ผู้เขียน | จักรมนตรี ชนะพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลักบือบ้าน มีชื่อเรียกเฉพาะท้องถิ่นอีสานหลายชื่อ เช่น หลักบ้าน หลักธรรม หลักกลางบ้าน ฯลฯ บือบ้าน คำนี้มาจาก สายบือ (สะดือ) หมายถึง บริเวณกึ่งกลางของหมู่บ้าน ธรรมเนียมการฝังหลักบ้านที่เรียกกันว่า “บือบ้าน” มีคติความเชื่อเดียวกันกับการฝังหลักเมืองคือการสร้างสัญลักษณ์อันเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของผีผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อให้ปกป้องคุ้มครองคนในบ้านเมือง
หลักบือบ้าน นิยมทำด้วยไม้มงคล ประเภท ไม้พะยูง ไม้คูณ (ต้นราชพฤกษ์) ไม้ยอป่า ไม้มะขามแก่น ฯลฯ มีความสูงประมาณ 1.5 – 3 เมตรทำเป็นรูปคล้ายดอกบัวหรือรูปสี่เหลี่ยมตามเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น
ช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน ของทุกปี ชาวอีสานจะมีการจัดประเพณีบุญซำฮะ (ชำระ) หรือ บุญเบิกบ้าน เป็นประเพณีบุญเดือนเจ็ดในฮีตสิบสอง (ฮีตสิบสองคือประเพณีบุญสิบสองเดือนของภาคอีสาน) เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเพื่อความสงบสุขแก่ชุมชน สถานที่ทำบุญจัดขึ้นบริเวณหลักบ้าน งานบุญจัด 2 วัน คือ มื้อโฮม (วันรวม) ตอนเย็นชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
ส่วน มื้องัน (วันงาน) ตอนเช้าชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ ในแต่ละครัวเรือนจะทำ “ทงหน้าวัว” ซึ่งภายในทงจะใส่อาหารคาวหวาน และทำหุ่นรูปคนสองคนใส่ไว้ในกระทงด้วย เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกทุกคนในครัวเรือน และนำน้ำสะอาดใส่ถังมาร่วมในพิธีเพื่อให้พระสงฆ์สวดมนต์ เสร็จแล้วนำทงหน้าวัวไปวางไว้ตามทาง ‘สามแพร่งหรือสี่แพร่ง’ บริเวณนอกหมู่บ้าน
ส่วนน้ำมนต์จะนำมาประพรมตามบ้านเรือนและให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควายกิน โดยเชื่อว่าจะทำไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้แล้วพระสงฆ์จะนำหินกรวดและทรายที่ผ่านพิธีเจริญพระพุทธมนต์แล้ว ไปหว่านใส่หลังคาบ้านเรือนทุกหลังในหมู่บ้าน เพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่เป็นมงคลให้ออกไปจากบ้านเรือน ถือเป็นเสร็จพิธีในการทำบุญซำฮะหรือบุญเบิกบ้านประจำปี
ความสำคัญของหลักบือบ้านนั้นไม่ใช่แต่เป็นเพียงเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจของชาวบ้านหากแต่เป็นการสร้างสัญลักษณ์เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในหมู่บ้านเมื่อจะเดินทางไปที่ใดก็ต้องมากราบลาเพื่อขอพรอันเป็นการเสริมกำลังใจ หลักบือบ้านจึงเป็นมากกว่าหลักแก่นของหมู่บ้าน ที่เป็นการสร้างกุศโลบายเพื่อสร้างความสงบสุขมาสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
ประเพณีอีสาน ฉบับ ส.ธรรมภักดี. ม.ป.ท. : ม.ป.พ. , ม.ป.ป.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, 2542.
วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2560