ค้นตัวตน “มู่หลาน” จากประวัติศาสตร์จีน สู่สื่อบันเทิงยุคใหม่ในตะวันตก

ภาพยนตร์ Mulan ฉบับนักแสดงโดย Disney (ภาพจาก YouTube / Walt Disney Studios)

ฮัว มู่หลาน หรือ ฮวา มู่หลาน (Hua Mulan) เป็นอีกหนึ่งตำนานสตรีจีนที่โด่งดังไปทั่วโลก และถูกแปรรูปเป็นสื่อบันเทิงทั้งจากในจีนและในตะวันตกเอง แต่ต้นตอที่แท้จริงของ “วีรสตรี” ในเรื่องนั้นมีที่มาจากไหนกันแน่

เรื่องราวเกี่ยวกับ “มู่หลาน” มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปตามเนื้อหาของแต่ละฉบับจากบันทึกโบราณ แต่ชื่อและเรื่องราวของเธอกลายเป็นที่รู้จักจากการปรากฏครั้งแรกในบทกลอนชื่อ “ลำนำมู่หลาน” (Ballad of Mulan) เชื่อกันว่าเป็นบทขับร้องจากยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ (คริสต์ศักราช 386-557) อันอยู่ในช่วงที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหนือใต้ (คริสต์ศักราช 386-589)

เนื้อหาของเรื่อง “ลำนำมู่หลาน” ปรากฏครั้งแรกในเอกสารในศตวรรษที่ 6 เชื่อกันว่า งานต้นฉบับเดิมสูญหายจนไม่มีหลงเหลืออีกแล้ว ขณะที่เนื้อหาในบทกลอน Ballad of Mulan ที่ใช้กันมาจากผลงานชื่อ Music Bureau Collection ในศตวรรษที่ 11 หรือ 12 เป็นผลงานรวบรวมเนื้อร้อง บทกวี และบทเพลงที่รวบรวมโดย กัว เมาเชียน (Guo Maoqian)

ครั้งต่อมา ชื่อของเธอไปปรากฏในบทละครร้องในราชวงศ์หมิงในเวลาต่อมา เมื่อ ค.ศ. 1593 ซูเว่ย (Xu Wei) นำเรื่องของเธอไปแต่งเป็นบทละครร้องชื่อ The Female Mulan จากนั้นจึงกลายเป็นฉบับสุดท้ายซึ่งเป็นฉบับที่ถูกมองว่ามีอิทธิพลสำคัญคือในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องซุยถัง (Sui-Tang) โดย ซูเหรินโฮ่ว (Chu Renhuo) เผยแพร่เมื่อค.ศ. 1695 และถูกบอกเล่าต่อมาจนกระทั่งถึงช่วงผลิตสื่อสมัยใหม่เป็นครั้งแรกปีค.ศ. 1927

ชื่อ “มู่หลาน” ยังปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายยุค แต่สกุลของเธอถูกอ้างอิงแตกต่างกัน ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ยุคราชวงศ์หมิงบรรยายว่า เป็นแซ่จู แต่ในเอกสารประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงบรรยายว่าเธอแซ่เว่ย แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของเธอจะมีหลากหลาย แต่ข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะพอมีน้ำหนักมากที่สุดคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเรื่องเกิดในช่วงประวัติศาสตร์จีนช่วงราชวงศ์เว่ยเหนือ แต่รายละเอียดหลายส่วนของเรื่องถูกเพิ่มเติมเข้ามาในช่วงราชวงศ์ถัง

สำหรับเนื้อหาฉบับ “ลำนำมู่หลาน” (Ballad of Mulan) ในเนื้อหาส่วนนี้พบคำคล้องจอง 31 คู่ เนื้อหาอันเป็นโครงเรื่องหลักในฉบันนี้ก็บอกเล่าคล้ายกับฉบับที่พบในภายหลัง (แต่เรื่องรายละเอียดในฉบับอื่นจะพบว่ามีแตกต่างกันบ้าง) คือ ในยุคสมัยของมู่หลาน ครอบครัวต้องส่งผู้ชายเข้าไปรับราชการเป็นทหารในกองทัพ เมื่อเธอได้ยินข่าวว่ากองทัพกำลังเกณฑ์บุรุษไปเป็นทหารใหม่ เธอกังวลว่าครอบครัวของเธอซึ่งมีชายในวัยผู้ใหญ่เพียงคนเดียวคือบิดา แต่ท่านแก่ชราและอ่อนแอมาก มู่หลาน ตัดสินใจปลอมตัวเป็นผู้ชายและเข้าเกณฑ์ทหารแทน

ตำนานเล่าด้วยว่า เธอไปรบด้วยดาบของตระกูลที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น สู้รบมาเป็นเวลา 12 ปีจนได้รับยศที่สูงขึ้น แต่ก็ยังปฏิเสธไม่รับรางวัลใดๆ โดยขอเพียงม้าเพื่อเดินทางกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด ในบางฉบับบรรยายรายละเอียดในเรื่องแตกต่างกันออกไปบ้าง อาทิ บางฉบับเล่าว่า เมื่อเธอกลับมาบ้านก็พบว่าบิดาของเธอเสียชีวิตแล้ว และอัตวินิบาตกรรม

ขณะที่เนื้อหาของฉบับซูเว่ย มีรายละเอียดแตกต่างเล็กน้อย คือ มู่หลาน เข้าเป็นทหารแทนที่พ่อของเธอจากที่เธอมีความสามารถด้านการยุทธอย่างดีเยี่ยม ด้านฉบับซุยถัง ยังมีรายละเอียดเรื่องนักรบหญิงนามว่า เซี่ยนเหนียง ที่เป็นนักรบหญิงด้วย

ผู้ศึกษาเนื้อเรื่องเกี่ยวกับมู่หลาน ส่วนหนึ่งเชื่อว่า เรื่องราวของวีรสตรีหญิงอย่าง “มู่หลาน” แพร่หลายในจีนมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 4 และ 5 เนื่องจากจีนต้องรับมือกับการรุกรานของชนเผ่า ฝ่ายปกครองต้องการสิ่งที่สร้างกำลังใจและความหวังเพื่อต่อสู้ซึ่งภาระก็ตกมาที่เรื่องราวของมู่หลาน และอีกหลายเรื่องที่ใช้เป็นแรงบันดาลใจ ไม่เพียงแค่ในช่วงเวลานั้น มู่หลาน ยังคงปรากฏในวรรณกรรม งานศิลปะ และสื่อบันเทิงทั้งในจีนอีกหลายครั้ง มาจนถึงเวอร์ชั่นของดิสนีย์เมื่อปี 1998 เวอร์ชั่นของดิสนีย์ ฉายภาพมู่หลาน ออกมาให้เข้ากับกลุ่มผู้ชมที่หลากหลายรวมถึงเยาวชน

มู่หลานในฉบับแอนิเมชั่นของดิสนีย์เป็นผู้หญิงที่ไม่ยอมอยู่ในกรอบจารีตเดิมตามที่ผู้ปกครองวางแนวทางไว้ให้ เหตุผลในการเข้าร่วมกองทัพยังมีปัจจัยเรื่องต้องการพิสูจน์ความสามารถตัวเองด้วย นอกเหนือจากเรื่องความเป็นห่วงในสุขภาพของบิดาตัวเอง

เช่นเดียวกับรายละเอียดในฉากหลังของเนื้อเรื่อง เหตุผลเรื่องการเกณฑ์ทหารของกองทัพก็แตกต่างกัน ในแอนิเมชั่น เอ่ยถึงเรื่องการรุกรานจากเผ่านอกด่าน ส่วนฉบับซุยถัง มู่หลาน เป็นชนที่อยู่ฝ่ายเข้าร่วมกับราชวงศ์ถังซึ่งต้องการขยายอำนาจครอบครองพื้นที่ และปลอมตัวเองไปรับราชการ จากนั้นก็ถูกกองทัพกบฎจับได้จนต้องเข้าร่วมกับฝ่ายกบฎที่มีนักรบหญิง

ภายหลังฝ่ายกบฎเป็นฝ่ายแพ้ แต่พวกของมู่หลาน ไม่ได้ถูกประหาร โดยจักรพรรดิราชวงศ์ถังอภัยโทษ และพระมารดาของจักรพรรดิ(องค์ต่อมา) ยังพระราชทานเงินให้ครอบครัวด้วย

หลังจากนั้น มู่หลาน ยังปรากฏในอเมริกันคอมิกในช่วงยุค 2000s กระทั่งดิสนีย์เพิ่งสร้างภาพยนตร์ที่ใช้นักแสดงเตรียมเข้าฉายในปี 2020 โดยเวอร์ชั่นนี้มีหลิว อี้เฟย แสดงนำเป็นมู่หลาน

หากพูดถึงในแง่การรับรู้แล้ว อาจกล่าวได้ว่า มู่หลาน เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่ในเรื่องเล่าภายใต้ฉากหลังที่อิงประวัติศาสตร์มากกว่าเป็นบุคคลในเชิงประวัติศาสตร์โดยตรง

แต่ไม่ว่าตัวตนของมู่หลาน จะมีอยู่จริง หรือเป็นเรื่องเล่าขานกันต่อมาโดยอิงบริบททางประวัติศาสตร์ อย่างน้อยเรื่องราวของเธอก็สะท้อนสภาพสังคม การเมือง มโนทัศน์เรื่องจารีต ธรรมเนียมประเพณี และอีกหลายแง่มุม



อ้างอิง:

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. แปลโดย เขมณัฎฐ์ ทรัพย์เกษมชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

Busch, Jenna. “THE REAL STORY OF MULAN”. SYFY. Online. Published 5 NOV 2018. Access 8 JUL 2019. <https://www.syfy.com/syfywire/the-real-story-of-mulan>

KLIMCZAK, NATALIA. “The Dramatic True Story Behind Disney’s Mulan”. Ancient Origins. Online. Published 25 FEB 2019. Access 8 JUL 2019. <https://www.ancient-origins.net/history-famous-people/ballad-hua-mulan-legendary-warrior-woman-who-brought-hope-china-005084>

General, Ryan. “The Chinese Story of Mulan is Actually More Badass Than the Disney Version”. Nextshark. Online. Published 19 MAR 2019. Access 8 JUL 2019. <https://nextshark.com/mulan-original-disneys-movie/>


ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 11 มกราคม 2563