“กิเลน” สัตว์ในเทพนิยายปรัมปราของจีน สู่การถ่ายทอดบนจอภาพยนตร์ของฮอลลีวูด

ภาพวาด ราชินีแห่งตะวันตกขี่คิริน โดย Kanō Kyūseki สมัยเอโดะ ต้นศตวรรษที่ 18

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องเริ่มนำวัฒนธรรมของจีนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเพิ่มมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนจากภาพยนตร์เรื่อง Shang-Chi and The Legend of The Ten Rings และเรื่อง Fantastic Beasts : The Secrets of Dumbledore โดยนำ “กิเลน” สัตว์ในตำนานของจีนมาโลดแล่นบนจอเงิน

ใน Shang-Chi แม้กิเลนจะถูกนำมาใช้เป็นเพียงสัตว์ประกอบฉาก ปรากฏตัวให้เห็นเพียงไม่กี่วินาที แต่โครงเรื่องหลักของภาพยนตร์ก็มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมจีนอยู่มาก ขณะที่ Fantastic Beasts นั้น นำกิเลนมาเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของเรื่อง มันถูกนำมาถ่ายทอดถึงความบริสุทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นสัตว์ชั้นสูง คล้ายกับ “ยูนิคอร์น” ตามคติความเชื่อของชาวตะวันตกนั่นเอง

กิเลนเป็นสัตว์ 1 ใน 4 ชนิด ในเทพนิยายปรัมปราของจีน (อีก 3 ชนิดคือ มังกร หงส์ และเต่า) กิเลนมีหัวเป็นมังกร ลำตัวเหมือนกวาง เท้ามีกีบเหมือนม้า มีห้าเล็บ มีขนที่ขา หางเป็นพวงเหมือนวัว มีเขาอ่อน และมีเกล็ดเหมือนปลา แต่เนื่องด้วยเป็นสัตว์ในจินตนาการ กิเลนจึงมีคำอธิบายรูปร่างแตกต่างกันไป บ้างว่ามีหัวเป็นหมาป่า บ้างว่ามีเขาเดียว สองเขาบ้าง สามเขาบ้าง

คำว่า “กิเลน” นี้เป็นคำจีนฮกเกี้ยนที่ออกเสียงว่า “จีหลิน” หรือ “กีหลิน” ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง “ไคเภ็ก” ซึ่งแปลโดยทับศัพท์คำจีนเป็นจีนฮกเกี้ยนและเรียก กิเลน ว่า กิหลิน ส่วนจีนกลางออกเสียงว่า “ฉีหลิน” (Qilin)

แต่เดิมจะเรียกตัวผู้ว่า “กี” เรียกตัวเมียว่า “เลน” ตัวผู้จะมีเขา ตัวเมียไม่มีเขา แต่ภายหลังเรียกรวมกันว่ากีเลนหรือกิเลน

ตามความเชื่อของคนจีน กิเลนเป็นสัตว์ที่มีความมงคลในหลายด้าน แต่ที่ชัดเจนด้านหนึ่งคือ มงคลที่เกี่ยวกับเด็ก โดยชาวจีนเชื่อว่ากิเลนเป็นสัญลักษณ์ของการมีลูกหลานมากมาย และเชื่อว่ากิเลนจะนำสิ่งดี ๆ หรืออนาคตที่สดใสมาให้แก่บุตรหลานของตน ด้วยเหตุนี้จึงมักเห็นภาพวาดเด็กขี่กิเลน

ภาพอวยพรวันปีใหม่ สังเกตเด็กขี่กิเลน (ภาพวาดศตวรรษที่ 20)

ส่วนไทยนั้นเมื่อรับเอากิเลนมาอยู่ในความเชื่อในวัฒนธรรมของตน ก็เขียนภาพกิเลนออกมาเป็นแบบไทย บางภาพตัวกิเลนยังมีปีกอีกด้วย ในวัฒนธรรมไทยที่ปรากฏเห็นกิเลนได้ชัดเจนคือ “ม้านิลมังกร” ในเรื่อง “พระอภัยมณี” ซึ่งว่ากันโดยรูปร่างหน้าตาแล้ว สุนทรภู่คงได้เค้าและแรงบันดาลใจมาจากกิเลนนั่นเอง

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าความเชื่อเรื่องกิเลนมีมาเนิ่นนานเพียงใด แต่พอประมาณได้ว่ายาวนานหลายพันปี เพราะเท่าที่มีหลักฐานคือ กิเลนที่ปรากฏอยู่ในประวัติของขงจื้อ ปราชญ์ผู้เลื่องชื่อของจีนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธกาล

เรื่องดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ขงจื้อกำลังเดินทางไปยังรัฐจิ้น แล้วได้ข่าวว่าเจ้าแห่งรัฐจิ้นได้สั่งประหารชีวิตนักปราชญ์ไปสองท่าน ขงจื้อจึงรำพันขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเหลืองว่า “สายน้ำเอย มาตรแม้นเจ้าจะงดงามสักเพียงใด ข้าก็มิคิดที่จะฝ่าข้ามไป ด้วยนี่คือชะตาชีวิต”

เมื่อศิษย์ถามถึงความหมายของคำรำพันนั้น ขงจื้อจึงกล่าวว่าจำเดิมนักปราชญ์ทั้งสองท่านนั้นเป็นที่ปรึกษาของเจ้าแห่งรัฐจิ้นแต่ครั้งยังไม่ประสบผลสำเร็จทางการเมือง ครั้นพอบรรลุความสำเร็จแล้วก็ฆ่าทิ้งเสีย กล่าวถึงตรงนี้ ขงจื้อจึงขยายความเชิงเปรียบเปรยต่อไปว่า

แม้นมีผู้ทำร้ายสัตว์เล็กในป่าดง กิเลนจะไม่ปรากฏตัวให้เห็น แม้นมีผู้ทำร้ายเหล่ามัจฉาในน้ำจนหมดสิ้น พญามังกรก็ไม่บันดาลให้ฝนตก แม้นมีผู้ทำร้ายรังแลไข่สกุณา พญาหงส์ก็ไม่โบยบินมาให้เห็น เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้? ที่เป็นเช่นนี้เนื่องเพราะสัตว์ทั้งปวงนี้เป็นปาณชีพชาติเดียวกัน เมื่อความพินาศเกิดขึ้นดังนั้น ก็ย่อมบังเกิดความรันทดใจ ในเมื่อเหล่าสัตว์เดรัจฉานยังเป็นเช่นนี้ ไฉนเลยข้าจะไม่สะเทือนใจที่เขาได้ฆ่านักปราชญ์เล่า?

ขงจื้อเห็นว่าชีวิตของนักปราชญ์อาจมีค่าเฉพาะแค่เวลาที่นักการเมืองกำลังแสวงหาอำนาจเท่านั้น และเมื่อประสบผลสำเร็จแล้ว สำหรับนักการเมืองเหล่านั้น ความคิดของนักปราชญ์ไม่เพียงจะไร้ค่า หากแม้นแต่ชีวิตก็ยังไร้ค่าด้วย นี่เป็นลักษณะที่เนรคุณและไร้วิสัยทัศน์ของนักการเมือง และต่อไปจะทำให้บ้านเมืองล่มจมได้ เนื่องด้วยได้ฆ่าสิ่งประเสริฐไปเสียแล้ว และต่อไปก็จะไม่มีสิ่งประเสริฐมาปรากฏตัวให้เห็น หรือช่วยเหลือเกื้อกูลนักการเมืองอีก

จากตำนานของขงจื้อเรื่องนี้จึงสะท้อนว่าความเชื่อเรื่องกิเลนในจีนน่าจะมีมาแล้วไม่น้อยกว่า 2,000 ปี

กิเลน บนป้ายยศผู้ช่วยทูต สมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย ราวศตวรรษที่ 19

สำหรับวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดแล้ว การนำวัฒนธรรมของจีนมาใช้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเนื้อเรื่องหรือบทภาพยนตร์อย่างเดียว แต่เป็นแผนการเพื่อดึงดูดผู้ชมชาวจีน ดึงดูดตลาดภาพยนตร์ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งทำรายได้ของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวูดหลายเรื่อง

Luo Luo นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากปักกิ่งกล่าวถึงกรณีการนำกิเลนมาใช้ในภาพยนตร์ Fantastic Beasts ว่า “นี่เป็นการเพิ่มรสชาติอันลึกลับซับซ้อนของวัฒนธรรมจีนให้กับภาพยนตร์ตะวันตก”

นอกจากกินเลนใน Fantastic Beasts แล้ว วัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น ศิลปะการต่อสู้ และอาหารจีน ฯลฯ ล้วนปรากฏในภาพยนตร์ตะวันตกมากมายหลายต่อหลายเรื่องแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้องค์ประกอบเหล่านั้นบางครั้งกลับไม่ได้รับการตอบรับในแง่ดีจากผู้ชมชาวจีน

บทวิจารณ์ภาพยนตร์ Fantastic Beasts จำนวนหนึ่งบน Douban หรือโต้วป้าน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของจีน ระบุว่าโครงเรื่องเกี่ยวกับนกฟีนิกซ์และกิเลนนั้นยังไม่ได้ถูกพัฒนาให้ดี หรือถ่ายทอดเสน่ห์ที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ออกมาได้

Luo Luo ยังกล่าวว่านี่เป็นปัญหาหนึ่งของภาพยนตร์ฮอลลีวูดและภาพยนตร์ตะวันตก “ปัจจุบัน องค์ประกอบทางวัฒนธรรมจีนจำนวนมากในภาพยนตร์ตะวันตกยังคงเป็นแค่เพียงผิวเผิน” และกล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมากขึ้น เธอเชื่อว่าองค์ประกอบทางวัฒนธรรมของจีนจะถูกนำไปใช้ใน “วิถีของจีน” มากขึ้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2548). คำจีนสยาม : กิเลน. มติชนสุดสัปดาห์, 4-10 พฤศจิกายน 2548.

Ji Yuqiao. (2022). Phoenix and Qilin: Chinese cultural elements add color to Western movies. Access 20 April 2022, from www.globaltimes.cn/page/202204/1259075.shtml


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2565