม่เหลือหลักฐานใด ๆ ให้คนรุ่นเราได้ระลึกถึง

แม้แต่ต้นมาซาลา (เครื่องเทศชนิดหนึ่ง) ด้านหน้าห้องพักก็มีเกร็ดความรู้ให้พูดถึง เจ้าของสถานที่เล่าให้เราฟังว่าน่าจะมาจากแขกอินเดียที่ติดข้าวปลาอาหารเดินทางมาที่นี่

เสียงร้องดังของนกกางเขนนอกห้องและท้องฟ้าใสหลังคืนฝนฉ่ำ ปลุกให้เรารีบลุกออกจากเตียงอุ่น เตรียมเดินเท้าสำรวจตลาดเช้าใจกลางเทศบาล เผื่อจะพบร่องรอยอดีตเมืองท่าดีบุก สีสันวันวานที่ยังคงทำหน้าที่บอกเล่าตำนานความรุ่งโรจน์และสังคมพหุวัฒนธรรมของบ้านหงาว  

ชื่อบ้าน “หงาว” สันนิษฐานกันว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “โหงว” ในภาษาจีนฮกเกี้ยนที่แปลว่า “วัวป่า” ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในละแวกนี้ โดยเฉพาะบริเวณลานกว้างใกล้ปากทางเข้าเทศบาลที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ภูเขาหญ้า”

นามถิ่นบ้านหงาวจากคำบอกเล่าจึงไม่มีนัยสำคัญอะไรต่อประวัติศาสตร์เมืองท่าส่งออกสินแร่ดีบุก ผิดกับอาหารการกินของผู้คนในตลาดที่สะท้อนชัดว่าชาวบ้านที่นี่ ส่วนใหญ่คือลูกหลานของคนงานเหมืองจากทั่วสารทิศ ทั้งแขก จีน ไทย ไม่นับฝรั่งอังกฤษ

เริ่มจากข้าวหมกไก่แสนอร่อยของร้านนิรมล ห้องแถวไม้หลังเก่า ไม่ไกลจากที่พักของเรา ร้านนี้เปิดขายเฉพาะช่วงเช้า เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เกลี้ยงหม้อ ต่อด้วยโรตีร้านนิสราที่ขึ้นชื่อที่สุดในตำบล ใครผ่านมาทางบ้านหงาวก็มักต้องแวะ โรตีนิสราถือเป็นหนึ่งจุดเช็คอินของสถานที่เที่ยวในจังหวัดระนองเลยทีเดียว

เขยิบห่างออกไปไกลจากใจกลางตลาดคือร้านจุ๊บแจงของป้าจี๊ด หากดูผิวเผินจากด้านหน้าร้านก็เหมือนร้านอาหารตามสั่งทั่วไป เดาไม่ออกว่าที่นี่มี “หมี่ฮกเกี้ยน” ในเมนูอาหารด้วย

เราสอบถามเจ้าของร้านจึงได้ความว่า นี่คืออาหารหลักของคนงานเหมืองชาวจีนฮกเกี้ยนที่อดีตเคยย้ายถิ่นเข้ามาทำงานที่บ้านหงาวและทิ้งสูตรการทำหมี่ไว้ให้ ตกทอดมาถึงป้าจี๊ดคนท้องถิ่นที่วันนี้กลายเป็นร้านเดียวในบ้านหงาวที่ยังมีหมี่ฮกเกี้ยนรสชาติดั้งเดิมให้รับประทาน

ที่มาของหมี่ชามนี้และแรงงานจีนฮกเกี้ยนได้ชวนให้เรานึกย้อนกลับไปก่อนที่ มร.สก็อต จะเข้ามารับราชการให้แก่ราชสำนักสยาม หรือก่อนหน้าปี 2440 (ราวปลายรัชกาลที่ 3) ซึ่งปรากฏชื่อพ่อค้าจากมณฑลฉางโจวคนหนึ่งที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขยายอุตสาหกรรมเหมืองแร่ตลอดชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่เมืองปีนัง ภูเก็ต พังงา ระนอง รวมทั้งบ้านหงาว

พ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่เราหมายถึงคนนี้คือ “คอซู้เจียง” หรือ “พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี” นายอากรดีบุก เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดระนอง ต้นตระกูล “ณ ระนอง” ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงยกย่องท่านว่า “เป็นบุคคลที่เปลี่ยนป่ารกให้เป็นเงินทอง”

เราเปิดแผนที่ดูตั้งแต่บ้านหงาวถึงตัวอำเภอเมืองระนอง เราจะสังเกตเห็นจุดสีดำขนาดเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วไปนับสิบตำแหน่ง จุดสีดำเหล่านี้ก็คือร่องรอยของป่ารกที่กลายเป็น “ขุมเหมือง” ปัจจุบันได้กลายเป็นหลุมดินกว้าง ไม่ก็สระน้ำขังขนาดน้อยใหญ่ พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่

หมี่ฮกเกี้ยนคงมาพร้อมกับแรงงานจีนโพ้นทะเลในช่วงสมัยของอดีตท่านเจ้าเมืองผู้นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่การทำเหมืองยังเป็น “เหมืองหาบ” หรือเหมืองใหญ่ (Opencast Mining) ที่ต้องอาศัยแรงงานลูกหาบจำนวนมาก แตกต่างจากเทคโนโลยี “เหมืองเรือขุด” ในสมัยต่อมาของ มร.สก็อต ที่เปลี่ยนมาใช้ “ลูกกระเฌอ” โลหะหนักนับตัน หลายสิบหลายร้อยลูก ขับเคลื่อนสายพานเรือขุด หมุนวนตักดินขึ้นมาร่อนเพื่อหาสินแร่

คนบ้านหงาว โดยพื้นฐาน จึงมาจากหลากหลายเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม มีทั้งลูกหลานแขกอินเดียและปากีสถาน ลูกจีนโพ้นทะเล คนไทยพื้นถิ่น และชาวเมียนมา แรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาตั้งรกรากในระยะหลัง

“สังคมพหุวัฒนธรรม” คือคำศัพท์ทางวิชาการที่เรานึกออกเพื่ออธิบายลักษณะสังคมบ้านหงาว แต่บรรยากาศที่นี่ทุกวันนี้ไม่คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น

ถ่านไม้โกงกาง น้ำมันเตา และเม็ดพลาสติก

วันต่อมา ท้องฟ้ายังกระจ่างใสเหมือนวันก่อน พวกเราจึงเลือกออกทะเลเพื่อตามหาป่าโกงกาง แหล่งพลังงานสำคัญของเรือขุดแร่ ซึ่งอยู่ที่บริเวณชายฝั่งบ้านหงาวนี่เอง

ป่าโกงกางหงาว มีเนื้อที่ราว 13,500 ไร่ ในเขตศูนย์วิจัยป่าชายเลนระนอง ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งทะเลอันดามันในป่าผืนนี้ มีคำประกาศจากองค์การยูเนสโก้เป็นประกันโดยเป็นส่วนหนึ่งของ “พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง” (Ranong Biosphere Reserve) ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง

นี่ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ มร.สก็อต ลาออกจากราชการมาเป็นพ่อค้าดีบุกที่บ้านหงาว

ถ่านไม้โกงกางที่นี่มีคุณภาพสูง ให้ไฟแรงสม่ำเสมอ เหมาะกับการผลักสายพานลูกเฌอโลหะที่แต่ละลูกมีน้ำหนักนับตันกว่าร้อยลูกให้หมุนเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง

บ้านหงาววันนี้ ไม่มีโรงเผาถ่านไม้โกงกางให้เราเห็นแล้ว นอกจากเรื่องเล่าที่ได้ยินต่อ ๆ กันมา

ตลอดทางเดินเท้ายาว 850 เมตร ในป่าโกงกางหงาว นอกจากความแน่นทึบของโกงกางนับไม่ถ้วนแล้ว ยังมีสัตว์น้ำและไม้ป่าชายเลนอีกหลายชนิด เช่น ลำแพน ถั่ว แสม และตะบูน ซึ่งชวนให้เรานึกกลับไปในอดีต ก่อนยุคเหมืองเรือขุด จินตนาการไปว่าป่าแห่งนี้น่าจะรกชัฏกว่าปัจจุบันอีกหลายเท่าเพียงใด

ต้นแสมทะเล ความสูงกว่า 20 เมตร อายุร่วม 200 ปี และอีกหลายต้นที่เราได้เห็นในอุทยานฯ ล้วนเป็นประจักษ์พยานความอุดมสมบูรณ์ของที่นี่จริง ๆ

ความนิยมใช้น้ำมันเตาแทนถ่านไม้โกงกาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ปิดฉากความรุ่งเรืองของเมืองท่าแห่งนี้

เจ้าของที่พักของเราซึ่งเป็นลูกหลานชาวจีนฮกเกี้ยนเช่นกัน เล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้าสายพานลูกเฌอของเรือขุดชุดสุดท้ายจะหยุดลงในปี 2528 ผู้คนที่นี่ต่างมีงานทำ มีเงินใช้ไม่ขาดมือ เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้าและแรงงานหนุ่มสาวที่มีความหวังกับชีวิต การค้าเมืองท่าดีบุกก็มีสีสันตามไปด้วย 

จำนวนเหมืองแร่กว่า 28 แห่ง เคยทำรายได้เข้าประเทศกว่าแสนล้านบาท ชื่อเสียงจังหวัดระนองถือเป็นแหล่งผลิตสินแร่ดีบุกที่สำคัญติดอันดับ 1 ใน 4 ของโลกเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ผลพวงของความเจริญยังทำให้การซื้อขายสินค้าคุณภาพนำเข้าจากต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปในตลาดซึ่งผิดกับปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

ตำนานบ้านหงาว อดีตเมืองท่าดีบุก วันนี้จึงเหลือเพียงเรื่องเล่า ภาพถ่ายเก่า และโบราณวัตถุอีกมากมายในคลังพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเฉลิมราช และ “หลวงพ่อดีบุก” พระประธานในอุโบสถวัดบ้านหงาว


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2565