“เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมเด็ก แฝงนัยยะการผจญภัย-เรียนรู้ชีวิต ให้เป็น “มนุษย์” ที่สมบูรณ์

หุ่นขี้ผึ้ง เจ้าชายน้อย ที่ พิพิธภัณฑ์ กรุงปารีส ฝรั่งเศส
หุ่นขี้ผึ้ง "เจ้าชายน้อย" จัดแสดงใน Grevin พิพิธภัณฑ์ในกรุงปารีส ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) (Photo by FRANCOIS GUILLOT / AFP)

มักเข้าใจกันว่า วรรณกรรมเด็ก เป็นวรรณกรรมเฉพาะแต่เด็ก ที่มุ่งเน้นความสนุกสนาน หรือสั่งสอนศีลธรรมอันดีให้กับเด็ก แต่ในอีกมุมหนึ่งวรรณกรรมเด็กก็มีคุณค่าสำหรับผู้ใหญ่ และแฝงนัยยะเอาไว้หลายประเด็น อย่างเช่น “เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมเด็กที่ไม่อาจเลือนหายไปจากจิตใจของผู้ใหญ่เลยแม้แต่น้อย

เรื่อง “เจ้าชายน้อย” (Le Petit Prince) ตีพิมพ์ครั้งแรกทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1943 เป็นนวนิยายขนาดสั้น ประพันธ์โดย อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry) ชาวฝรั่งเศส

“เจ้าชายน้อย” เป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง ผู้มาจากดาวแคระ B612 เขามีปัญหาไม่เข้าใจดอกกุหลาบ [ความรัก] ของตน จึงออกเดินทางไปยังดาวต่าง ๆ เพื่อหวังว่าจะได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น กระทั่งเมื่อมาถึงโลก เด็กชายได้พบกับนักบินคนหนึ่ง ที่เครื่องบินของเขาเสียอยู่กลางทะเลทรายในทวีปแอฟริกา ผู้แต่งให้นักบินเป็นคนเล่าเรื่องราวของเด็กน้อย (ภายหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 6 ปี) การพูดคุยระหว่างนักบินกับเจ้าชายน้อย เป็นการเสนอมุมมองที่ต่างกันของผู้ใหญ่ และเด็ก โดยตลอดทั้งเรื่อง

เนื้อเรื่องหลักเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ซึ่งใช้ชีวิตแปลกในมุมมองของเด็ก เช่น ผู้ใหญ่สนใจแต่ตัวเลข ขาดจินตนาการ ไม่สนใจเรื่องจิตใจ ให้ความสำคัญแต่วัตถุนิยม ผู้ใหญ่มักไม่รู้ว่าตนต้องการอะไร หรือแสวงหาสิ่งใด จึงทำให้ชีวิตไร้ความหมาย

ส่วนความคิดสำคัญของเรื่อง ซึ่งเป็นปัญหาของเจ้าชายน้อย คือ การไม่เข้าใจความรัก ผู้ประพันธ์ได้ให้ทัศนะที่ลึกซึ้งกินใจว่า สิ่งสำคัญทั้งความรัก, ความสัมพันธ์, เรื่องเกี่ยวกับจิตใจ หรือเรื่องนามธรรมทั้งหลายนั้น มองไม่เห็นด้วยดวงตา แต่ต้องใช้ใจรู้สึกถึงจะสามารถรับรู้ได้

ประเด็นเรื่องความรักดูจะเป็นหัวใจสำคัญ และละเอียดอ่อน ที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ตราตรึงอยู่ในใจผู้อ่านอย่างไม่ลืมเลือน ข้อคิดของผู้ประพันธ์ในประเด็นเกี่ยวกับความรัก เป็นความจริงที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ และต้องการ ทว่าก็มักหลงลืมหรือทำผิดพลาดเสมอ

ตัวละครที่ทำให้เจ้าชายน้อยเข้าใจชีวิต และความรัก ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ หมาป่า ที่สอนให้รู้จักสร้างความสัมพันธ์ และความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งทำให้เกิดมิตรภาพ หรือความรัก หมาป่าให้ข้อคิดว่า “การสร้างความสัมพันธ์ (หรือความรัก) ต้องอาศัยความอดทน และต้องมีพิธีรีตอง [หรือความสม่ำเสมอ] เวลาที่ใช้ไปในการสร้างความสัมพันธ์ ทำให้ความสัมพันธ์นั้นมีค่า เมื่อเราสร้างความสัมพันธ์ (รัก) กับสิ่งใดแล้ว เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น และเมื่อสร้างความสัมพันธ์ (ความผูกพัน) แล้ว เราอาจต้องเสียใจ”

ในเรื่อง “เจ้าชายน้อย” จะเป็นไปในลักษณะการผจญภัย เปรียบเสมือนการเดินทางอันเป็นขั้นตอน หรือกระบวนการเรียนรู้ในวัยเยาว์ของมนุษย์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตมนุษย์ ทั้งเรื่องความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ความกตัญญู หรือความรัก ซึ่งไม่ได้เป็นวิชาที่สอนโดยตรงในโรงเรียนหรือการศึกษาภาคบังคับ ที่มิได้มุ่งสอนกันโดยตรง หรืออย่างจริงจังเท่าใดนัก

การเรียนรู้ของเด็กชายในเรื่องนี้ จึงเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในชีวิต ไม่มีครูที่พร่ำสอนหรือถ่ายทอดความรู้ให้ อย่างมากจะมีผู้ใหญ่คอยช่วยบอกเคล็ดความรู้ให้เท่านั้น

สำหรับเจ้าชายน้อยก็มีนักบินเป็นเพื่อน ในยามที่เขาต้องอยู่กลางทะเลทรายที่อ้างว้าง และมีหมาป่าเป็นครูที่บอกความลับสำคัญเกี่ยวกับชีวิต และความรัก ให้แก่เขา จึงอาจสรุปได้ว่า ผู้ประพันธ์เห็นว่า การเรียนรู้ของเด็กแม้จะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ [นอกห้องเรียน] เป็นหลัก แต่ก็ยังต้องการผู้ใหญ่คอยช่วยประคับประคอง

ปกหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับตีพิมพ์ ค.ศ. 1943

เรื่องเจ้าชายน้อย ก็เฉกเช่นเดียวกับวรรณกรรมเด็กทั่วไป คือ มอบจินตนาการให้กับผู้อ่าน ทว่าวรรณกรรมเด็กไม่ได้มุ่งหมายจะสอนความเป็นจริงในชีวิตให้แก่เด็กอย่างเดียว หากจินตนาการในวรรณกรรมเด็กทั้งหลายนั้นมีความมุ่งหมาย และความหมายแฝงไว้เสมอ เช่น การท่องไปยังดาวต่าง ๆ ของเจ้าชายน้อย อันได้แก่ ดาวของพระราชา, ดาวของคนหลงตน, ดาวของคนขี้เมา, ดาวของนักธุรกิจ, ดาวของคนจุดตะเกียง ดาวของนักภูมิศาสตร์ และแม้แต่ดาวโลก ผู้ประพันธ์มุ่งหมายวิจารณ์ความแปลกประหลาด ความไม่เป็นสาระของมนุษย์ หรือผู้ใหญ่ในแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง

การถ่ายทอดความจริงเหล่านั้นด้วยเทคนิคเชิงจินตนาการ จึงเป็นวิธีที่อาจทำให้ผู้อ่านเห็นความจริงชัดเจนขึ้น และอาจสรุปได้ว่า เนื้อเรื่อง ภาษา หรือสาระในวรรณกรรมเด็กนั้น มักมีความหมายเป็น 2 ระดับเสมอ คือ หนึ่ง มองในมุมของเด็กในเชิงจินตนาการ หรือเหนือจริง ที่ได้รับความสนุกสนาน และสอง มองในมุมผู้ใหญ่ในเชิงเปรียบเทียบกับความเป็นจริง ที่ได้มักแฝงนัยยะของการเสียดสี หรือประชดประชันความจริง ที่น่าขันหรือน่าเศร้า

ฉะนั้น เจ้าชายน้อยผู้มาจากดาวดวงอื่น ที่ไม่เข้าใจเรื่องความรัก ทำให้เขาต้องออกแสวงหาความรู้ ผจญภัยไปยังสถานที่ต่าง ๆ นั่นทำให้เขาเรียนรู้ว่า เรื่องสำคัญ เช่น ความรักนั้น ไม่อาจเห็นด้วยตา แต่ต้องใช้ใจรู้สึกรับรู้ ร่วมกับการได้เห็นตัวอย่างชีวิตที่ไม่เป็นสาระของผู้ใหญ่บางคนแล้ว เขาก็พร้อมกลับไปยังดาวของตน เพื่อรับผิดชอบต่อคนที่เขารัก

สำหรับเด็ก “เจ้าชายน้อย” เป็นวรรณกรรมที่ทำให้ “เด็ก” ซึ่งเป็นแค่ “คน” ที่ยังต้องการความรู้ ประสบการณ์ และการพัฒนา ให้ได้เรียนรู้เติบโตมาเป็น “มนุษย์” ที่สมบูรณ์ แต่สำหรับผู้ใหญ่ “เจ้าชายน้อย” คงเป็นวรรณกรรมที่ทำให้เข้าใจ “ชีวิต” มากยิ่งขึ้น เพราะแม้ตัวละครเจ้าชายน้อยจะเป็นเด็ก แต่ในความหมายของเรื่องนั้นมิใช่เด็กทั่วไปโดยอายุ แต่เป็นวัยเด็กของผู้ใหญ่ทุกคน

เป็นเด็กที่เดียงสาต่อเรื่องละเอียดอ่อนของจิตใจ แม้จะเยาว์ต่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลก และชีวิตแห่งความเป็นจริง แต่ก็ยังไม่ถูกมายา หรือวัตถุนิยม ทำให้หลงลืมคุณค่าด้านนามธรรม โดยเฉพาะความรัก หรือมิตรภาพ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พรวิภา วัฒรัชนากูล. (มกราคม, 2565). วรรณกรรมเด็ก : การเติบโตจากเด็กสู่ความเป็นมนุษย์. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 ฉบับที่ 3.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2565