“ดาวเรือง” ที่ไม่ใช่ดอกไม้ แต่เป็น “เสาไม้” อาถรรพณ์ !?!

เสาดาวเรือง ที่ วัดใหญ่สุวรรณาราม ดอก ดาวเรือง
(ซ้าย) เสาดาวเรือง ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม (ขวา) ดอกดาวเรือง

“ดาวเรือง” ที่ไม่ใช่ดอกไม้ แต่เป็น “เสาไม้” อาถรรพณ์ !?! เรียกกันว่า เสาดาวเรือง

กว่าสามสิบปีมาแล้ว ผมเคยฟังคำบรรยายเรื่องคติไทย ของคุณพระยาอนุมานราชธน ยังจำได้ตอนหนึ่งเป็นใจความว่าคติหรือแม้ข้อห้ามของคนไทยแต่ก่อนนั้น ใช่ว่าจะไร้เหตุผลเสียทีเดียว หากศึกษาคิดค้นพิจารณาให้ถ่องแท้จริงก็ได้ และท่านได้ยกตัวอย่างการเลือกเสาปลูกเรือน ว่าโบราณท่านห้ามเสามีตา ตรงตำแหน่ง เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลักรอด และ หมูสี

ท่านอธิบายสืบไปว่า ตาไม้นี้เนื้อไม้มักจะย้อน เมื่อถากเกลาให้ได้รูป อาจกะเทาะหลุดเป็นตำหนิ และอาจกลายเป็นที่อยู่ของแมลง มด ปลวก ก็ได้ หากเป็ดไซ้ ไก่จิกกินแมลง จะทำให้รอบลึกและขยายออกไป และหากหมูมาสีตัวเข้าด้วย สิ่งโสโครกจะมาติดและอุดรอยตา ทำให้ชื้นและผุไปในที่สุด การถือเป็นข้อห้ามจึงเสมือนช่วยกันไว้ก่อน

Advertisement

ส่วนตรงรอยสลักรอดนั้นต้องเจาะเนื้อไม้ส่วนหนึ่งออกไป หากเป็นตาตรงตำแหน่งนั้นเนื้อไม้จะย้อน ทำให้เสาขาดความแข็งแรง ถูกลมพัดหรือกระแทกกระทั้นก็อาจเดาะหรือหักโค่นได้ง่าย โบราณจึงห้ามกันไว้เช่นเดียวกัน

ผมเองสนใจเรื่องไทยๆ อยู่แล้ว จึงจำติดใจมาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ชักจะชอบตรึกตรองหาความรู้จากชาวบ้านตามที่เคยถือเป็นคติว่า “อยากได้ความรู้ให้เข้าสู่ชาวบ้าน อยากได้ปริญญาให้ไปมหาวิทยาลัย”

นอกจากไปสู่ชาวบ้านแล้วยังได้ลองปลูกบ้านแบบไทยๆ เข้าอีก จึงทำให้ได้รู้จักตัวไม้ รู้จักเครื่องมือช่าง รู้จักวิธีการของช่าง ซึ่งมีค่อนข้างมากและเป็นพิเศษในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในทางความหมายของถ้อยคำแล้ว ได้รู้อย่างซึมซาบชนิดที่ไม่มีในตำราหรือพจนานุกรมเล่มใดๆ

ตอนช่างว่างหรือเป็นเวลาพัก ผมถือโอกาสคุยกับช่าง ถามความหมายของถ้อยคำ คำเรียกเครื่องมือ เพื่อตรวจสอบและตรึกตรองตามประสาอยู่ไม่สุข จึงได้ทราบคำศัพท์ต่างๆ เช่น เจียด, บัว, ปากกบ ปากกริว, สิ่วน่อง ฯลฯ ช่วยให้ได้ความหมายที่แม่นยำยิ่งขึ้น

เมื่อพูดกันถึงเสา ผมลองถามถึงตำแหน่งตาที่ เป็ดไซ้ ไกตอด สลักรอด และหมูสี ด้วยอยากรู้ว่าอยู่ที่ตำแหน่งไหนแน่ เพราะตอนฟังคำบรรยายของท่านเจ้าคุณอนุมานฯ ก็ไม่ได้ถามไว้ (เวลานั้นไม่ได้คิดสงสัย) ได้ความรู้ใหม่ดังนี้

ตำแหน่งเป็ดไซ้ คือตำแหน่งระดับพื้นดิน, ตำแหน่งไก่ตอด คือตำแหน่งสูงจากพื้นดิน 1 คืบ, ตำแหน่งหมูสี คือตำแหน่งสูงจากพื้นดิน 1 ศอก

คนโบราณท่านนั้นท่านใช้ใต้ถุนเป็นที่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ และเลี้ยงหมู พึงทราบด้วยว่า เป็ด, ไก่, หมู นั้นก็เป็นพันธุ์ไทยตัวเล็กกว่า เป็ด, ไก่, หมู บัดนี้ทั้งสิ้น การวัดความยาว เขาก็วัดเป็นนิ้ว เป็นศอก เป็นวา โดยเฉพาะตัวไม้นั้นหากพูดเป็นเมตรเป็นเซนต์แล้ว ช่างพื้นบ้านเพชรบุรีเขาไม่รู้จัก การเรียนระบบชั่ง ตวง วัด ในโรงเรียนนั้น เป็นการล้างความคิดรวบยอดอย่างไทย

ช่างบอกว่า เสาซึ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาดนั้น คือ เสาดาวเรือง ส่วนข้อห้ามอย่างอื่น เขามีวิธีแก้ไขโดยการขุดส่วนตาไม้ออก แล้วอุดตามกรรมวิธีทางช่าง ซึ่งเป็นตำราอยู่ต่างหาก (ผมยังไม่พบตำรา)

เสาดังกล่าวคือเสาที่มีตาพราวไปหมดทั้งต้น เป็นเสาที่มีอาถรรพณ์ ดังมีตัวอย่างอยู่ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เสาต้นนี้ แต่เดิมว่าผู้มีอันจะกินทางอำเภอบ้านแหลมได้นำมาทำยุ้งเกลือ หลังจากนั้นก็เกิดความวิบัติต่างๆ จนคนในครอบครัวถึงแก่กรรมไปในระยะไล่เลี่ยกันจนหมดทั้งบ้าน เมื่อมีคนพูดกันมากว่าเป็นอาถรรพณ์ของเสา ญาติๆ จึงบอกถวายวัดใหญ่สุวรรณารามในสมัยหลวงพ่อแดะเป็นเจ้าอาวาส

เสาดาวเรือง ที่วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี

ในวันที่ไปรื้อยุ้งเพื่อขนมาวัดนั้น พระลูกวัดองค์หนึ่งไปสะดุดตาเสาต้นนี้เข้าเป็นแผลเล็กน้อย แต่ต่อมาได้อักเสบบวมเป็นบาดทะยัก รักษาไม่หายก็ถึงแก่มรณกรรม

เมื่อนำเสาต้นนี้มาปลูกกุฏิ หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็ป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมา และมีเสียงเล่าลือว่า มักมีผู้ได้ยินเสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นมาจากเสาต้นนี้เป็นประจำ เมื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสมรณะลง ญาติโยมจึงได้รื้อกุฏิเสีย และนำเสามาปักแสดงไว้ตรงหอระฆังใกล้ศาลาการเปรียญ

เรื่องเสาดาวเรืองยังไม่จบ เมื่อ 2-3 วันมานี้ ผมได้ไปคุยกับคุณตวง จิตพะวงษ์ ที่วัดเพชรพลี คุณตวงยกตำราดูเสาเรือนมาให้ดู มีคำอธิบายดังนี้ “เสาใดมีตาเล็กเป็นนมหนูทั่วลำเสาชื่อว่าดาวเรืองดีนักแล”

เป็นอย่างนั้นไป ก็เห็นจะต้องไปเยี่ยมเสาดาวเรืองที่วัดใหญ่อีกครั้ง จะได้ถามให้แน่ว่าตาเธอเป็นนมหนู หรือนมใครกันแน่ ได้ผลอย่างไร แล้วจะเล่าให้ฟัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562