นกกระจอกกินน้ำคืออะไร เกี่ยวข้องกับนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ หรือเปล่า

นกระจอก
นกกระจอก

หากลองค้นหาคำว่า “นกกระจอกกินน้ำ” ในกูเกิล สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเกือบทั้งหมดกลับเป็นสำนวนคุ้นหูที่ว่า “นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ” ที่หมายถึงการกระทำที่รวดเร็วแบบที่ไม่ค่อยพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้ในเรื่องที่เกี่ยวเพศสัมพันธ์ แต่นอกจากมีคำที่คล้ายๆ กันแล้วทั้ง 2 วลีกลับไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด

ภาษิต จิตรภาษา อดีตนักเขียนอาวุโสของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เคยอธิบายเรื่อง “นกกระจอกกินน้ำ” ภูมิปัญญาไทยที่หายไปไว้ดังนี้

ในการปลูกบ้านสร้างเรือน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้บ้านเรือนนั้นตั้งตรง ดังเห็นได้ว่าเมื่อจะลงมือก่อสร้าง เขาจะเอาสายยางที่ใส่น้ำมาทำระดับ แล้วขีดเส้นตรงระดับน้ำไว้กับหลักทั้งสองข้าง แล้วขึงเชือกเพื่อทำระดับตามแนวนอน

อันสายยางหรือสายพลาสติกใสมองแลเห็นระดับน้ำนี้ เป็นเครื่องมือใหม่-เทคโนโลยีใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง ก่อนหน้านี้ขึ้นไป ก็ใช้ระดับน้ำสำเร็จที่บรรจุอยู่ในหลอดแก้วซึ่งฝังอยู่ในแท่งไม้ สมัยเมื่อผู้เขียนรุ่นๆ เคยหากินในทางก่อสร้างก็ได้ใช้เครื่องมืออันนี้ พูดให้ตรงก็คือ ผู้เขียนเกิดมาก็ได้เห็นช่างก่อสร้างเขาใช้เครื่องมืออันนี้ จับระดับกันอยู่แล้ว

แต่ว่าเครื่องมืออันนี้เป็นของทำมาจากเมืองฝรั่ง ฝรั่งทำมาขาย ทำมาให้เราใช้ แล้วก่อนหน้านี้ล่ะ ก่อนหน้าที่ไม้ระดับน้ำของฝรั่งจะเข้ามาจำหน่ายนี่น่ะ เราใช้อะไรทำระดับกัน หรือว่าเราเพิ่งรู้จักสร้างบ้านเรือนกันในตอนหลังนี้เอง

ผมตั้งปัญหาถามตัวเองมาตลอดเวลาว่า “แต่ก่อนเขาใช้อะไรกัน” ไปไหนก็เที่ยวได้ถามเขา เห็นเขาปลูกบ้านสร้างเรือนที่ไหนก็เข้าไปถามเขา ส่วนมากก็ได้ความว่าใช้ไม้ระดับของฝรั่ง มีบ้างเหมือนกันเป็นช่างที่อยุธยา บอกว่าใช้ “รางนกกระจอก” แต่ก็อธิบายไม่ได้ว่า เป็นอย่างไร ใช้อย่างไร

จนมาเมื่อต้นปีนี้ผมได้ไปเจอเข้าที่จังหวัดพิษณุโลก-ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของ จ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ท่านเรียกอีกอย่าง คือเรียก “นกกระจอกกินน้ำ” พร้อมกับสาธิตให้ดูย่อๆ

ที่ผมจะอธิบายต่อไปนี้ เป็นการขยายความที่ได้ข้อมูลเบื้องต้น มาจากท่านศาสตราจารย์ทวี บูรณเขตต์ ทั้งสิ้น : –

ตัวนกกระจอก 2 ตัว ทำด้วยไม้ไผ่ ตัดไม้ไผ่ด้านหาง (ตรงกลางปล้อง) ให้เท่ากัน ส่วนด้านหัวตัดให้เลยขอไปนิดหนึ่ง การตัดตรงนี้ ต้องพิจารณาว่าข้อมันปุ่ม-โค้งไปทางไหน แล้วตัดด้านปุ่มนั้นเป็นหัว เพื่ออาศัยความโค้ง ซุ้มของข้อนี้เป็นปากนกกระจอก แล้วผ่าไม้กระบอกออกเป็นซีก เป็นเสี้ยว แล้วแบ่งเสี้ยวนั้นให้เป็นครึ่ง แล้วเอาครึ่งของเสี้ยวนั้นแหละ ผ่าออกอีกให้เป็น 2 (คะเนดูให้ได้ความใหญ่ประมาณครึ่งนิ้วฟุต) เจ้า 2 อันนี้แหละครับ เป็นตัวนกกระจอก ต้องเอาคู่ของมันที่ผ่าออกจากกันนี่แหละ อย่าเอาอันอื่นมาผสมเป็นอันขาด

เคล็ดสำคัญของเทคนิคนี้อยู่ที่เทคโนโลยีอันนี้แหละครับ ตรงไม้ที่ตัดหางไว้เท่ากัน และผ่าออกจากกันนี่เอง หากไปเอาไม้จากท่อนอื่นมาผสม ถึงแม้จะวัดข้อตัดหางให้เท่ากันก็จะใช้มิได้เลย เพราะความปุ่มความโค้งของไม้ไผ่นั้น แม้ไม้ในลำเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน แล้วจะทำระดับให้ตรงได้อย่างไร

นกกระจอกกินน้ำ เครื่องมือจับระดับสมัยโบราณ (ภาพจาก อนุสรณ์งานฌาปนกิจคุณพ่อสันต์ จิตรภาษา)

วิธีทำระดับคือ ขึงเชือกเข้ากับหลัก 2 ข้าง แล้วเอาไม้ไผ่ที่เป็นตัวนกกระจอก 2 ตัว แขวนตรงกึ่งกลางของเชือกให้ห่างกัน (เท่าที่จะห่างได้ภายในขอบของภาชนะ), แล้วเอาขันน้ำหรืออ่างน้ำเข้ามารอง, ดูให้หางนกกระจอกจดน้ำเท่ากัน ถ้าตัวหนึ่งหางถึงน้ำอีกตัวหนึ่งเขย่ง ก็ค่อยๆ เลื่อนเชือกด้านที่เขย่งลงให้หางนกกระจอกจดน้ำเท่ากันก็เป็นอันได้ระดับที่ตรงเป๊ะ

เทคนิคนี้ บางทีในสมัยก่อน-ก่อน อาจใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 4-5 ปล้อง ผ่าซีกแล้วเจาะข้อตรงกลางออกแล้วใส่น้ำเอาไปรองหางนกกระจอกตามความยาว (เพราะแต่ก่อนนี้ยังไม่มีภาชนะอะลูมิเนียม และพลาสติกเช่นปัจจุบัน, แม้ภาชนะตักน้ำกินก็ยังใช้กระบวย, อ่างดินเผาอาจมีแล้วแต่ก็เป็นของหนักและแตกง่าย พาไป-มาไม่สะดวก) จึงเรียก “รางนกกระจอก”

จะเห็นว่าโบราณเราท่านรู้จักใช้เทคนิคน้ำเป็นเครื่องจับระดับมานานแล้ว ปัจจุบันแม้โลกจะเจริญขึ้นอย่างไรก็ยังต้องใช้น้ำอยู่ (เพราะน้ำย่อมรักษาระดับที่ตรงอยู่เสมอ ไม่ว่าพื้นที่ภาชนะจะเอียง-เท อย่างไร) เปลี่ยนแต่เทคโนโลยีมาเป็นระดับสำเร็จ (ไม้ระดับน้ำ) และสายยางพลาสติกเท่านั้น แต่โบราณท่านไม่มีกระจก (ที่ใช้ขังน้ำไว้ในไม้ระดับ) และสายยาง ท่านก็ใช้วัสดุที่หาง่าย, ใกล้บ้าน, เป็นเครื่องมือ และนี่แหละ คือภูมิปัญญาไทยที่หายไป

อย่านะครับ อย่าได้อวดฉลาดคิดหาวัสดุใหม่ๆ เป็นต้นว่าลวด มาดัดมางอเป็นตัวนกกระจอกเข้าทีเดียว เพราะจะใช้ไม่ได้, วัสดุเหล่านั้นมันหนัก เมื่อแขวนกับเชือกแล้วมันจะถ่วงเชือกหย่อน, แล้วจะได้ระดับที่ตรงอย่างไร ไม้ไผ่นี้เป็นไม้ไผ่ที่แห้ง มีน้ำหนักเบามาก แขวนบนเชือกที่ขึงตึงจะไม่ถ่วงให้หย่อนเลย

วัฒนธรรมทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนไปหาความสะดวก เป็นเรื่องที่ฝืนไม่ได้

แต่ในการก่อสร้างนี่มันเปลี่ยนไปไวเหลือเกิน, ไวจนคนอย่างผมซึ่งอยู่ในวงการก่อสร้างมาซึ่งนับมาถึงบัดนี้ก็ไม่ต่ำกว่า 50 ปี ยังไม่ทันได้เห็นได้ใช้. ดีแต่ที่มีคนอย่างจ่าสิบเอกทวี บูรณเขตต์ ได้ทันได้เห็นได้ทรงจำเอาไว้ได้ มิเช่นนั้นคนไทยเราจะไม่อาจรู้ได้เลยว่า คนไทยเรามีเทคนิคอันนี้อยู่ ใครจะเรียกไม่เรียกก็ช่างเถอะ แต่ผมขอเรียกของผมว่า ท่านศาสตราจารย์, ศาสตราจารย์ทวี บูรณเขตต์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ คุณพ่อสันต์ จิตรภาษา 26 มกราคม 2554 ซึ่งรวบรวมบทความของ ภาษิต จิตรภาษา (พ.ศ. 2472-2554) นามปากกาของ สันต์ จิตรภาษา ที่เคยเขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และที่อื่นๆ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2565